หน้าแรก Networking & Wireless Fiber Optic การตรวจสอบสายสัญญาณ ใน 3 แบบ Verification, Qualification และ Certification

การตรวจสอบสายสัญญาณ ใน 3 แบบ Verification, Qualification และ Certification

แบ่งปัน

เมื่อเราพูดถึงเรื่องของการทดสอบการติดตั้งสายสัญญาณ เราจำเป็นจะต้องให้ความสนใจในสามทางเลือกดังต่อไปนี้: การตรวจสอบความถูกต้อง (Verification), การตรวจสอบคุณภาพ (Qualification), และการตรวจรับรองมาตรฐาน (Certification)

มีคุณสมบัติบางอย่างของเครื่องมือในการทดสอบที่อาจจะทับซ้อนกันอยู่ ซึ่งเราจะไล่เรียงให้ดูถึงข้อมูลของคำถาม-คำตอบ ของการทดสอบแต่ละประเภทจากบทความดังต่อไปนี้

สายสัญญาณเชื่อมต่อถูกต้องหรือไม่?

“การตรวจสอบความถูกต้อง (Verification)” จะเป็นตัวให้คำตอบได้ในข้อคำถามนี้ สำหรับสายสัญญาณแบบทองแดงนั้น เครื่องมือทดสอบราคาถูกๆ ก็สามารถตรวจสอบความถูกต้องในแง่ของความต่อเนื่องของการสื่อสารพื้นฐานบางอย่างได้เช่น การตรวจสอบการเข้าหัวของสายสัญญาณระหว่างต้นทางและปลายทาง, ทำ Toning ได้ โดยการตรวจสอบการเข้าหัวของสายสัญญาณระหว่างต้นทางและปลายทาง (Wire Mapping) จะบอกคุณว่าแต่ละคู่สายนั้นเชื่อมต่อกับพินที่ถูกต้อง ตรงหัวต่อแต่ละหัวหรือไม่? และมีการสัมผัสขั้วแน่นดีแล้วที่ปลายสายหรือไม่? ส่วนการทำ Toning จะช่วยระบุสายสัญญาณที่อยู่ในกลุ่ม หรือที่อยู่อีกปลายด้านหนึ่งในระยะไกลได้ โดยการส่งสัญญาณเสียงเข้าไปในสายสัญญาณ

เครื่องมือสำหรับตรวจความถูกต้องบางรุ่นเช่น MicroScanner2 Cable Verifie ของ Fluke Networks มีความสามารถที่ดีกว่าเครื่องทั่วๆ ไป ตรงที่มันมีฟีเจอร์อย่างเช่น Time Domain Reflectometer (TDR) เอาไว้ช่วยหาระยะทาง ที่ไปยังปลายสายสัญญาณอีกด้านหนึ่งหรือหาตำแหน่งของจุดที่มีปัญหาได้ เช่น ระยะขาด, ระยะช็อต รวมทั้งยังตรวจสอบได้ด้วยว่า อุปกรณ์สวิตช์ได้เชื่อมต่อกับสายสัญญาณที่ได้รับการทดสอบแล้ว

ส่วนสายไฟเบอร์ (Fiber) นั้น เพียงแค่อุปกรณ์ Visual Fault Locator (VFL) ทั่วไป ก็นำมาใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบความถูกต้องได้แล้ว โดยสามารถตรวจการเชื่อมต่อของสายไฟเบอร์นั้นได้, ช่วยหาตำแหน่งของจุดที่สายหักของ Fiber Patch Cord ได้, หรือตำแหน่งหัวต่อ หรือตำแหน่งที่มีการ Splice ที่ไม่ดีได้ , รวมทั้งยังช่วยตรวจหาขั้วและตรวจสอบการจัดเรียงสายไฟเบอร์ที่เหมาะสม ภายในหัวต่อแบบหลายสาย (Multi-Fiber) ก็ได้เช่นกัน

สำหรับ การทดสอบแบบตรวจความถูกต้องนี้ ถือเป็นแค่ด่านแรกในการระบุปัญหาเกี่ยวกับสายสัญญาณเท่านั้น หากต้องการทดสอบสายสัญญาณที่ดีมากขึ้น คุณต้องใช้วิธีการที่มากกว่านั้นด้วย น้อยมากที่เราจะพบว่ามีคนใช้เพียงแค่วิธีเดียวในการทดสอบ เหตุก็เพราะว่า การตรวจความถูกต้องเพียงอย่างเดียวไม่สามารถตรวจดูถึงประสิทธิภาพของสายสัญญาณว่าจะรองรับการใช้งานที่มีรูปแบบจำเพาะได้หรือไม่? จึงเป็นที่ชี้ชัดว่า ผลที่ได้มาไม่สามารถที่จะประกันได้ว่า มันจะสอดคล้องตามมาตรฐานในการออกใบรับประกันของโรงงานผู้ผลิตนั่นเอง

สายสัญญาณรองรับการใช้งานที่ต้องการได้หรือไม่?

