หน้าแรก Networking & Wireless Fiber Optic วิธีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพกับสายหลายประเภท ที่เอามาใช้งานร่วมกัน

วิธีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพกับสายหลายประเภท ที่เอามาใช้งานร่วมกัน

แบ่งปัน
image credit : freepik.com

เมื่อพูดถึงระบบสายเคเบิล แน่นอนว่าไม่ใช่แต่ละแห่งจะมีการเลือกใช้ประเภทสายและรูปแบบการใช้งานเหมือนกันหมดทุกจุด เช่นเดียวกับลักษณะจำเพาะของลิงค์แต่ละลิงค์ จึงสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องรู้ว่าเรากำลังทดสอบอะไรอยู่ ทั้งแง่ประเภทสื่อและรูปแบบการประยุกต์ใช้ด้วย

สายเคเบิลแบบผสมผสาน
หลายครั้งที่ลูกค้าต้องการใช้สายเคเบิลแค่เกรด Category 5e หรือ Category 6 สำหรับการใช้งานอย่างหนึ่ง แล้วค่อยเจียดไปลงทุนใช้แบบ Category 6A กับอย่างอื่น หรือลูกค้าเองอาจจะอยากอัพเกรดแค่บางลิงค์แทนที่จะเลือกอัพเกรดทั้งระบบ จนเป็นที่มาของระบบเคเบิลรวมมิตร

ยกตัวอย่างกรณีของ 802.11ac Wi-Fi ที่เริ่มมีแอคเซสพอยต์ไร้สาย (WAP) แบบ Wave 2 ล่าสุดเข้ามาในตลาด สามารถส่งต่อข้อมูลได้มากถึงประมาณ 7 กิ๊ก ทำให้หลายคนกังวลว่าถ้าใช้สายเคเบิลแบบ Category 5e หรือ 6 ที่ลากยาวๆ จะไปถ่วงทรูพุตหรือเปล่า จนสุดท้ายต้องตัดสินใจติดตั้งสาย Category 6A สำหรับลิงค์เหล่านี้แทน อีกตัวอย่างได้แก่การใช้ฟีเจอร์ Power over Ethernet ถ้ามีอุปกรณ์ตัวใหม่ที่ต้องการกำลังไฟมากถึงระดับที่ต้องใช้ไฟครบทั้ง 4 คู่สายอย่าง 802.3bt PoE Type 3 (60 วัตต์) และ Type 4 (90 วัตต์) การใช้สายเกรดพื้นฐานอย่าง Category 5E หรือ Category 6 ลากยาวไปหน่อยก็อาจจะใช้ส่งต่อสัญญาณข้อมูลความเร็วสูงพร้อมๆ กับพลังงานไฟฟ้าของ PoE ไม่ได้ประสิทธิภาพ เนื่องจากทำให้เกิดความร้อนในสายมากเกินไปจนส่งผลถึงการสูญเสียความแรงของสัญญาณภายในสาย

ผลที่ได้จากกรณีการอัพเกรดหรือเลือกใช้สายที่แตกต่างกันแบบเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ นี้ ย่อมทำให้แผงเชื่อมต่อสายในห้องชุมสายเต็มไปด้วยสายสารพัดแบบไม่ว่าจะเป็น Category 5e, Category 6, หรือ Category 6A ซึ่งแผงเชื่อมต่อสายหรือ Patch Panel ปัจจุบันมีหัวแจ๊คแบบโมดูลสำหรับเสียบสายเคเบิลได้หลากหลายแบบมากบนแผงเดียวกัน

ดังนั้น หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดที่จะทราบว่าเรากำลังทดสอบสายประเภทไหนก็คือ การใช้โค้ดสีบนหัวแจ๊ค เช่นสีหนึ่งสำหรับสาย Category 5e, อีกสีสำหรับ Category 6, และอีกสีให้เป็นของ Category 6A เนื่องจากลองนึกภาพความโกลาหลเวลาอยู่หน้า Patch Panel ที่มีสารพัดสายสารพัดประเภทเสียบเต็มไปหมด หัวต่อก็หน้าตาเป็นพิมพ์เดียวกันไม่ว่าจะเป็น Category อะไร แต่ในทางกลับกัน ถ้าคุณทราบว่าแจ๊คสีน้ำเงินทั้งหมดเป็น Category 6A ที่ต้องรองรับ 10 กิกะบิต ก็จะสามารถตั้งค่าเครื่องมือทดสอบตามได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าไม่ใช้สีแยกแล้ว ทางออกทางเดียวที่เหลือก็คือการเพ่งดูสัญลักษณ์บนหัวต่อ (ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมองเห็นเวลาที่เสียบเข้าไปในแผงสายหรือหน้าเพลต) หรือพยายามอ่านตัวอักษรที่พิมพ์บนฉนวนตัวสายที่อ่านยากมากบริเวณส่วนที่วิ่งเข้ามาต่อกับด้านหลังแผงสาย ดังนั้น โค้ดสีถือว่าเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกที่สุดแล้ว จริงไหมครับ?

