หน้าแรก Networking & Wireless วิธีการทดสอบสายไฟเบอร์แบบประหยัด

วิธีการทดสอบสายไฟเบอร์แบบประหยัด

แบ่งปัน

ถ้าคุณต้องแก้ปัญหากับสายไฟเบอร์เป็นประจำ ก็น่าจะมีชุดเครื่องมือพร้อมใช้ที่รวมถึงเครื่อง Optical Time Domain Reflectometer (OTDR) ด้วย แต่เรากลับได้ยินเสียงจากลูกค้าหลายรายที่ไม่ได้ทดสอบสายไฟเบอร์มากขนาดที่ต้องลงทุนกับเครื่องมือราคาแพงขนาดนี้

แน่นอนว่าถ้าระบบสายไฟเบอร์ของคุณมีความสำคัญมาก มากจนไม่สามารถรอช่างข้างนอกที่มีเครื่อง OTDR เข้ามาช่วยตรวจสอบแล้ว ก็ถือว่ามีเหตุผลที่จะมีเครื่องดังกล่าวไว้พร้อมใช้ แม้จะไม่ค่อยได้ใช้งานก็ตาม เช่นเดียวกับในดาต้าเซ็นเตอร์และบริการโคโลเคชั่นที่ไม่สามารถรอเป็นวันสองวันในการจัดการกับลิงค์ไฟเบอร์เสียได้ การมีเครื่องอย่าง OptiFiber Pro ก็มีตัวช่วยยอดนิยมสำหรับสถานการณ์เหล่านี้ เนื่องจากช่วยตั้งค่าให้อัตโนมัติพร้อมฟีเจอร์ Event Map ที่ช่วยหาต้นเหตุได้ง่ายแม้จะไม่ได้ตรวจระบบมานานก็ตาม

แต่ไม่ใช่ทุกคนจะงบหนาเหมือนดาต้าเซ็นเตอร์เจ้าใหญ่แบบนี้ แล้วเราจะทำอย่างไรให้ไม่ต้องจ่ายแพงในการทดสอบล่ะ?

ประการแรก ต้นเหตุที่พบบ่อยมากที่สุดของปัญหาสายไฟเบอร์ก็คือการปนเปื้อนของหน้าตัดสาย แม้คุณจะมั่นใจว่าทุกอย่างสะอาดตอนเชื่อมสายเข้าด้วยกัน และไม่มีใครไปสัมผัสหลังจากนั้น ก็ยังมีโอกาสที่ฝุ่นผงจะเข้าไปติดได้อยู่ดี (ส่วนใหญ่ก็เป็นฝีมือของพนักงานที่ชอบบอกว่า “ไม่ใช่ความผิดผม”) กรณีที่ลิงค์เริ่มทำงานผิดปกติ (มีรายงานความผิดพลาดเข้ามาเยอะ หรือลิงค์ล่มไปเลย) เราก็สามารถตรวจเบื้องต้นเร็วๆ ก่อนได้ด้วยกล้องตรวจสายไฟเบอร์อย่าง FI-500 FiberInspector™ Micro เพื่อหาสาเหตุ การใช้วิธีนี้เราต้องคอยค้นหาและตรวจสอบทุกจุดเชื่อมต่อบนลิงค์จนกว่าจะเจอตำแหน่งที่มีปัญหา แล้วถ้าบนลิงค์มีกล่องรวมสาย MPO ด้วยแล้ว ก็จะไม่สามารถเข้าตรวจสอบได้เลยถ้าไม่ได้ใช้กล้องสำหรับ MPO โดยเฉพาะที่ราคาแพงกว่า และเมื่อคุณพบคราบสกปรก ก็ต้องมีชุดอุปกรณ์และทักษะในการทำความสะอาดเพื่อเข้าจัดการด้วย (ซึ่งก่อนจะใช้กล้องตรวจก็ควรมีอุปกรณ์เหล่านี้เตรียมพร้อมไว้แล้ว) บางคนอาจมองทางลัดด้วยการไม่เสียเวลาตรวจสาย ข้ามไปที่การถอดการเชื่อมต่อทุกลิงค์แล้วทำความสะอาดทั้งหมดแทน แต่หารู้ไม่ว่าจะอาจทำให้แย่ลงได้ การถอดการเชื่อมต่อแล้วทำความสะอาดจุดที่สะอาดอยู่แล้วอาจกลับทำให้สกปรกขึ้นมาแทน ซึ่งคุณไม่มีทางรู้ก่อนจะลงทุนหากล้องมาส่องตรวจจริง

ประการต่อมา คุณอาจจะใช้เครื่องหาตำแหน่งปัญหาบนสายแบบมองด้วยตาเปล่าหรือ VFL อย่างเครื่อง VisiFault™ ที่ส่องไฟเลเซอร์ที่สว่างเห็นได้จากภายนอกเข้าไปในสาย ซึ่งแสงนี้มักลอดออกมาในตำแหน่งที่เชื่อมต่อไม่ดีพอ หรือจุดที่สายไฟเบอร์โค้งงอจนแตกหัก วิธีนี้ใช้ได้ผลดีต่อเมื่อคุณสามารถมองเห็นตลอดทั้งสายไฟเบอร์ได้ ดังนั้นจึงไม่ค่อยใช้ได้จริงกรณีที่สายยาวเป็นกิโลเมตร หรือวิ่งอยู่ในท่อใต้ดิน แต่มีข้อสังเกตุว่าสายไฟเบอร์มักจะไม่แตกหักในท่อที่ลากยาวใต้ดินอยู่แล้ว เรามักเจอปัญหาที่จุดเชื่อมต่อและสายที่เชื่อมเข้าอุปกรณ์ต่างๆ มากกว่า เครื่อง VFL ยังมีประโยชน์มากในการตรวจหาจุดเชื่อมสไปลซ์ไม่ดีเวลาที่ใช้สายพิกเทล Splice-on เนื่องจากเป็นจุดที่อยู่ใกล้ปลายของลิงค์ แต่อย่างไรก็ดี VFL ไม่ได้ช่วยระบุปัญหากรณีที่การเชื่อมต่อสกปรกแต่อย่างใด

