หน้าแรก Vendors Cisco 7 ใบเซอร์ไอทีด้านอินฟราฯ ที่เพิ่มมูลค่าในตลาดแรงงานมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

7 ใบเซอร์ไอทีด้านอินฟราฯ ที่เพิ่มมูลค่าในตลาดแรงงานมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แบ่งปัน

ชาวไอทีทั้งหลายแม้จะชอบไล่สอบใบเซอร์ต่างๆ มากมาย แต่ด้วยงบที่มีจำกัดก็ต้องมานั่งเลือกว่าใบเซอร์ใดของค่ายไหนที่คุ้มค่าสอบและเวลาที่เสียไปในการอ่านหนังสือมากที่สุด

ทาง Foote Partners จึงออกรายงานสำรวจความต้องการด้านทักษะไอทีและแนวโน้มการจ่ายค่าจ้างประจำปี 2561 ที่พบว่านายจ้างในโซนอเมริกาเหนือให้มูลค่าของใบเซอร์อย่างน้อย 1 ใบคิดเป็น 7.6% ของฐานเงินเดือน โดยที่มีใบเซอร์กว่า 446 รายการที่มีมูลค่าด้านค่าจ้างในตลาดในที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 0.3% ในช่วงไตรมาสแรกของปี

แต่มีใบเซอร์ส่วนหนึ่งที่พบว่ามีมูลค่าสูงขึ้นกว่า 10% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นใบประกาศรับรองด้านโครงสร้างพื้นฐานไอที และมีข้อสังเกตว่า ไม่ใช่ใบเซอร์ดาวรุ่งดังกล่าวจะเป็นการรับประกันว่าจะยังรุ่งเรืองอย่างต่อเนื่อง หรือรุ่งริ่งในภายหลัง

ทั้งนี้มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องที่ทำให้ใบเซอร์บางสาขาเป็นที่นิยมอย่างผิดปกติในช่วงนี้ เช่น ทักษะที่กำลังขาดแคลนในช่วงนี้, เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างบล็อกเชน, IoT, AI, ระบบออโต้เมชั่น, การวิเคราะห์ข้อมูล, และเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ทันสมัย เป็นต้น ในบางทักษะนั้นก็อาจยังไม่มีผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์รายใดจัดทำใบประกาศรับรองให้สอบได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดี ทาง Foote Partners มองว่าใบเซอร์ด้านเครือข่ายและการสื่อสาร รวมทั้งด้านการบริหารระบบกำลังได้รับความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งลิสต์รายการใบเซอร์ที่น่าสนใจลงทุนสอบเรียงตามตัวอักษรดังนี้

1. Cisco Certified Design Expert (CCDE)

ค่าสอบข้อเขียน 450 ดอลลาร์สหรัฐฯ และค่าสอบปฏิบัติอีก 1600 ดอลลาร์ฯ ไม่จำเป็นต้องสอบอะไรผ่านมาก่อน แต่บังคับต้องผ่านทั้งข้อเขียนและสอบปฏิบัติ โดยซิสโก้ให้นิยามว่าเป็นใบประกาศรับรองสำหรับวิศวกรผู้ออกแบบเครือข่ายระดับผู้เชี่ยวชาญ หรือหัวหน้าทีมด้านเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานไอที หรือหัวหน้าทีมสถาปัตยกรรมที่ต้องคอยตีความด้านความต้องการทางธุรกิจ, งบประมาณ, และอุปสรรคในการปฏิบัติงาน เพื่อออกแบบโซลูชั่นแบบคอนเวอร์เจนต์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

2. Cisco Certified Network Associate (CCNA)

ค่าสอบทีเดียวทั้งชุด 325 ดอลลาร์ฯ หรือจะแบ่งสอบแยกเป็นพาร์ท 2 พาร์ท ค่าสอบพาร์ทละ 165 ดอลลาร์ฯ ปัจจุบันมีการแยกประเภทหลากหลายมากไม่ว่าจะเป็นด้านเราท์ติ้งสวิตชิ่ง, ด้านปฏิบัติการทางไซเบอร์, เครือข่ายไร้สาย, คลาวด์, ดาต้าเซ็นเตอร์, ความปลอดภัย, ระบบคอลลาบอเรต, ระบบในอุตสาหกรรม, และด้านผู้ให้บริการ ซึ่งแต่ละสาขาจะมีข้อกำหนดและค่าใช้จ่ายต่างกันเล็กน้อย

