หน้าแรก Applications ทำความรู้จักกับ Git และ GitHub รวมทั้งคำสั่งพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง

ทำความรู้จักกับ Git และ GitHub รวมทั้งคำสั่งพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง

แบ่งปัน

ในโลกของชาวโปรแกรมเมอร์นั้น การควบคุมรุ่นหรือเวอร์ชั่นของโค้ดและโปรเจ็กต์ต่างๆ ที่คุณทุ่มเวลาเขียนข้ามวันข้ามคืนนั้นถือเป็นหัวใจสำคัญของอาชีพเลยทีเดียว (ถ้าไม่อยากเรือหายตอนเจอบั๊กใหม่แล้วหาทางกลับไปใช้โค้ดเดิมไม่เจอ) ซึ่งระบบควบคุมเวอร์ชั่นของโค้ดที่นิยมใช้กันมากที่สุดก็หนีไม่พ้น Gitและ GitHub นั่นเอง

Git เป็นระบบควบคุมและแบ่งปันโค้ดแต่ละเวอร์ชั่นแบบโอเพ่นซอร์ส ขณะที่ GitHub เป็นแพลตฟอร์มให้โฮสต์โค้ดแต่ละเวอร์ชั่นแบบออนไลน์ ซึ่งการควบคุมเวอร์ชั่นหรือ Version Control นี้จะช่วยในการจัดการ, แก้ไข, สืบย้อนกลับ, หรือแม้แต่โรลแบ๊กกลับไปใช้โค้ดที่เสถียรรุ่นก่อนหน้า ซึ่งการจัดการผ่าน Git นั้น สามารถใช้คำสั่งแบบคอมมานด์ไลน์ในการจัดการได้

แน่นอนว่าตราบใดที่คนเขียนโปรแกรมยังเป็นมนุษย์ ก็ย่อมเกิดความผิดพลาดที่ไม่ได้ตั้งใจ จนต้องขอย้อนกลับไปใช้โค้ดรุ่นเดิมที่เคยทำงานเสถียรอยู่เรื่อยๆ ซึ่งการใช้ระบบควบคุมเวอร์ชั่นจะทำให้บริหารจัดการเวอร์ชั่นของโค้ดปริมาณมหาศาลได้ง่ายและรวดเร็วกว่าการมาสำรองไฟล์เป็น file, fileold1, fileold2 จนประสาทจะกินเพราะไม่เป็นระบบ

และนอกจากการควบคุมเวอร์ชั่นเฉพาะที่อยู่บนเครื่องตัวเองแล้ว การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง GitHub ยังช่วยให้สามารถจัดการเวอร์ชั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพจากทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าโปรแกรมดังกล่าวจะถูกพัฒนาด้วยโปรแกรมเมอร์กี่คนก็ตาม

สำหรับมือใหม่ที่หัดใช้ Git นั้น ควรทำความเข้าใจคำสั่งพื้นฐานที่ต้องใช้ผ่านเทอมินัลบนเครื่องตนเองดังต่อไปนี้

Git Config เป็นคำสั่งที่ใช้ตั้งค่าชื่อและอีเมล์ของผู้ใช้ เช่น

Git-config-global user.name
Git-config-global user.email

Git init เป็นคำสั่งสำหรับสร้างแหล่งเก็บไฟล์บนเครื่องปัจจุบัน เพื่อเริ่มบันทึกความเคลื่อนไหวหรือการเปลี่ยนแปลงของไฟล์ในกิตนี้ในอนาคต ซึ่งจะเป็นการสร้างกิตว่างๆ บนไดเรกทอรีปัจจุบันที่อยู่ในรูปไฟล์ .git

Git Status ไว้แสดงรายการของไฟล์ที่ยังไม่ถูกบันทึกความเคลื่อนไหวที่อยู่บนไดเรกทอรีปัจจุบัน โดยพื้นที่ที่อยู่ระหว่างไฟล์เหล่านี้กับกิตนั้นจะเรียกว่า Staging Area ซึ่งคำสั่งนี้จะแสดงรายการไฟล์ที่ยังไม่ถูกควบคุมเวอร์ชั่นเป็นสีแดงให้เห็น

