หน้าแรก Networking & Wireless Fiber Optic เน็ตเวิร์กแอดมินฯ เฮ! Fluke แนะวิธีทลายอุปสรรคในการลากสายยาวกว่า 100 เมตร

เน็ตเวิร์กแอดมินฯ เฮ! Fluke แนะวิธีทลายอุปสรรคในการลากสายยาวกว่า 100 เมตร

แบ่งปัน

ถือเป็นปัญหาที่พบบ่อยในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ปลายทางที่ค่อนข้างไกลจากห้องชุมสายหรือ TR ถึงแม้มาตรฐานอุตสาหกรรมได้จำกัดความยาวของช่องสัญญาณสื่อสารไว้ที่ 100 เมตร แต่ก็อาจจำเป็นต้องเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่แชนแนลรวมยาวกว่า 150 หรือแม้แต่ถึง 200 เมตรได้

จริงๆ เรามีวิธีอยู่ 4 แบบในการแก้ปัญหาลักษณะนี้ ลองมาดูกันว่าแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียกันอย่างไรบ้าง:

สร้างห้อง TR ใหม่

ทางเลือกประการแรกสุดก็คือการตั้งห้องชุมสาย หรือตู้ชุมสายใหม่บริเวณใกล้กับอุปกรณ์ดังกล่าว เพื่อให้มั่นใจว่าได้ช่องสัญญาณรับส่งข้อมูลที่มีระยะทางภายใน 100 เมตรตามที่กำหนดในมาตรฐาน แม้จะดูเป็นทางออกที่ดูดีที่สุดในแง่ของการทำตามมาตรฐาน แต่ก็เป็นวิธีที่แพงมากที่สุดด้วยเช่นกันไม่ว่าจะเป็นในแง่ของพื้นที่ พลังงานไฟฟ้า ระบบทำความเย็น อุปกรณ์ ไปจนถึงค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะลงทุนมหาศาลกับอุปกรณ์ที่ต้องการเชื่อมต่อแค่ตัวเดียว แต่ถ้ายังจำเป็นต้องใช้วิธีนี้แล้ว ก็อาจหาช่องทางลดค่าใช้จ่ายได้ด้วยการใช้ตู้ชุมสายขนาดเล็กที่ยังได้ตามมาตรฐานแทน เช่น ตู้ยึดกับผนังที่มีสวิตช์และแผงต่อสายขนาดเล็ก โดยยึดกับผนังหรือเพดานก็ได้

ใช้ตัวขยายสัญญาณ

อีกหนึ่งวิธีที่ยังเป็นไปตามมาตรฐานอยู่ก็คือการติดตั้งอุปกรณ์ขยายสัญญาณตรงกลางของสายเคเบิลแบบทองแดง เช่น การใช้สวิตช์อีเธอร์เน็ตหรือตัวขยายสัญญาณอีเธอร์เน็ตขนาดมินิ ซึ่งเป็นทางเลือกที่มีราคาไม่แพงมาก แต่ให้ระยะทางการลากสายได้ไกลมากขึ้นตามต้องการ แถมยังใช้ประโยชน์จากสายทองแดงเดิมที่ลากไว้อยู่ก่อนหน้าได้ แต่อุปกรณ์อย่างตัวขยายสัญญาณก็ยังต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเลี้ยง ซึ่งอาจเกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกถ้าบริเวณดังกล่าวไม่ได้อยู่ใกล้แหล่งจ่ายไฟ และที่สำคัญคืออุปกรณ์พวกนี้จะเป็นการเพิ่มจุดเสี่ยงต่อความล้มเหลวของระบบที่อยู่ห่างไกล กรณีถ้าเกิดทำงานล้มเหลว และไม่ได้มีการบันทึกจุดเหล่านี้เป็นเอกสารไว้อย่างดีแล้ว ย่อมทำให้ฝ่ายไอทีเสียเวลาและทรัพยากรในการไล่แก้ไขปัญหาค่อนข้างมาก

หันมาใช้สายไฟเบอร์

อีกทางเลือกหนึ่งคือการเชื่อมต่ออุปกรณ์เป้าหมายด้วยสายใยแก้วนำแสง ซึ่งสายไฟเบอร์แบบมัลติโหมดที่ปรับปรุงการส่งต่อแสงเลเซอร์ในมาตรฐาน OM3 หรือ OM4 นั้นจะสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ในระยะทางได้ไกลประมาณ 550 เมตรสำหรับลิงค์แบบ 10 Gbps หรือได้ไกลถึง 860 เมตรสำหรับลิงค์ 1000 Mbps เลยทีเดียว แต่คุณต้องพิจารณาค่าใช้จ่ายที่มากับอุปกรณ์ที่ใช้รับส่งสัญญาณไฟเบอร์เพิ่มเติมด้วย (เช่น ตัวแปลงสัญญาณแสง) นอกจากนี้ สายไฟเบอร์ยังไม่สามารถส่งพลังงานไฟฟ้าในแง่ของ PoE ทำให้คุณอาจต้องหาทางเลือกอื่นในการจ่ายไฟฟ้าให้อุปกรณ์ดังกล่าวเพิ่ม

