หน้าแรก Networking & Wireless Fiber Optic 3 อุปกรณ์สำหรับทดสอบระบบ Network ที่แอดมินฯ ควรมีติดตัวไว้

[รีวิว] 3 อุปกรณ์สำหรับทดสอบระบบ Network ที่แอดมินฯ ควรมีติดตัวไว้

แบ่งปัน

สิ่งที่นักวางระบบเครือข่ายมืออาชีพขาดไม่ได้นั่นคืออุปกรณ์ทดสอบหรือ Network Tester ที่นอกจากจะใช้ตรวจหาสายเคเบิลเสียแล้วยังใช้ระบุตำแหน่งหรือสาเหตุของปัญหาเครือข่ายทั้งหลาย, หาความยาวสายเคเบิลที่ยาวเป็นกิโลเกินกว่าจะไปนั่งวัดด้วยตัวเองอย่างสายไฟเบอร์, รวมถึงวัดอัตราการส่งข้อมูลที่แท้จริงของสายเคเบิลได้ด้วย เป็นต้น

การตรวจวัดคุณภาพของสายเคเบิลที่แท้จริงก่อนปิดงานวางระบบนั้น ถือเป็นสิ่งที่มืออาชีพควรกระทำ แทนที่จะลากสายเสร็จแล้วสะบัดก้นหนี ปล่อยให้ผู้ใช้เสียบๆ ถอดๆ สายแลนแบบงงๆ น้ำลายไหลยืดว่าทำไมเน็ตเข้าบ้างไม่เข้าบ้าง ที่สำคัญ เครื่องมือดังกล่าวได้ช่วยชีวิตชาวไอทีมาเป็นจำนวนมากเมื่อเกิดปัญหาหรือมีความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนแปลงระบบสายเคเบิลในองค์กร

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เวลาคุณเผลอตัดหรือถอดสายแลนสายหนึ่งในบรรดาล้านกว่าสายที่ตู้ Rack อย่างน้อยก็จะรู้ได้ว่ากระทบกับใครห้องไหนบ้างก่อนโดนด่า หรือเวลาที่คุณโดนจ้างมาเคลียร์ระบบแลนที่ชาวบ้านทิ้งขี้เอาไว้โดยไม่ยอมติดป้ายชื่อหรือทำเอกสารคู่มือบอกแผนผังเครือข่ายไว้ชัดเจน

ตลาดของอุปกรณ์เทสสายเคเบิลในปัจจุบันมียักษ์ใหญ่อยู่สามเจ้าได้แก่ Fluke Networks (ที่คนไทยเรียกว่าฟลุกๆ), NETSCOUT, และ SignalTEK ซึ่งทั้งสามเจ้านี้ต่างสามารถเช็คคู่ต้นสายปลายสายได้, ประมาณความยาวสาย, และวัดอัตราเร็วการส่งข้อมูลได้ นอกจากนี้ยังส่งสัญญาณให้ไฟ LED บนพอร์ตสวิตช์กระพริบ เพื่อรู้รูสายแลนที่กำลังทดสอบ รวมไปถึงส่งสัญญาณจำเพาะเพื่อระบุตำแหน่งที่สายแลนลากระหว่างทางได้ด้วย

อุปกรณ์ทดสอบสายเคเบิลที่เบสิกสุด และถูกสุดได้แก่ Fluke Networks CIQ-100ด้วยรุ่นที่ประหยัดที่สุดนี้จึงสามารถใช้ทดสอบได้แค่สายอีเธอร์เน็ตและสายโคแอกเซียล แต่ยังไม่รองรับสายใยแก้วนำแสง ขณะที่อุปกรณ์จากอีกสองเจ้าอย่าง NETSCOUNT LinkRunner G2 และ SignalTEK NT รองรับทั้งสายอีเธอร์เน็ตและสายไฟเบอร์ พร้อมฟีเจอร์ที่สูงขึ้นอย่างการระบุหาพอร์ตสวิตช์, PoE, และการทดสอบการเชื่อมต่อระดับไอพีหรืออินเทอร์เน็ต โดยอุปกรณ์ของ NETSCOUNT มีราคาแพงมากที่สุดในบรรดาอุปกรณ์ที่นำมารีวิวนี้ แต่ก็มีฟีเจอร์มากที่สุดเช่นกัน ยังไม่นับการมีหน้าจอสัมผัส และโอเอสแบบแอนดรอยด์