Git Add เป็นคำสั่งที่ใช้เพิ่มไฟล์ใหม่เข้าไปในกิตบนไดเรกทอรีปัจจุบันเพื่อเริ่มควบคุมเวอร์ชั่น เช่นgit add (ชื่อไฟล์) หรือ gitadd .เพื่อเพิ่มทุกไฟล์ที่อยู่ในไดเรกทอรีพร้อมกัน

Git Commit เป็นการเพิ่มไฟล์จากบริเวณ Staging กลับเข้ากิตเป็นเวอร์ชั่นใหม่ให้กิตรู้ว่ามีการเปลี่ยนแปลง หรือใส่รายละเอียดการแก้ไขไฟล์เวอร์ชั่นใหม่ เช่น git commit –m “(ข้อความที่ต้องการ)” เป็นต้น

Git Log เป็นคำสั่งให้แสดงประวัติการเปลี่ยนแปลงที่เคยทำไว้บนไฟล์ในกิต ซึ่งนอกจากข้อมูลการเปลี่ยนแปลงแล้ว ยังมีข้อมูล Hash ที่แสดงความจำเพาะกับแต่ละการเปลี่ยนแปลงหรือการคอมมิตภายใต้ชื่อผู้เขียนและเวลาต่างๆ ด้วยเช่นกัน

Git Diff ใช้เปรียบเทียบรายละเอียดของโค้ดที่แตกต่างกันระหว่างเวอร์ชั่นปัจจุบันกับเวอร์ชั่นก่อนหน้า เช่น เวลาที่แก้ไขโค้ดใหม่แล้วพบว่าทำงานไม่ได้ดังใจ แล้วอยากรู้ว่าต่างจากโค้ดรุ่นก่อนหน้าตรงไหน

Git Checkout (ชื่อไฟล์) ใช้สำหรับโรลแบ๊กหรือย้อนไฟล์กลับไปใช้เวอร์ชั่นก่อนหน้า

Git Remote Add Origin เป็นคำสั่งไว้สำหรับเชื่อมต่อกิตบนเครื่องปัจจุบันเข้ากับบัญชี GitHub ออนไลน์ที่สมัครเอาไว้ โดยใช้คำสั่งว่า git remote add origin (URL ที่ได้จากเว็บ GitHub ของตนเอง)

Git Push –U Origin Master เป็นคำสั่งสำหรับส่งกิตบนเครื่องปัจจุบันอัพโหลดขึ้นไปไว้บนบัญชี GitHub ออนไลน์ของตนเอง

สำหรับการเปิดบัญชี GitHub นั้น แค่เข้าไปที่ https://github.com แล้วสมัครโดยใช้ข้อมูลชื่อผู้ใช้, รหัสผ่าน, และอีเมล์แค่นั้น จากนั้นกดยืนยันตัวตนผ่านอีเมล์ที่ได้รับ แล้วจึงกดปุ่มเครื่องหมายบวกบนหัวเว็บเพื่อสร้างกิตใหม่ออนไลน์ ซึ่งเว็บ GitHub จะแสดง URL จำเพาะของบัญชีเราเพื่อให้เอาไปใช้กับคำสั่ง git remote add origin บนเทอมินัลของเครื่องเรา ซึ่งเวลาเราพุชกิตบนเครื่องขึ้นไปยัง GitHub ด้วยคำสั่ง git push –u origin master บางครั้งจะมีถามชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านที่เราสมัครไว้ด้วยอีกครั้ง ซึ่งหลังจากพุชขึ้นออนไลน์แล้ว ก็จะสามารถเห็นไฟล์บนกิตปัจจุบันในบัญชี GitHub ของตัวเอง

ที่มา : Technotification