หน้าแรก Networking & Wireless Fiber Optic บทความน่ารู้ : รูปทรงหน้าตัดสายไฟเบอร์สำคัญอย่างไร

บทความน่ารู้ : รูปทรงหน้าตัดสายไฟเบอร์สำคัญอย่างไร

แบ่งปัน

เราต่างที่ทราบดีว่า การปล่อยให้สายไฟเบอร์หรือแม้แต่หน้าตัดสายสกปรกจะส่งผลให้เกิดการสูญเสียพลังงานแสง รวมถึงการสะท้อนแสงกลับด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมเราต้องทำความสะอาดและตรวจสอบสายก่อนเชื่อมต่อเสมอ แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณทำความสะอาดและตรวจสอบสายไฟเบอร์ไว้ดีแล้ว รวมทั้งทดสอบด้วยเครื่องมืออย่าง FI-7000 FiberInspector Pro แต่ก็ยังเจอปัญหาเชื่อมต่อสัญญาณกันอยู่ดี? บางทีอาจเป็นเพราะหน้าตัดของหัวต่ออาจไม่ได้เข้ากันกับพารามิเตอร์ด้านหน้าตัดสายไฟเบอร์ก็เป็นได้

ค่าที่ต้องพอดี ไม่สูงหรือต่ำเกินไป
เวลาที่หน้าตัดสายใยแก้วนำแสงไม่ได้ตามค่าพารามิเตอร์ด้านรูปทรงที่ควรจะเป็น จะทำให้การเชื่อมต่อเกิดช่องว่างหรือตำแหน่งที่ไม่ตรงกันจนทำให้เกิดการสูญเสียแสงมากขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น หนึ่งในค่าพารามิเตอร์สำคัญที่ระบุไว้ในมาตรฐานอุตสาหกรรมสำหรับสัดส่วนรูปทรงหน้าตัดสายไฟเบอร์ก็คือ ความสูงของคอร์ที่พ้นระนาบหน้าตัดฉนวนหรือ Fiber Protrusion Height ถ้าคอร์นี้ยื่นออกมามากเกินไป ก็เสี่ยงที่คอร์สายไฟเบอร์จะเสียหายตอนเชื่อมสาย แต่ถ้าหดเข้าเกินไปจนต่ำกว่าแนวฉนวน ก็อาจเกิดช่องว่างที่ทำให้ค่าความสูญเสียสัญญาณภายในสายสูงขึ้นได้

สำหรับสายมัลติไฟเบอร์แบบ MPO นั้น ค่าความสูงคอร์สายพ้นฉนวนนี้จะซับซ้อนขึ้น เนื่องจากมีสายย่อยหลายสายที่ไม่เพียงแต่ละสายในมัด MPO จะต้องได้ค่า Fiber Protrusion Height ตรงตามช่วงมาตรฐานเท่านั้น แต่ยังต้องทำให้ความแตกต่างของค่าความสูงคอร์สายไฟเบอร์ในมัดเหล่านี้ไม่สูงเกินไป ทั้งที่คิดรวมทั้งหมด และระหว่างสายที่อยู่ติดกันด้วย นั่นคือ จะมีค่าความแตกต่างสูงสุดที่เกิดจากสายไฟเบอร์ย่อยที่คอร์ยื่นออกมามากที่สุดและน้อยที่สุดในมัดสาย กับระหว่างคู่สายติดกันแต่ละคู่ โดยมีค่าที่กำหนดไว้ว่าห้ามเกิน 500 นาโนเมตร (nm) และ 300 นาโนเมตร (nm) ตามลำดับดังที่ระบุไว้ในมาตรฐาน IEC PAS 61755-3-31

 

ค่าความแตกต่างของระยะการยื่นของคอร์สายในหัวต่อ MPO นั้นสำคัญมาก เพราะถ้าสายไฟเบอร์ย่อยเส้นใดเส้นหนึ่งหลุดต่ำลงมากเกินไป จะทำให้ชุดสายไฟเบอร์ดังกล่าวเกิดค่าการสูญเสียสัญญาณภายในสายเมื่อเชื่อมสายกันได้ โดยเฉพาะเมื่อคุณมองภาพในการใช้งานแบบ 40 และ 100GBASE-SR4 ที่ใช้สายไฟเบอร์ย่อย 8 เส้นส่งสัญญาณ และมีขอบเขตการยอมรับค่าการสูญเสียที่เข้มงวดมากแล้ว ยิ่งแทบไม่อยากให้เกิดช่องว่างในการเชื่อมแม้แต่จุดเดียว

