หน้าแรก Advertorial 10 งานด้านไอทีและคอมพิวเตอร์ที่รายได้สูงที่สุดในปี 2019

10 งานด้านไอทีและคอมพิวเตอร์ที่รายได้สูงที่สุดในปี 2019

แบ่งปัน

จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น ย่อมส่งผลต่อแนวโน้มความต้องการทักษะด้านไอทีในตลาดแรงงานปีหน้าอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้น ทางเว็บ TechNotification.com จึงได้รวบรวมข้อมูลจากเว็บจัดหางานและการสำรวจต่างๆ มาวิเคราะห์หาตำแหน่งงานที่มีความต้องการสูงสุดในปี 2019 ที่จะถึงไว้ 10 อันดับดังต่อไปนี้

1. Mobile Applications Developer

หลายธุรกิจต่างต้องการเข้าถึงลูกค้ามากกว่าบนเว็บไซต์ ซึ่งวิธีที่สะดวกและเป็นที่นิยมก็คือการเข้าถึงผ่านอุปกรณ์พกพา ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาแอพที่ใช้สะดวก ดึงดูดผู้ใช้ให้ได้ จึงเป็นที่มาของความต้องการแรงงานในตำแหน่งนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์มือถือ ซึ่งส่งผลต่ออัตราเงินเดือนที่สูงเป็นเงาตามตัว นักพัฒนาแอพนั้นต้องมีประสบการณ์ในการเขียนโปรแกรมบนแพลตฟอร์มรายใหญ่ในตลาดทั้งสองแบบ (ทั้ง iOS และแอนดรอยด์) รวมทั้งประสบการณ์ในการเขียนโค้ดบนเฟรมเวิร์กที่หลากหลาย และการใช้ภาษาโปรแกรมมิ่งสำหรับเขียนแอพหลายภาษาด้วย สำหรับรายรับเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 107,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

2. Software Engineer

คอยออกแบบและสร้างสเปกแกนหลักของทั้งซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่น จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับไอที และภาษาโปรแกรมมิ่งเฉพาะด้าน รวมทั้งทักษะด้านการสื่อสารที่ยอดเยี่ยม สำหรับรายรับเฉลี่ยต่อปีนั้นอยู่ที่ 124,500 ดอลลาร์ฯ

3. Database Admin

ได้รายรับเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 87,025 เหรีบญสหรัฐฯ สำหรับหน้าที่ในการระบุหาความต้องการของผู้ใช้, ดูแลฐานข้อมูลของบริษัท, ออกแบบและวางระบบฐานข้อมูล, ตั้งค่ากำหนดเวลาและคอยแบ๊กอัพข้อมูลเป็นประจำ, กู้คืนข้อมูลเมื่อจำเป็น รวมไปถึงการวางระบบและตรวจสอบระบบความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทใหญ่ๆ อย่างไมโครซอฟท์และ Epic Systems ที่กำลังจ้างตำแหน่งเหล่านี้อยู่

4. Web Developers And Designers

แปรผันตรงตามจำนวนองค์กรและเว็บไซต์ที่เกิดเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยนักพัฒนาเว็บนั้นคอยใช้กลไกด้านโปรแกรมมิ่งต่างๆ เพื่อสร้างเว็บที่ปราศจากข้อผิดพลาดเชิงเทคนิค และใช้งานได้ตรงตามวัตถุประสงค์ ขณะที่คนออกแบบเว็บจะคอยออกแบบความสวยงามของเว็บ รวมทั้งรูปแบบการใช้งานให้สะดวกสบาย ผู้ใช้ชื่นชอบที่สุด

5. Information Systems Security Manager

เป็นคนที่ต้องสร้างความมั่นใจว่าไม่มีช่องโหว่เกิดขึ้นในระบบขององค์กร และคอยอัพเดทเทรนด์ด้านความปลอดภัยล่าสุดตลอดเวลา จำเป็นต้องมีใบประกาศรับรองขั้นสูงอย่าง CompTIA Security+ หรือ CISSP สำหรับรายรับเฉลี่ยต่อปีนั้นอยู่ที่ 140,000 ดอลลาร์ฯ

6. Data Warehouse Manager

ผู้จัดการระบบบริหารจัดการข้อมูล หรือ Data Warehouse เป็นหน้าที่งานที่จำเป็นกับทุกบริษัท ด้วยการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูล รวมทั้งวิเคราะห์และประเมินความต้องการด้านข้อมูลของผู้ใช้และองค์กร ไปจนถึงการออกแบบระบบที่ซับซ้อนเพื่อให้จัดเก็บและเรียกใช้ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

7. Data Scientist

เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ที่ได้เงินเยอะที่สุด ต้องมีความรู้เกี่ยวกับวิธีการรวบรวม, จัดระเบียบ, และวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อส่งข้อมูลที่วิเคราะห์สรุปแล้วให้แก่ผู้บริหารใช้ในการตัดสินใจเรื่องสำคัญ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลควรมีทักษะทั้งด้านโปรแกรมมิ่ง, สถิติ, การวิเคราะห์, และด้านคณิตศาสตร์

8. Big Data Engineer

เกี่ยวกับการแปลงข้อมูลดิบให้อยู่ในรูปที่พร้อมนำไปใช้ตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งธุรกิจต่างๆ ล้วนเห็นความสำคัญของระบบบิ๊กดาต้าเพื่อแซงหน้าคู่แข่ง ซึ่งวิศวกรบิ๊กดาต้านอกจากวิเคราะห์และตีความข้อมูล ยังต้องรับผิดชอบในการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อทำงานวิเคราะห์ข้อมูลแบบอัตโนมัติด้วยทำให้หลายบริษัททุ่มเม็ดเงินสำหรับว่าจ้างผู้ที่มีดีกรีจบด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์พ่วงกับทักษะด้านฐานข้อมูล ด้วยรายรับเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 155,000 ดอลลาร์ฯ

9. Data Security Analyst

มีหน้าที่สร้างกลไกที่ทรงพลังมากมายเพื่อปกป้องข้อมูลจากความเสี่ยงหลากหลายแบบ เพื่อป้องกันอันตรายจากทั้งภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งนักวิเคราะห์ความปลอดภัยข้อมูลควรมีความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยคอมพิวเตอร์, ความปลอดภัยเครือข่าย, ความปลอดภัยของโปรโตคอล, เทคโนโลยีเข้ารหัสข้อมูล, และการใช้งานไฟล์วอลล์ร่วมกับมาตรการความปลอดภัยอื่นๆ พร้อมทั้งยังต้องคอยติดตามการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลด้วย จำเป็นที่ต้องมีใบประกาศรับรองไว้โชว์กับนายจ้างอย่าง CISSP เงินเดือนเฉลี่ยของนักวิเคราะห์ความปลอดภัยของข้อมูลนั้น คิดที่รายรับต่อปีอยู่ที่ 125,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

10. Network Architect

ดูแลทุกด้านเกี่ยวกับเน็ตเวิร์กคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่งานออกแบบ, ติดตั้งและวางระบบเครือข่าย, รวมทั้งระบบการสื่อสารโดยรวม โดยดูแผนผังเครือข่ายที่เชื่อมต่อทั้งแบบใช้สายและไร้สายและคิดค้นแนวทางการแก้ปัญหาหรือรูปแบบการใช้งานเครือข่ายที่เหมาะสมกับความต้องการขององค์กรที่จำเพาะ

ที่มา : Technotifications