หน้าแรก Home feature วิธีการเลือกสาย Cable ให้เหมาะสำหรับระบบ Network ในองค์กร

วิธีการเลือกสาย Cable ให้เหมาะสำหรับระบบ Network ในองค์กร

แบ่งปัน
Image credit : pixabay.com

แน่นอนว่าเรื่องของสายเคเบิลถือเป็นส่วนหนึ่งของงานวิศวกรเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นสายงานไหนก็ตาม เราก็ควรจะต้องทราบเกี่ยวกับสายแต่ละชนิด, แบนด์วิธที่รองรับ, และรูปแบบการใช้งานที่เหมาะสมที่สุด และท่ามกลางเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมากนั้น โลกของสายเคเบิลยังคงมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ทาง NetworkComputing.com จึงออกมาเรียบเรียงรายละเอียดของสายเคเบิลที่พบการใช้งานมากที่สุดในองค์กร รวมทั้งชี้ให้เห็นว่าทำไมสายประเภทหนึ่งจึงเหมาะกับการใช้งานในบางกรณีมากกว่าสายชนิดอื่นๆ ดังต่อไปนี้

1.  สายทองแดง (Copper) เป็นสายที่นิยมใช้มากที่สุดในการสื่อสารด้วยโปรโตคอลระดับดาต้าลิงค์แบบอีเธอร์เน็ตภายในองค์กร ซึ่งสายทองแดงแบบอีเธอร์เน็ตหนึ่งสายนั้นประกอบด้วยลวดทองแดง 8 เส้น ที่บิดพันเกลียวแน่น ทำให้รักษาความเสถียรของสัญญาณได้ต่อเนื่องเต็มความยาวของสายเคเบิล โดยใช้หัวต่อมาตรฐาน RJ-45 หนึ่งเดียว ที่มีพอร์ตรองรับบนอุปกรณ์เครือข่ายมาตรฐานเกือบทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นการ์ดแลน, เราเตอร์, สวิตช์ เป็นต้น สายทองแดงพันเกลียวหรือ Twisted Pair นั้น มีทั้งแบบหุ้มฉนวน (Shielded; STP) และไม่หุ้มฉนวน (Unshielded; UTP) ซึ่งคุณมักเจอแบบหุ้มฉนวนหรือ STP ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้ารบกวน เช่น ในโรงงานที่มีเครื่องจักรขนาดใหญ่ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ปกติองค์กรก็จะนิยมใช้สาย UTP มากกว่าเพราะถูกกว่า, อ่อนยืดหยุ่นจัดการง่ายกว่า, และยังป้องกันสัญญาณรบกวนได้ประมาณนึงด้วยเหมือนกัน

สายทองแดงยังมีการจัดประเภทตามมาตรฐานต่างๆ ด้วย เช่น มาตรฐาน TIA/EIA-586 ที่กำหนดอัตราเร็วการส่งข้อมูล และระยะทางมากสุดที่สามารถลากได้โดยที่ยังส่งข้อมูลผ่านระบบอีเธอร์เน็ตได้อย่างเสถียร ซึ่งแบ่งเป็นสายแบบต่างๆ ได้แก่ Cat5, Cat5e, Cat6, และ Cat6A ซึ่งคุณจำเป็นต้องรู้แบบของสายเคเบิลในองค์กรก่อนที่จะทำการอัพเกรดระบบใดๆ เช่น สาย Cat5 ทำความเร็วได้สูงสุดแค่ 1GbE  เป็นต้น

2.  สายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) แตกต่างจากสายทองแดงตรงที่ใช้แสงยิงเพื่อส่งข้อมูล แทนการใช้สัญญาณทางไฟฟ้า ซึ่งทำให้สายไฟเบอร์สามารถลากได้ระยะทางไกลกว่ามาก และทนต่อการรบกวนของสนามแม่เหล็กมากกว่ากลายเท่า นอกจากนี้สายไฟเบอร์ยังมีขนาดเล็กกว่ามาก จึงมีประโยชน์อย่างยิ่งในการประหยัดเนื้อที่จัดเก็บ โดยเฉพาะกรณีที่คุณต้องมัดสายรวมกันมากมายภายในท่อสายบนเพดานหรือตามพื้น


สายไฟเบอร์มีอยู่สองประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ แบบมัลติโหมด (MMF) และซิงเกิลโหมด (SMF) ซึ่งมัลติโหมดก็เป็นการใช้ใยแก้วหลายเส้นมัดรวมกันในสายเคเบิลเส้นเดียวตามชื่อ ทำให้ยืดหยุ่นมากกว่าในการลากสาย รวมทั้งให้ความเสถียรของสัญญาณได้มากกว่าด้วย สำหรับ MMF ที่ใช้ในการสื่อสารแบบอีเธอร์เน็ตจะมีขนาดแกนกลางสองแบบคือ 50 และ 62.5 ไมครอน สาย MMF นี้นิยมใช้กับระยะทางใกล้ๆ เช่น อัพลิงค์ระหว่างสวิตช์ หรือสวิตช์กับเซิร์ฟเวอร์, สตอเรจ, หรือฮาร์ดแวร์อื่นๆ ที่สามารถใช้กับสายไฟเบอร์ได้

ขณะที่สายแบบซิงเกิลโหมดนั้นจะใช้สายใยแก้วเส้นเดี่ยว ซึ่งทำให้ส่งผ่านข้อมูลได้ระยะทางที่ไกลกว่า และความเร็วสูงกว่ามาก เนื่องจากเป็นการปรับองศาแสงให้เป็นแนวนอนแทบจะเป็นเส้นตรงเมื่อเทียบกับแบบ MMF ที่จะยิงแสงกระทบขอบสะท้อนไปมา

3.  สาย Twinaxial แม้ชื่อและลักษณะจะคล้ายสายโคแอกเซียลที่ใช้ลากสายเคเบิลเข้ากับทีวีตามบ้านก็ตาม แต่สาย Twinaxial หรือเรียกสั้นๆ ว่า ทวินแอ๊ก (Twinax) นี้ถือเป็นทางเลือกยอดนิยมมากในการลากการเชื่อมต่อสั้นมากๆ ภายในดาต้าเซ็นเตอร์ ที่ต้องการความเร็วในระดับ 10 และ 40 GbE

เนื่องจากความหน่วงที่ต่ำมาก และราคาก็ต่ำมากด้วยเช่นกัน สายทวินแอ๊กที่น่าจะพบบ่อยที่สุดจะเป็นพวกที่เรียกว่า Direct Attach Copper (DAC) ซึ่งจะมาพร้อมกับตัวทรานซีฟเวอร์ที่เชื่อมต่อเข้ากับพอร์ตแบบ SFP+ และ QSFP+ ได้ โดยสาย DAC ที่แบนด์วิธ 10GbE สามารถลากได้ยาว 30 ฟุต ส่วนสาย DAC แบบแพสซีฟที่มีแบนด์วิธ 40GbE เชื่อมต่อบนอินเทอร์เฟซแบบ QSDP+ นั้น ลากได้ระยะทาง 15 ฟุต

ที่มา : http://www.networkcomputing.com/networking/network-cabling-primer/351037129