Fluke Networks CIQ-100 (ราคา 1,385 ดอลลาร์สหรัฐฯ)

เป็นอุปกรณ์สำหรับทดสอบสายทองแดงโดยเฉพาะ (พวก Twist-pair, Coax, หรือสายลำโพง) ที่วัดความเร็วและวินิจฉัยปัญหาเบื้องต้นได้ อุปกรณ์ชุดนี้จะมีตัวหลักที่ประมวลผลอิสระ พร้อมอุปกรณ์ย่อยอีกตัวสำหรับต่อปลายทางสายเคเบิลอีกฝั่งถ้าต้องการใช้ ฟลุกตัวนี้ไม่สามารถแสดงข้อมูลพอร์ตบนสวิตช์ หรือเลขไอพีต่างๆ บนเครือข่ายได้เหมือนของอีกสองเจ้า แต่คนที่ใช้ฟลุกก็ล้วนต้องการเอามาใช้เทสสายแลนกันเป็นหลักอยู่แล้ว

อุปกรณ์ตัวหลักมีขนาด 7 x 3.5 x 2 นิ้ว ขณะที่อุปกรณ์ย่อยมีขนาด 1.5 x 3 x 1.5 นิ้ว ภายนอกเป็นเคสพลาสติกที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อม พร้อมตัวยึดด้านหลังไว้ติดกับผนังได้ มีพอร์ต mini-B USB สำหรับถ่ายข้อมูลกับคอมพิวเตอร์หรือไว้อัพเดตเฟิร์มแวร์ อุปกรณ์นี้ใช้ถ่าน AA 4 ก้อน และไม่สามารถชาร์ตไฟกับอุปกรณ์ได้โดยตรง ซึ่งถือเป็นข้อเสียสำหรับผู้ที่ใช้อุปกรณ์นานๆ เป็นประจำ

สำหรับรุ่นฮาร์ดแวร์เวอร์ชั่น 3 และซอฟต์แวร์เวอร์ชั่น 1.6 นั้นมีปุ่มลูกศรและปุ่ม Enter แยกต่างหาก ซึ่งดูใช้ลำบากกว่ายี่ห้ออื่นที่ใช้การกดตรงกลางปุ่มลูกค้าแทนปุ่ม Enter สำหรับการทดสอบในโหมดออโต้อย่างละเอียดนั้น จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กไปเสียบที่ปลายสายอีกฝั่ง ซึ่งในโหมดนี้สามารถบันทึกผลที่วันได้พร้อมระบุข้อมูลประกอบอย่างชื่อสถานที่, ตำแหน่ง, หรือชื่อพอร์ตได้ แต่ในโหมดค้นหาหรือ Discover นั้น สามารถวัดความยาวสาย, ความเร็ว, ชนิดดูเพล็กซ์, และการเข้าคู่สายได้แบบคร่าวๆ และไม่สามารถบันทึกผลได้

โดยสรุปถือว่าฟลุกเป็นอุปกรณ์ที่เหมาะกับการเช็คสายที่ไม่สนใจว่าเชื่อมต่อกับเครือข่ายหรือมีข้อมูลจริงวิ่งอยู่หรือเปล่า ซึงการมีอุปกรณ์ย่อยสำหรับเสียบปลายสายอีกฝั่งหนึ่งพร้อมไฟแสดงสถานะที่อุปกรณ์ทั้งสองฝั่งนั้นเป็นประโยชน์ต่อการเทสสายเปล่ายาวๆ ในที่ห่างไกลมาก

NETSCOUT LinkRunner G2 (ราคา 3,064.99 ดอลลาร์ฯ)

