หน้าแรก Security Hacker อาชญากรทางไซเบอร์เตรียมฉวยโอกาส! หากแนวคิด Balkanisation เกิดขึ้นจริง

อาชญากรทางไซเบอร์เตรียมฉวยโอกาส! หากแนวคิด Balkanisation เกิดขึ้นจริง

แบ่งปัน

Enterprise ITPro ได้เข้าร่วมงานประชุมประจำปี Kaspersky Lab APAC Cyber Security Weekend ครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้นที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา โดยครั้งนี้ทาง Kaspersky ชี้ให้เห็นถึงอันตรายทางไซเบอร์ที่จะเกิดขึ้นหากโลกก้าวสู่ยุคที่เรียกว่า บอลข่านไนเซชั่น (Balkanisation)

Balkanisation คืออะไร

บอลข่านไนเซชั่น เป็นแนวคิดในการที่จะพยายามแยกโลกของไซเบอร์ออกจากกัน หมายความว่าประเทศต่างๆ ในโลกนี้จะมีอินเทอร์เน็ตเป็นของตนเอง พร้อมสร้างระบบป้องกันภัยของตนเองด้วยเช่นกัน ซึ่งแนวคิดเช่นนี้หลายประเทศมองว่าอาจจะเป็นผลดีเพราะมีระบบปิดเป็นของตัวเอง แต่ทางแคสเปอร์สกี้ แลป กลับมองแตกต่างออกไป พวกเขาได้ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงด้านความปลอดภัยไซเบอร์ที่จะเป็นผลมาจากบอลข่านไนเซชั่น (Balkanisation) ในโลกไซเบอร์ นั่นคือการแตกแยกของเวิลด์ไวด์เว็บ

สเตฟาน นิวไมเออร์

โดยในงานนี้ สเตฟาน นิวไมเออร์ กรรมการผู้จัดการ แคสเปอร์สกี้ แลป ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้กล่าวบนเวทีว่า “เสียงก้องเตือนจากยูจีน แคสเปอร์สกี้ ซีอีโอของบริษัทนั้นทำให้เรารู้ว่า เมืองดิจิทัลระดับโลกที่ไร้พรมแดนในอุดมคตินั้นได้ใกล้ถึงจุดจบแล้ว หลายประเทศกำลังสร้างแนวป้องกันไซเบอร์ของตน อินเทอร์เน็ตที่ทุกคนเข้าถึงได้ฟรีในตอนแรกเริ่มนั้นปัจจุบันได้ถูกแบ่งและแยกตัวเป็นอิสระจากกัน ซึ่งอาจจะส่งผลดีกับบางประเทศในบางง่มุม แต่แน่นอนว่าอาชญากรไซเบอร์นั้นได้ประโยชน์เต็มๆ จากการมีอิสระในการปลดปล่อยภัยคุกคามทั่วโลก”

นอกจากนั้นแล้วเรายังได้มีโอกาสพูดคุยกับสองผู้เชี่ยวชาญของทีมงาน GReAT (Global Research and Analysis Team) ประกอบด้วย ซูกุรุ อิชิมารุ และ เวเนย์ ลี โดยพวกเขาระบุถึงภัยที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดแบบบอลข่านไนเซชั่น โดยซูกุรุ ชี้ให้เห็นภัยที่มาพร้อมกับแอนดรอย์อย่าง โรมมิ่ง แมนทิส (Roaming Mantis) ซึ่งผู้โจมตีมีแรงจูงใจเป็นเม็ดเงินจากการแพร่กระจายมัลแวร์ไปยังสมาร์ทโฟนทั่วเกาหลีใต้ บังคลาเทศ และญี่ปุ่นผ่านการไฮแจ็ค DNS ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่วนเวเนย์ ก็ได้ออกมาเน้นยำถึงจำนวนมัลแวร์ที่ตรวจจับได้ในแต่ละวัน ที่มีการเพิ่มจำนวนมากขึ้น มีความซับซ้อนมากขึ้น และสามารถเข้าถึงเป้าหมายได้มากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา

https://www.facebook.com/enterpriseitpro/videos/322298601838180/

นอกจากนั้นแล้วเรายังได้พูดคุยสั้นๆ กับมือขวาของยูจีน แคสเปอร์สกี้ ก็คือ แอนทอน ชินกาเรฟ รองประธานฝ่ายกิจการสาธารณะและหัวหน้าสำนักงานซีอีโอของแคสเปอร์สกี้ แลป โดยเขาได้ยกคำพูดของยูจีนขึ้นมาในตอนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องแนวคิดว่าบอลข่านไนเซชั่นว่า ณ ตอนนี้ บราซิลและเยอรมนีกำลังพิจารณาและอาจจะเริ่มดำเนินการตั้งหน่วยงานอิสระด้านอินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างเน็ตเวิร์กคู่ขนานที่แยกตัวจากอินเทอร์เน็ต สำหรับใช้สื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลความลับขั้นสูง ซึ่งไม่ใช่แค่สองประเทศนี้เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่กำลังร่างนโยบายเพื่อให้บริษัทใหญ่ระดับโลกอย่างกูเกิ้ลและเฟซบุ๊กย้ายดาต้าเซ็นเตอร์ไปที่ประเทศนั้นๆ เพื่อป้องกันการสอดส่องและการรุกล้ำข้อมูลจากภายนอกประเทศอีกด้วย

ทำไม USA ถึงเล่นงาน แคสเปอร์สกี้

นอกจากประเด็นบอลข่านไนเซชั่นแล้ว เรายังได้คุยกับแอนทอน เกี่ยวกับประเด็นเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเด็นที่หน่วยงานของทางสหรัฐอเมริกามีการแบนผลิตภัณฑ์จากแคสเปอร์สกี้ โดยเขาย้ำชัดว่าเป็นประเด็นทางการเมืองที่พวกเขาหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต่อข้อคำถามที่ว่า มีการกล่าวหาว่า แคสเปอร์สกี้ได้แอบส่งข้อมูลกลับไปยังประเทศตนเอง แอนทอนระบุว่าพวกเขาได้ส่งข้อมูลกลับไปยังรัสเซียจริง แต่ข้อมูลดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลพวกภัยคุกคามและการโจมตีของมัลแวร์ ไม่ใช่ข้อมูลส่วนตัวของ อย่างไรก็ตามแอนทอนบอกว่า พวกเขาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วจากชัยชนะในการต่อสู้ที่ชั้นศาล

สำหรับงาน Kaspersky Lab APAC Cyber Security Weekend จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อนำเสนอประเด็นด้านความปลอดภัยไซเบอร์โดยนักวิจัยชั้นนำของบริษัทแก่สื่อมวลชนจาก 11 ประเทศจากทั่วภูมิภาค โดยในปีนี้จัดขึ้นในธีม “Balkanisation: Security Should Not Be in Isolation” ซึ่งจะชี้ให้เห็นถึงพิษภัยของการโลกานิวัฒน์อินเทอร์เน็ต (de-globalisation of the internet) ควบคู่ไปกับภาพรวมภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ในเอเชีย