หน้าแรก Networking & Wireless เมื่อต้องเอาระบบ AV มาวิ่งบนสายเน็ตเวิร์ก : เราจำเป็นต้องทดสอบอะไรบ้าง?

เมื่อต้องเอาระบบ AV มาวิ่งบนสายเน็ตเวิร์ก : เราจำเป็นต้องทดสอบอะไรบ้าง?

แบ่งปัน

ไม่ว่าจะเป็นระบบประชุมผ่านวิดีโอหรือป้ายโฆษณาดิจิทัลก็ตาม ก็คงเคยมีลูกค้าขอให้ติดตั้งระบบสายเคเบิลสำหรับรองรับระบบกระจายสัญญาณภาพและเสียง (Audio-Visual หรือ AV) กันมาบ้าง

ซึ่งในหลายรูปแบบการใช้งานก็มักใช้สายเคเบิลแบบบิดเกลียวคู่ ยิ่งมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาจนถึงปัจจุบัน ก็ทำให้สามารถส่งทั้งกระแสไฟฟ้าไปยังหน้าจอแสดงภาพพร้อมกับสัญญาณวิดีโอบนสายเคเบิลเส้นเดียวกันได้ ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่เราต้องติดตั้งและทดสอบระบบสายเคเบิลเพื่อใช้กับระบบ AV เหล่านี้ ก็จำเป็นต้องเข้าใจถึงแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดที่ทำให้มั่นใจได้ว่าลูกค้าจะได้การแสดงภาพที่สมบูรณ์แบบตามที่คาดหวังไว้

ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลไอพีหรือไม่ ก็ยังเป็นสายบิดเกลียวคู่

หนึ่งในโปรโตคอลที่พบบ่อยที่สุดสำหรับใช้กับ AV ก็คือ HDBaseT ที่ใช้ส่งต่อสัญญาณเสียงและภาพวิดีโอระดับ 4K แบบไม่บีบอัด รวมถึงข้อมูลอีเธอร์เน็ตแบบ 100BaseT, กระแสไฟฟ้า, และสัญญาณอื่นๆ ที่ใช้ควบคุมระบบที่ต่างวิ่งบนสายบิดเกลียวคู่เส้นเดียวกันนี้เป็นระยะทางได้ไกลถึง 100 เมตร ถึงแม้จะดูเหมือนระบบวิดีโอแบบไอพีก็ตาม สายเคเบิลและการเชื่อมต่อก็ดูเผินๆ เหมือนกันเลย แต่อย่าลืมว่าทั้งสองแบบใช้คนละโปรโตคอล สิ่งที่ต่างจากวิดีโอแบบไอพีที่วิ่งบนเครือข่ายข้อมูลที่อยู่บนแพ็กเก็ตอีเธอร์เน็ต บนเครือข่ายเดียวกันที่มีทั้งเราเตอร์และสวิตช์นั้นคือ HDBaseT ไม่ได้ใช้ลักษณะของแพ็กเก็ตข้อมูล และใช้ตัวสวิตช์และรีซีฟเวอร์แบบ HDBaseT Matrix ที่แยกออกจากเครือข่ายข้อมูลทั่วไปต่างหาก

มีมาตรฐานใหม่ที่เปิดตัวเมื่อ 2017 อย่าง Software Defined Video over Ethernet (SDVoE) ที่เข้ามาเขย่าวงการ AV ในฐานะระบบไอพีอย่างแท้จริงที่ใช้เครือข่ายที่มีสวิตช์และเราเตอร์แบบเดียวกันในการส่งต่อข้อมูลวิดีโอ 4K แบบไม่บีบอัด พร้อมเสียง สัญญาณคอนโทรล และอีเธอร์เน็ต 1 Gb/s (1000BASE-T) ที่ต่างจาก HDBaseT ตรงที่ SDVoE ใช้โครงสร้างแบบโมเดล OSI ครบทั้ง 7 เลเยอร์ โดยเฉพาะชุดโปรโตคอลที่โลกไอทีต่างใช้งานกันอย่างแพร่หลายในการส่งต่อข้อมูลอยู่แล้วอันได้แก่อีเธอร์เน็ตและ TCP/IP เป็นที่ยอมรับในด้านการประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย เนื่องจากการใช้เครือข่ายที่ใช้สวิตช์แบบทั่วไปมักราคาถูกกว่าครึ่งเมื่อพิจารณาต่อพอร์ต เมื่อเทียบกับสวิตช์วิดีโอเมทริกซ์ แถมยังใช้พื้นที่ในตู้ Rack น้อยกว่าเยอะ

ยังมีมาตรฐานที่ชื่อ Society of Motion Picture and Television Engineers (SMPTE) 2110 ที่กำหนดการส่งต่อสัญญาณวิดีโอความละเอียดสูง HD แบบไม่บีบอัดบนเครือข่ายไอพี ยังไม่พอ ทาง HDBaseT Alliance ก็เพิ่งเปิดตัว HDBaseT over IP ที่สามารถใช้สวิตช์บนเครือข่ายทั่วไปสำหรับส่งต่อสัญญาณในแคมปัสได้ แต่ก็ยังจำเป็นต้องใช้บริดจ์ HDBaseT-to-HDBaseT-IP และสวิตช์ HDBaseT-IP ที่จุดปลายเครือข่ายอยู่ดี