แต่ถ้าอุปกรณ์นั้นไม่มีพอร์ตรับส่งสัญญาณไฟเบอร์แล้ว ก็ต้องหาตัวแปลงสื่อสัญญาณเพิ่มอีก ถึงแม้ตัวแปลงแบบ PoE จะไม่ได้แพงมากมายแถมยังใช้จ่ายไฟฟ้าให้อุปกรณ์ได้ แต่ก็มักเกิดปัญหาทั้งการจ่ายไฟ และการเป็นจุดเสี่ยงต่อความล้มเหลวเพิ่มอีกจุด แต่ถ้าอุปกรณ์นั้นมีพอร์ตรับส่งไฟเบอร์ วิธีหนึ่งที่ช่วยกำจัดจุดเสี่ยงของความล้มเหลวระบบ อีกทั้งยังตอบโจทย์การจ่ายไฟได้ในตัวก็คือการใช้สายไฮบริดจ์ผสมระหว่างทองแดงและไฟเบอร์ ที่มีส่วนของสายไฟเบอร์สำหรับรับส่งสัญญาณข้อมูลพร้อมกับตัวนำสายทองแดงสำหรับส่งต่อพลังงานไฟฟ้า อย่างไรก็ดี วิธีนี้ไม่เพียงมีค่าใช้จ่ายในการหาอุปกรณ์ที่พร้อมเชื่อมต่อสายไฟเบอร์เท่านั้น แต่ยังต้องใช้ตัวทรานซีฟเวอร์สายไฟเบอร์ที่แพงขึ้นในการส่งต่อข้อมูล ไปจนถึงแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าที่สามารถจ่ายไฟศักย์ต่ำแบบ Class 2 บนตัวนำสายทองแดงด้วยพร้อมกัน

เลือกใช้สายที่ออกแบบมาเพื่อลากได้ไกลเป็นพิเศษ

วิธีที่ 4 นี้ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ การใช้ทางเลือกที่ไม่ได้มีมาตรฐานรองรับโดยการใช้สายเคเบิลทองแดงที่ออกแบบมาให้ส่งสัญญาณได้ไกลกว่าปกติ ซึ่งมีหลายแบรนด์ที่พัฒนาออกมาอย่างเช่น สาย GameChanger จาก Paige Datacom ที่อ้างว่าสามารถส่งสัญญาณที่ความเร็ว 1000 Mpbs พร้อม PoE ได้ไกลถึง 200 เมตร หรือสายชื่อ Utility Grade (UTG) จาก Anixter ที่ระบุว่าสามารถส่งสัญญาณที่ความเร็ว 100 Mbps พร้อมจ่ายไฟฟ้า PoE ระดับ 30 วัตต์ได้มากถึง 150 เมตร ทางเลือกเหล่านี้น่าสนใจมากสำหรับกรณีที่ต้องการใช้กับอุปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้แบนด์วิธสูง อย่างกล้องวงจรปิด ไฟส่องสว่างแบบ PoE หรืออุปกรณ์ทำงานอัตโนมัติภายในอาคารที่ต้องการความเร็วอยู่ในช่วง 10 – 100 Mbps

การใช้สายเคเบิลแบบลากได้ไกลกว่าปกตินี้ถือเป็นทางเลือกที่มีค่าใช้จ่ายถูกที่สุดแล้วเนื่องจากไม่ต้องการพื้นที่ อุปกรณ์ หรือสร้างจุดที่เสี่ยงต่อความล้มเหลวเพิ่มเติม เหมาะกับการลากสายในระยะทางที่ไกลกว่า 90 เมตรในรูปแบบที่แทบไม่ต่างอะไรจากการติดตั้งลิงค์ถาวรทั่วไป แต่ทว่า ถ้าอุปกรณ์ที่ตั้งอยู่ไกลเกิน 100 เมตรจำเป็นต้องใช้แชนแนลในระดับ 10 Gbps (ตัวอย่างเช่น แอดเซสพอยต์ WiFi ขั้นสูงในมาตรฐาน 802.11ac/ax) ก็อาจต้องมองหาทางเลือกอื่นแทน

สรุป

แม้ทาง Fluke จะแนะนำอยู่เสมอให้หาวิธีที่มีกำหนดไว้ตามมาตรฐาน แต่เราก็ทราบดีว่ายังมีความต้องการและความจำเป็นในตลาดที่ต้องการฉีกข้อจำกัดระยะทาง 100 เมตรตามมาตรฐานเช่นกัน รวมไปถึงผู้ใช้จำนวนมากรวมถึงตัวคุณเองอาจตัดสินใจเลือกวิธีที่ประหยัดมากที่สุดด้วยการใช้สายเคเบิลที่ออกแบบมาสำหรับลากไกลเป็นพิเศษ เราจึงพัฒนาเพื่อช่วยเหลือคุณในจุดนี้ด้วย!

นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราเพิ่มพารามิเตอร์ตรวจวัดประสิทธิภาพที่อิงกับผู้จำหน่ายสำหรับสายเคเบิลลากไกลพิเศษเหล่านี้เข้ามาในเครื่องตรวจเทียบมาตรฐานสายเคเบิลทองแดงในซีรี่ย์ DSX CableAnalyzer ที่รองรับทั้งสายแบบ UTG และ Paige GameChanger เพียงแค่เลือกลิมิตการทดสอบพวกนี้บนเครื่องทดสอบของคุณ รวมทั้งยังมีตัวเลือกในการทดสอบด้านต่างๆ สำหรับสายที่ลากเกิน 100 เมตรให้ด้วย

เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เราจึงทำตารางสรุปข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธีมาให้ดังต่อไปนี้

ที่มา : Fluke Networks