เครื่องมือสำหรับ “การตรวจสอบคุณภาพ (Qualification)” โดยส่วนใหญ่แล้ว มักจะรวมเอาคุณสมบัติของการตรวจสอบความถูกต้องเข้าไปด้วย แต่จะซับซ้อนกว่ามาก อย่างเช่นความสามารถในการตรวจคุณภาพแบนด์วิธของสายสัญญาณ เป็นต้น ซึ่งการตรวจสอบคุณภาพนี้ จะให้ข้อมูลที่จำเป็นที่ช่วยระบุได้ว่าสายสัญญาณที่นำมาทดสอบ สามารถรองรับการใช้งานในรูปแบบต่างๆ ได้หรือไม่ ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีสายสัญญาณอยู่สองสาย ที่ขั้นแรกได้ผ่านการตรวจความถูกต้องมาแล้ว แต่เป็นไปได้ว่า ถ้าคุณใช้อุปกรณ์อย่าง CableIQ™ Qualification Tester ของ Fluke Networks มาตรวจอีกรอบ ก็อาจพบว่า สายสัญญาณเส้นหนึ่งนั้นรองรับแค่มาตรฐาน 10BASE-T (อีเธอร์เน็ตแบบ 10 Mbps) ในขณะที่อีกเส้นสามารถรองรับมาตรฐาน 1000BASE-T (กิกะบิตอีเธอร์เน็ต) ได้ เป็นต้น

เครื่องมือตรวจสอบคุณภาพที่มีฟังก์ชั่นการตรวจสอบความถูกต้องรวมอยู่ด้วยนั้น นับเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาที่ยอดเยี่ยม เหมาะอย่างยิ่งกับการเพิ่มสาย เคลื่อนย้ายสาย หรือเปลี่ยนแปลง หรือแม้กระทั่งการติดตั้งเครือข่ายสายชั่วคราว ที่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบคุณภาพที่ต้องผ่านการรับรองเพื่อใช้ในเครือข่ายเฉพาะเจาะจง นอกจากนี้ยังสามารถช่วยให้คุณตัดสินใจได้ว่าระบบสายสัญญาณเดิมที่มีอยู่ จำเป็นต้องอัพเกรดเพื่อให้รองรับการใช้งานใหม่หรือไม่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบความถูกต้อง หรือการตรวจสอบคุณภาพ มันก็ยังไม่สามารถใช้ในการตรวจรับรองมาตรฐานที่จำเป็นสำหรับผู้ผลิตสายสัญญาณได้

สายสัญญาณสอดคล้องตามมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือไม่?

เครื่องมือสำหรับ “การตรวจรับรองมาตรฐาน (Certification)” ถือเป็นคำตอบเดียวเท่านั้นสำหรับคำถามนี้ เครื่องมือชนิดนี้มักจะถูกนำมาใช้โดยผู้ให้บริการด้านวางระบบ หรือไม่ก็เป็นผู้จัดการด้านที่ดูแลอำนวยความสะดวกขององค์กรเป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบสายสัญญาณใหม่นั้น ตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐานอย่างเช่น TIA-568-C.2 Category 6A หรือไม่ก็จำพวก ISO 11801 2nd Edition Class EA1 ที่เรียกได้ว่าเป็นมาตรฐานการทดสอบสายสัญญาณที่เข้มงวดมากที่สุด และจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ผลิตสายสัญญาณ ที่จะต้องได้รับการรับประกันตามมาตรฐานเหล่านั้นด้วย

การตรวจรับรองมาตรฐาน จะรวมเอาคุณสมบัติของการตรจสอบความถูกต้อง และการตรวจสอบคุณภาพเข้าไปด้วย และยังรวมถึงการตรวจวัดค่าหลายอย่าง เช่น ช่วงความถี่ที่กำหนด พร้อมเปรียบเทียบรายละเอียดผลลัพธ์ว่าตรงตามมาตรฐานที่กำหนดโดย TIA หรือ ISO หรือไม่ ซึ่งผลที่ได้จะออกมาเป็น ผ่าน (Pass) กับไม่ผ่าน (Fail) อ้างอิงตามมาตรฐานที่กำหนด และยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่าการเชื่อมโยงดังกล่าวนั้น สอดคล้องตามข้อกำหนดของประเภทหรือระดับสายสัญญาณ อย่างเช่น Category 6A หรือ EA หรือไม่? เป็นต้น เท่ากับเป็นการช่วยบอกได้ถึงงานต่างๆ ที่สายสัญญาณนั้น สามารถนำไปใช้งานได้

สำคัญที่สุด คือ ต้องเลือกให้เหมาะสม

ไม่ว่าจะเลือกใช้การทดสอบแบบ การตรวจสอบความถูกต้อง (Verification), การตรวจสอบคุณภาพ (Qualification), หรือ การตรวจรับรองมาตรฐาน (Certification) ตามแต่ที่ลูกค้าต้องการ แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ถ้าคุณต้องการความเชื่อมั่นในแง่ของประกันความมั่นคงทางการเงินแล้ว แนะนำว่า การตรวจรับรองมาตรฐาน (Certification) ด้วยอุปกรณ์อย่าง DSX CableAnalyzer™ ถือเป็นทางเลือกเดียวที่คุณจะวางใจได้

ทั้งนี้ เพราะการเลือกวิธีอื่น อาจจะทำให้คุณกลายเป็นผู้รับผิดชอบการรับประกันแต่เพียงผู้เดียว และจากการประเมินต้นทุนต่อลิงค์ในแง่ของเชิงพาณิชย์ทั่วๆ ไป โดยเฉลี่ยขั้นต่ำตกแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการรื้อถอน, การกรีดผนัง, การเจาะตัดฝ้าเพดาน และเวลาที่ต้องทำการทดสอบใหม่ ถ้าเกิดผิดพลาดอะไรขึ้นมา ย่อมหมายถึงความเสี่ยงที่อาจเป็นเงินมหาศาลได้

ที่มา: https://www.flukenetworks.com/blog/cabling-chronicles/verification-qualification-certification-which-do-i-need