เนื่องจากทุกรูปแบบการใช้งาน AV ข้างต้นต่างก็วิ่งสัญญาณบนสายเคเบิลแบบเดียวกันสำหรับส่งต่อข้อมูล จึงสามารถติดตั้งโดยใช้แนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุดเหมือนกัน และใช้พารามิเตอร์ตรวจวัดประสิทธิภาพแบบเดียวกัน ดังนั้นถ้าใช้สายเคเบิล Category 6A ในการติดตั้งไม่ว่ากับ HDBaseT, SDVoE, หรือ AV ที่วิ่งบนไอพีอื่นๆ แล้ว ก็ต้องตรวจเทียบมาตรฐาน TIA Category 6A เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะถ้าคุณต้องการจะให้ได้การรับประกันจากผู้ผลิต

การส่งกำลังไฟไปยังหน้าจอ

สิ่งที่เหมือนกันอีกอย่างกับทั้งมาตรฐาน HDBaseT และ SDVoE ก็คือ ทั้งคู่สามารถส่งต่อกระแสไฟฟ้า DC กำลังสูงบนทั้ง 4 คู่สายของสายเคเบิลแบบบิดเกลียวคู่ได้ โดยตัวแรกใช้เทคโนโลยี Power over HDBaseT (POH) ขณะที่ตัวหลังใช้แบบ Power over Ethernet (PoE) ซึ่ง POH เองสามารถส่งต่อกำลังไฟ DC ได้มากถึง 100 วัตต์บนทั้ง 4 คู่สายพร้อมๆ กับสัญญาณวิดีโอ HDBaseT ขณะที่ PoE ส่งกระแสไฟ DC ได้ถึง 60 วัตต์ (Type 3) หรือ 90 วัตต์ (Type 4) บนทั้งสี่คู่สายร่วมกับสัญญาณวิดีโอแบบไอพี ซึ่งกำลังไฟฟ้าระดับนี้เพียงพอที่จะเลี้ยงหน้าจอแสดงภาพแบบ LED รวมถึงจอมอนิเตอร์และป้ายไฟดิจิทัลได้โดยไม่ต้องใช้ไฟ AC เลย แม้แต่ชุดกล่องรับสัญญาณบางตัวก็ใช้ไฟที่จ่ายแบบนี้กันแล้ว

ความสามารถในการจ่ายไฟระยะไกลนี้ทำให้เราต้องพิจารณาถึงค่าประสิทธิภาพที่เกี่ยวข้องกับการวิ่งกระแสไฟฟ้า DC กำลังสูงบนทั้งสี่คู่สายในระบบเหล่านี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่า Insertion Loss ที่เกิดจากความร้อนที่สูงขึ้น และค่า DC Resistance Unbalance ที่มาจากสายเคเบิลที่ผลิตมาไม่ดีหรือคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน การส่งไฟแบบ POH หรือ PoE ก็ตามต่างใช้หลักแบ่งศักย์ไฟฟ้าเท่าๆ กัน วิ่งกระแสไฟที่แบ่งบนเส้นลวดตัวนำในแต่ละคู่สายอย่างละเท่าๆ กัน ซึ่งจำเป็นที่ค่าความต้านทาน DC ของแต่ละลวดตัวนำจะต้องเท่ากันด้วย ความแตกต่างของค่าความต้านทานของลวดตัวนำสองเส้นถือเป็นค่าความไม่สมดุลของความต้านทาน DC ซึ่งถ้ามีมากเกินไปจะทำให้สัญญาณภาพวิดีโอบิดเบี้ยวได้ ดังนั้นการที่วิ่งกระแสไฟฟ้าครบทั้ง 4 คู่สาย ก็จำเป็นต้องตรวจค่าความไม่สมดุลของความต้านทาน DC ระหว่างแต่ละคู่สาย

ข่าวดีคือ เครื่องตรวจสายเคเบิลแบบทองแดงเทียบมาตรฐาน Fluke Networks DSX CableAnalyzer™ Series สามารถตรวจค่าเหล่านี้ได้ทั้งหมด ทำให้มั่นใจได้ว่าลูกค้าที่ให้เราทำระบบ AV จะได้ภาพที่สมบูรณ์แบบ ไม่เพียงแค่ใช้ตรวจระบบสายเคเบิลเทียบมาตรฐานในอุตสาหกรรมได้เท่านั้น แต่ความสามารถในการทดสอบค่าความไม่สมดุลของความต้านทาน DC ก็ช่วยตรวจความสามารถของสายเคเบิลในการรองรับ POH และ PoE ได้ด้วย

ที่มา : https://www.flukenetworks.com/blog/cabling-chronicles/av-over-twisted-pair-what-do-i-need-test