แล้วจะทราบรูปแบบการใช้งานได้อย่างไร
และอีกหลายกรณีที่ไม่ได้รวมมิตรกันแค่ประเภทสายเท่านั้น แต่ยังมีการใช้รูปแบบการส่งต่อสัญญาณข้อมูลที่แตกต่างกันด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องคอยพิจารณาอย่างละเอียดเกี่ยวกับประเภทการสื่อสารที่วางแผนจะใช้งานบนแต่ละลิงค์ด้วย ยกตัวอย่างลิงค์ที่ติดตั้งด้วยสายแบบ Category 6 เดิมที่ต่อมาจำเป็นต้องเอามารองรับการส่งข้อมูลแบบ 2.5 หรือ 5GBASE-T เพื่อใช้กับ Wave 2 802.11ac ด้วย ซึ่งประเภทสื่อดังกล่าวไม่สามารถการันตีว่าจะใช้งานแบบที่ต้องการได้ประสิทธิภาพตามมาตรฐาน หนทางเดียวที่จะพิสูจน์ได้ว่าใช้งานได้ตามต้องการจริงก็คือการตรวจเทียบมาตรฐานนั่นเอง

ในแง่สายไฟเบอร์ก็เช่นกัน
ไม่ใช่แค่ระบบสายเคเบิลแบบทองแดงที่คุณต้องพึงระวังในการทดสอบ ฝั่งของสายไฟเบอร์ก็มีเรื่องของประเภทและรูปแบบการใช้งานที่ผสมผสานในระบบเดียวกันด้วย แล้วสายไฟเบอร์อย่าง OM3 และ OM4 ต่างก็ใช้สายสีน้ำเงินเหมือนกันจนแทบไม่สามารถแยกความแตกต่างบนแผงชุมสายได้ (โชคดีที่สายไฟเบอร์มัลติโหมดแบบ OM5 ใช้สีเขียวมะนาว ทำให้แยกสายไฟเบอร์แบบใหม่นี้ได้ง่าย ตั้งค่าเครื่องมือทดสอบให้เข้ากันได้สะดวกกว่า)

ถึงแม้สายแบบ OM3 และ OM4 เป็นระบบสายไฟเบอร์มัลติโหมดที่ใช้แสงเลเซอร์แบบ 50/125 คล้ายๆ กัน แต่สาย OM4 ให้แบนด์วิธกลางสูงกว่าเมื่อเทียบกับสาย OM3 ทำให้ส่งต่อข้อมูลได้มากกว่าในระยะทางเดียวกัน นั่นหมายความว่าเราต้องใช้วิธีทดสอบแตกต่างกันแม้จะมีรูปแบบการใช้งานแบบเดียวกันก็ตาม

ยกตัวอย่างเช่น สาย OM3 รองรับความเร็วระดับ 10 กิกะบิตได้แค่ระยะ 300 เมตร ขณะที่สายไฟเบอร์แบบ OM4 สามารถรองรับ 10 กิ๊กได้ไกลถึง 550 เมตร ดังนั้นถ้าคุณทดสอบลิงค์ OM3 ที่ลากยาวถึง 400 เมตรด้วยพารามิเตอร์ในการทดสอบสายแบบ OM4 ที่รูปแบบการใช้งานระดับ 10 กิกะบิตแล้ว ก็เป็นไปได้มากที่จะทดสอบค่าการสูญเสียสัญญาณภายในสายไม่ผ่าน หรือกรณีมีสายไฟเบอร์แบบเดียวกันบางลิงค์ที่นำมาใช้งานระดับ 10 กิกะบิตแบบ 10GBASE-SR4 ขณะที่อีกลิงค์จำเป็นต้องนำไปใช้สื่อสารระดับ 40 กิกะบิตแบบ 40GBASE-SR4 ก็ได้ ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าจำเป็นต้องทราบสิ่งที่เรากำลังจะทดสอบ ทั้งในแง่ของประเภทสื่อ และด้านของรูปแบบการใช้งานบนทุกๆ ลิงค์

ที่มา : https://www.flukenetworks.com/blog/cabling-chronicles/mixed-mindfulness