3. CompTIA Server+

ค่าสอบ 302 ดอลลาร์ฯ จัดเป็นใบเซอร์ที่เป็นอิสระไม่ขึ้นกับผู้จำหน่ายยี่ห้อใด เกี่ยวข้องกับเรื่องเวอร์ช่วลไลเซชั่น, สตอเรจ, ความปลอดภัย, และการแก้ไขปัญหาทั้งบนคลาวด์ และดาต้าเซ็นเตอร์ที่ตั้งอยู่ภายในองค์กร แต่ก่อนหน้าจะสอบนั้นจำเป็นต้องมีประสบการณ์ด้านไอทีอย่างน้อย 18 – 24 เดือน และผู้สอบส่วนใหญ่มักผ่านการสอบ CompTIA A+มาแล้ว ส่วนใบประกาศที่ได้นั้นมีอายุตลอดชีพ

4. Dell EMC Storage Administrator

ค่าสอบ 200 ดอลลาร์ฯ สำหรับระดับเบื้องต้น ส่วนระดับสูงขึ้นไปมีค่าสอบแตกต่างกันไปโดยระดับเบื้องต้นให้เวลาสอบ 90 นาทีสำหรับ 60 คำถาม โดยต้องได้คะแนนมากกว่า 61 ขึ้นไป โครงสร้างคำถามประกอบด้วยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานดาต้าเซ็นเตอร์ 15%, ด้านระบบสตอเรจ 29%, ด้านเทคโนโลยีเครือข่ายสำหรับสตอเรจ 20%, ด้านระบบสำรองข้อมูล 23%, และการจัดการและรักษาความปลอดภัยของสำเนาข้อมูล 13%

5. HP Accredited Integration Specialist (AIS)

เป็นใบเซอร์ที่อยู่ดีๆ ความต้องการในตลาดก็พุ่งสูงอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ซึ่งทาง HP จัดการสอบภายใต้แบรนด์ HPE เท่านั้น แม้จะมีองค์กรอื่นๆ จัดสอบใบเซอร์ชื่อ AIS เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้มีการรับรองหรือขึ้นบนเว็บของ HP/HPE อย่างเป็นทางการ

6. Juniper Networks Certification Program (JCNP)

ค่าสอบ 400 ดอลลาร์ฯ สำหรับระดับมืออาชีพ และ 1,400 ดอลลาร์ฯ สำหรับระดับผู้เชี่ยวชาญต้องผ่านการสอบระดับ Associate และ Specialist มาก่อน ข้อสอบให้เวลา 2 ชั่วโมง เป็นแบบตัวเลือก 65 ข้อ ส่วนระดับ Expert นั้นจำเป็นต้องสอบปฏิบัติจริงด้วย

7. NetApp Certified Data Administrator, ONTAP

ค่าสอบ 150 ดอลลาร์ฯ ซึ่งมีทางเลือกในการสอบ 1 ใน 2 วิชาอันได้แก่ NetApp Certified Data Administrator, ONTAP (NSO-159) หรือ NetApp Certified 7-Mode Data Administrator (NSO-155)ซึ่งตัว NSO-159 นั้นใช้เวลาสอบ 90 นาที ต้องตอบถูก 38 ข้อจากทั้งหมด 60 ข้อ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและฟีเจอร์หลักของ ONTAP รวมทั้งเรื่องของ High Availability, โปรโตคอลไคลเอนต์แบบ Front-End, ด้านเครือข่าย, ด้านการจัดสรรทรัพยากรสตอเรจ, ด้านประสิทธิภาพ, ความปลอดภัยและการสอดคล้องตามข้อกำหนด รวมทั้งด้านการปกป้องข้อมูล ขณะที่ NSO-155 ใช้เวลา 90 นาที มีคำถาม 60 ข้อ ต้องตอบถูกมากกว่า 48 ข้อ เกี่ยวข้องกับเรื่อง SAN เบื้องต้น, FCP, iSCSI, CIFS, MP, NFS เป็นต้น

ที่มา : Networkcomputing