หน้าแรก Networking & Wireless เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ เสาสัญญาณของระบบ Wi-Fi ทั้ง 3 แบบ

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ เสาสัญญาณของระบบ Wi-Fi ทั้ง 3 แบบ

แบ่งปัน

ในเรื่องของระบบคลื่นวิทยุนั้น เสาอากาศ หรือ Antenna ทำหน้าที่ปรับรูปร่างและรวมคลื่นวิทยุให้ส่งไปยังทิศทางที่ต้องการ เหมือนเลนส์สำหรับคลื่นความถี่วิทยุหรือ RF โดยเฉพาะ คลื่นวิทยุทุกระบบนั้น ไม่ว่าจะเป็น Wi-Fi, สัญญาณมือถือ, อุปกรณ์ไร้สาย, ไปจนถึงวอล์กกี้ทอล์กกี้ ต่างต้องใช้เสาอากาศบนอุปกรณ์ทั้งฝั่งส่งและฝั่งรับคลื่นทั้งสิ้น เสาอากาศบนแต่ละอุปกรณ์นั้นมีการปรับจูนให้ทำงานสำหรับความถี่ที่จำเพาะ

ความแรงของพลังงานรับส่งสัญญาณของเสาอากาศ (ที่เรียกติดปากว่า Gain) นั้นวัดกันในหน่วย “dBi” หรือกำลังเดซิเบลที่สัมพันธ์กับตัวส่งสัญญาณแบบเท่ากันทุกทิศทางรอบตัวหรือ Isotropic Radiator ที่เป็นเสาทางอุดมคติที่นำมาใช้อ้างอิงทางคณิตศาสตร์ โดยให้เสาแบบ Isotropic ไม่มีเกนหรือเป็น 0 dBi

Advertisement

เสาอากาศอย่างง่ายที่สุดที่พบกันทั่วไปคือ เสาที่ส่งสัญญาณออกสองทิศทางตรงข้ามกัน (แนวระนาบ กับแนวตั้ง) แต่ส่งออกมารวมกันรอบทิศทาง (Omni-Directional) ที่เรียกว่าเป็ดน้อยลอยน้ำหรือ “Rubber Duck” ทำให้ได้คลื่นที่กระจายออกมารอบตัวในแนวระนาบลักษณะเหมือนขนมโดนัทป่องๆ ที่บุ๋มกลางเล็กน้อยซึ่งมักมีความแรงการส่งสัญญาณหรือเกนต่ำประมาณ 2 – 5 dBi โดยสามารถปรับเกนแรงขึ้นได้เมื่อเซ็ตให้ปล่อยพลังงานออกมาในทิศเดียวกันแทนเช่น การยืดเสาอากาศให้ยาวขึ้น พลังงานก็จะกระจายออกในทิศแนวระนาบตามพื้นที่ผิวของเสาด้านข้างมากกว่าออกแนวบนล่างของเสา

เสาอากาศอีกประเภทคือแบบกำหนดทิศทางเดียว (Directional) ที่คอยโฟกัสรวมพลังงานคลื่นในทิศที่ต้องการ ทำให้ได้เกนสูงมากจากการรวมพลังงานที่เคยส่งทุกทิศทางมาอยู่แค่จุดเดียว โดยเสาอากาศกลุ่มนี้มีหลายแบบที่นิยมได้แก่

• เสาแบบ Patch/Panel

มีขนาดเล็กแต่ส่งเกนและความกว้างของลำคลื่นได้หลากหลาย มักอยู่ในรูปแผงวงจร (PCB) แล้วหุ้มด้วยเคสพลาสติกที่ป้องกันแสงยูวี นิยมใช้ภายในอาคาร

• เสาแบบ Sector

มีเกนสูงมากประมาณ 11 – 20 dBi และกางความกว้างของลำคลื่นค่อนข้างเยอะตั้งแต่ 60 – 120 องศา หรือแม้แต่การหุบลำคลื่นให้แคบเหลือน้อยกว่า 10 องศาได้ มักใช้ให้บริการเครือข่าย Wi-Fi ภายนอกอาคารที่กินบริเวณอย่างน้อย 200 – 300 ฟุต

• เสาแบบ Dish/Grid

ใช้กับระยะการส่งที่ไกลมาก จึงทำลำคลื่นหุบแคบลงมาก (< 5o) จนได้เกนสูงมาก (> 25 dBi) เหมาะกับการใช้เป็นลิงค์สำรองในการเชื่อมต่อระหว่างสำนักงานที่ไกลได้เป็นกิโล

เสาแบบกำหนดทิศทางนี้ย่อมมีจุดด้อยตรงที่เกิดจุดอับหรืออยู่นอกขอบเขตครอบคลุมได้ง่ายมาก อีกทั้งด้วยกำลังส่งที่แรง การมาส่งอยู่ใกล้ๆ กันก็เกิดการรบกวนได้มากเช่นกัน โดยแนะนำให้ตั้งเสาอากาศแบบกำหนดทิศทางนี้ให้ห่างอย่างน้อย 3 – 4 ฟุต

ที่มา : Networkcomputing