ระนาบที่สัมผัสก็ต้องตรงกัน สมมาตร สมส่วนกัน
ยังมีข้อควรคำนึงอีกหลายจุดเกี่ยวกับพารามิเตอร์ที่เกี่ยวกับรูปทรงหน้าตัดสายที่มีผลต่อประสิทธิภาพได้ เช่น รัศมีความโค้ง หรือความมนของปลายสายหน้าตัดโดยรวม ถ้าหน้าตัดมนโค้งชันเกินไป ก็ทำให้เหลือพื้นที่ที่สัมผัสกันน้อยลงที่ไม่เพียงเสี่ยงต่อด้านประสิทธิภาพการเชื่อมต่อ แต่ยังเพิ่มโอกาสที่ตัวเนื้อแก้วของสายจะเสียรูปไปได้ด้วย

นอกจากนี้ ตำแหน่งของจุดสูงสุดของโค้งหน้าตัดหรือแกนกลางสายนั้น ยิ่งอยู่ใจกลางสายพอดีเท่าไรก็ยิ่งทำให้ได้การเชื่อมต่อระหว่างคอร์สายไฟเบอร์ที่สมบูรณ์แบบมากขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าตำแหน่งไม่สบกันตรงๆ ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้การเชื่อมต่อที่ดี

และเช่นกันที่สำหรับมัดสายแบบ MPO ที่จะมีสิ่งที่ต้องระวังมากกว่า อย่างมุมองศาที่ขัดหน้าตัดสายย่อยแต่ละเส้นทั้งที่ทำมุมกับแกนตั้งและแกนนอนจะต้องตรงกันอย่างเหมาะสมเวลาเสียบเข้าหัวต่อด้วย

ในภาพที่มาจากมาตรฐาน IEC PAS 61755-3-31 นี้แสดงให้เห็นถึงค่าพารามิเตอร์รูปทรงหน้าตัดสายหลัก 4 ตัวสำหรับสาย MPO (ที่แสดงเป็น 4 สายไฟเบอร์ย่อยให้เห็นภาพชัดเจน) จะเห็นทั้งองศาการขัดหน้าตัดสายที่ทำกับแกนนอน (RX และ GX), องศาการขัดหน้าตัดสายที่ทำกับแกนตั้ง (RY และ GY), ค่าความสูงคอร์สายที่พ้นฉนวนรอบข้าง (H), ค่าความแตกต่างของระยะคอร์สายพ้นฉนวนที่มากที่สุดในกลุ่มมัดสายไฟเบอร์เดียวกัน (HA), และค่าความแตกต่างของระยะคอร์สายพ้นฉนวนที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับสายย่อยที่อยู่ติดกัน (HB) แน่นอนว่าค่าพารามิเตอร์เหล่านี้จะยิ่งยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นถ้าเป็นมัดสายขนาดใหญ่อย่าง MPO แบบ 24 เส้น

เลือกให้ฉลาด จะได้ไม่ต้องคอยกังวล
มีข่าวดีที่ผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงในตลาดหลายรายสามารถให้การรับประกันได้ว่าหัวต่อทั้งแบบ Simplex, Duplex, และ MPO ของตัวเองได้ตามมาตรฐานค่าพารามิเตอร์ระบุรูปทรงหน้าตัดสายไฟเบอร์ ทำให้คุณไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้มากเท่าไร แต่อย่าลืมว่ายังไงคุณก็ยังต้องเป็นคนทำความสะอาดและตรวจสอบหน้าตัดสายเองอยู่ดี เพราะไม่ว่าหน้าตัดสายคุณภาพเยี่ยมแค่ไหนก็สามารถปนเปิ้อนจนสกปรกได้

อย่างไรก็ดี เราควรระวังการเชื่อมต่อสายไฟเบอร์ราคาถูกที่มาจากแหล่งไม่คุ้นเคย เนื่องจากไม่ว่าคุณจะทำความสะอาดหัวต่อสายไฟเบอร์ได้ดีขนาดไหน ถ้าค่าพารามิเตอร์รูปทรงหน้าตัดสายไม่ได้ตามมาตรฐานแล้ว คุณก็ไม่มีทางได้ประสิทธิภาพการเชื่อมต่อที่คาดหวังไว้แน่นอน

ที่มา : https://www.flukenetworks.com/blog/cabling-chronicles/save-face-why-fiber-end-face-geometry-matters