ใช้เทสสายอีเธอร์เน็ตได้ทั้งแบบสายทองแดงและสายไฟเบอร์ พร้อมซิงค์ข้อมูลขึ้นคลาวด์ได้ตลอดเวลาผ่านบริการ Link-Live ด้วยโอเอสแบบแอนดรอยด์ทำให้ตั้งค่าหรือดัดแปลงเพิ่มเติมได้อย่างยืดหยุ่น ไม่ว่าจะใช้ท่องเว็บ, ถ่ายรูป, หรือใช้แอพแอนดรอยด์อื่นเพิ่มเติมบนแอพสโตร์ของ NETSCOUT เอง นอกจากนี้ยังสามารถซื้ออแดปเตอร์ Wi-Fi/Bluetooth เพิ่มเติมเพื่อเทสระบบ Wi-Fi หรือใช้ต่อเน็ตผ่าน Wi-Fi ด้วยก็ได้

ด้วยขนาด 8 x 4 x 1.5 นิ้ว มีปุ่มเปิดแค่ปุ่มเดียวอยู่ด้านบนเนื่องจากใช้ทัชสกรีนควบคุมได้ทุกอย่าง มีพอร์ตไมโครยูเอสบี, ช่องเสียบการ์ด SD, และรูเสียบสายไฟ รวมไปถึงพอร์ตยูเอสบีสำหรับเชื่อมต่อกับอแดปเตอร์ไวไฟข้างต้น หรือต่อกับแฟลชไดรฟ์เพื่อเพิ่มเนื้อที่เก็บหรือย้ายข้อมูลได้อีก มีโหมดเทสออโต้ที่วัดตั้งแต่ PoE, ความเร็ว, ดูเพล็กซ์, DHCP, DNS, ไอพีเกตเวย์ หรือแม้แต่ Ping และ TCP ได้ นอกจากส่งขึ้นคลาวด์ก็สามารถส่งผลเข้าอีเมล์คุณได้โดยตรงถ้าต้องการ

ถือว่า LinkRunner G2 นี้ใช้ทดสอบได้เกือบทุกอย่าง ครอบคลุมมากที่สุดในบรรดาสามอุปกรณ์ที่รีวิวนี้ เพียงแต่การจัดการงานในแอพ กับฟีเจอร์ดูประวัติการทดสอบอาจดูติดขัดไปบ้าง

SignalTEK NT (2,408 ดอลลาร์ฯ)

เป็นโซลูชั่นทดสอบการรับส่งข้อมูลบนเครือข่ายจาก IDEAL Networks สำหรับวัดประสิทธิภาพของสายเคเบิลโดยเฉพาะ ใช้ระบุหาตำแหน่งพอร์ต, เทส Ping, และ Traceroute โดยมาแพ๊คคู่คล้ายฟลุกสำหรับทดสอบสายเปล่าอย่างละเอียด และสามารถทดสอบโปรโตคอลไอพีแบบต่างๆ ได้จากอุปกรณ์หลักตัวเดียว

ทั้งตัวหลักตัวย่อยต่างมีขนาดเท่ากันคือ 7 x 3.25 x 1.5 นิ้ว มาพร้อมกับเคสสำหรับพกพาและแบบปกป้องพิเศษจากสิ่งแวดล้อมที่โหดร้าย มีสายไฟที่สามารถชาร์ตเข้าเครื่องได้ หน้าจอ LCD ไม่ได้เป็นทัชสกรีน มีปุ่มควบคุมแยกต่างหาก เทสได้ทั้งสายทองแดงและใยแก้วนำแสง นอกจากนี้มีอแดปเตอร์ไวไฟสำหรับเชื่อมต่อกับแอพ IDEAL AnyWARE บนอุปกรณ์พกพาของคุณเพื่อเรียกดูรายงานต่างๆ ได้ด้วยแต่ไม่สามารถใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตบนอุปกรณ์หลักได้โดยตรง

ฟีเจอร์จัดการงานค่อนข้างยืดหยุ่น บันทึกผลแยกเป็นจ๊อบได้อย่างเป็นระเบียบ อินเทอร์เฟซเป็นมิตร ใช้งานได้ง่าย เสียแต่ไม่มีระบบซิงค์ข้อมูลผ่านเน็ตเช่นอีเมล์หรืออัพขึ้นคลาวด์อย่างของ NETSCOUT

ที่มา : Networkworld