ทางออกที่สามคือการใช้เครื่องวัดพลังงาน (Power Meter) เช่นเครื่อง SimpliFiber Pro ที่สามารถแสดงกำลังสัญญาณบนสายไฟเบอร์ที่ใช้งานอยู่ได้ เครื่องวัดพลังงานนี้ใช้แก้ปัญหาได้ด้วยการจำกัดบริเวณที่เป็นสาเหตุ (Divide-and-Conquer) สมมติลิงค์ระหว่างสองอุปกรณ์เกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลผิดพลาด สัญญาณขาดๆ หายๆ หรือดาวน์ไปเฉยๆ ให้เริ่มจากเสียบเครื่องพาวเวอร์มิเตอร์กับช่องขาออกของอุปกรณ์ พาวเวอร์มิเตอร์จะบอกได้ว่ามีแสงปริมาณเท่าไรที่ออกมาจากตัวทรานซีฟเวอร์หรือจากปลายสายไฟเบอร์ การที่ลิงค์จะทำงานได้นั้น จะต้องมีพลังงานจ่ายออกมาระดับหนึ่ง ที่เราวัดในหน่วยของ dBm ปริมาณพลังงานของสัญญาณที่ต้องการนั้นขึ้นกับหลายปัจจัย จึงต้องตรวจสอบสเปกการรับส่งสัญญาณของตัวทรานซีฟเวอร์ของคุณก่อน อย่างซิงเกิลโหมดนั้นอาจจะใช้งานกับสัญญาณที่กำลังต่ำถึงระดับ -28 dBm หรือแรงถึง -0 dBm หรือแรงกว่าได้ ส่วนกรณีของมัลติโหมดและตัวส่งสัญญาณแบบ VCSEL นั้น ผลการตรวจวัดกำลังสัญญาณควรอยู่ในรูปเลขจำนวนลบหลักเดียวที่แหล่งจ่ายสัญญาณ ถ้าเกิดอุปกรณ์ทั้งสองต่างจ่ายพลังงานออกมาเพียงพอแล้ว แต่สัญญาณที่ได้ยังอ่อนหรือไม่พบสัญญาณที่ปลายอีกด้าน ก็แสดงว่าสายไฟเบอร์มีปัญหา ที่อาจจะสกปรก (ให้ส่องกล้องตรวจ ทำความสะอาด และส่องตรวจอีกครั้งให้แน่ใจที่ปลายทั้งสองข้าง) หรือเชื่อมต่อไม่ดีพอ หรือสายเสียหาย แล้วถ้าคุณมีเครื่องปล่อยแสงมาใช้กับพาวเวอร์มิเตอร์ (มีจำหน่ายเป็นชุดอุปกรณ์เสริม) ก็จะสามารถวัดค่าการสูญเสียบนสายไฟเบอร์เพื่อดูว่ายังอยู่ในสเปกหรือไม่ได้ โดยสามารถหาสเปกค่าการสูญเสียสัญญาณของแต่ละรูปแบบการใช้งานได้บนเอกสาร Versiv Limits Lines ของ Flukes ได้ด้วยการเสิร์ชชื่อประเภทการประยุกต์ใช้ (เช่น “40GBASE-LR4”)

สุดท้ายแล้ว ถ้าต้องการรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นจริงๆ ก็คงต้องพึ่งเครื่อง OTDR อยู่ดี อย่างเครื่อง OptiFiber Pro ที่ช่วยอธิบายอาการที่เกิดขึ้นไม่เพียงค่าการสูญเสียบนลิงค์ แต่ยังครอบคลุมถึงหัวต่อแต่ละจุดและปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดลิงค์แต่ละเส้นด้วย รวมทั้งยังเห็นค่าสะท้อนแสง (Reflectance) ที่เกิดแต่ละครั้งบนสายไฟเบอร์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมากในการใช้งานแบบซิงเกิลโหมด เครื่อง OptiFiber Pro นี้ยังมาพร้อมกับเครื่อง VFL แบบบิ้วท์อิน รวมทั้งยังสามารถเพิ่มกล้องส่องตรวจสายและพาวเวอร์มิเตอร์ในรูปของชุดอุปกรณ์เสริมแบบ All-in-One ซึ่งเราคิดว่าถ้าเจ้านายของคุณเห็นศักยภาพของเครื่อง OptiFiber Pro ว่าทำได้มากแค่ไหน ขี้คร้านจะรีบอนุมัติให้แทบไม่ทัน

อ่านเพิ่มเติมที่นี่ – https://www.flukenetworks.com/blog/cabling-chronicles/troubleshooting-fiber-cheap