หน้าแรก Networking & Wireless Fiber Optic พื้นฐานในการทดสอบสายเคเบิล 101 : ข้อควรพิจารณาในการใช้สาย Multimode Fiber

พื้นฐานในการทดสอบสายเคเบิล 101 : ข้อควรพิจารณาในการใช้สาย Multimode Fiber

แบ่งปัน

จากบทความในซีรี่ย์ความรู้พื้นฐานในการทดสอบสายเคเบิลครั้งที่แล้ว เราได้เคยพูดถึงความแตกต่างระหว่างสายไฟเบอร์แบบ OM3 และแบบ OM4 ขนาด 50 µm ซึ่งสรุปได้ว่าคอร์ไฟเบอร์ OM4 ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อลดสัญญาณรบกวนภายในสาย (Attenuation) และให้แบนด์วิธที่มากกว่า ทำให้สามารถลากสายได้ในระยะทางที่ยาวกว่า

ถึงแม้ OM4 จะมีคุณภาพเหนือกว่า OM3 แต่ดาต้าเซ็นเตอร์และเครือข่าย LAN หลายแห่งไม่ได้จำเป็นต้องลงทุนมากถึงขนาดต้องใช้แบบ OM4 ดังนั้นเราจึงยังพบสายไฟเบอร์มัลติโหมดแบบ OM3 อยู่ทั่วไปด้วยเหตุผลด้านความคุ้มค่า และถึงแม้สายไฟเบอร์ทั้งสองแบบนี้จะนำมาใช้เชื่อมต่อกันได้เนื่องจากขนาดหน้าตัดโดยรวมเท่ากัน แต่การผสมสายไฟเบอร์มัลติโหมดหลายประเภทก็มีข้อควรพิจารณาอยู่บางประการ

เลือกใช้ให้ตรงตามเงื่อนไขที่มี
Advertisement

สำหรับนักออกแบบโครงสร้างพื้นฐานระบบสายใยแก้วนำแสงแล้ว สำคัญอย่างยิ่งที่ต้องทราบว่าควรใช้สายไฟเบอร์แบบไหน และควรใช้สายไฟเบอร์แค่ประเภทเดียวตลอดทั้งสายเพื่อป้องกันปัญหาด้านประสิทธิภาพการใช้งาน สำหรับสายแบบ OM4 แล้ว ด้วยคุณสมบัติที่ให้ค่าสัญญาณรบกวนต่ำกว่า ให้แบนด์วิธสูงกว่า จึงรองรับแบนด์วิธได้ทั้ง 40 และ 100 กิกะบิตได้ระยะทางยาวถึง 150 เมตร ขณะที่สายแบบ OM3 รองรับได้แค่ 100 เมตรเท่านั้น

กรณีถ้าคุณกำลังแก้ปัญหาเกี่ยวลิงค์สายไฟเบอร์ที่ยาวเกิน 100 เมตร ให้ตรวจสอบข้อความฉลากกำกับบนสายแม้ลูกค่จะอ้างว่าใช้แบบ OM4 อยู่ก็ตาม เนื่องจากเป็นไปได้ว่าสายที่ใช้งานจริงๆ อาจเป็น OM3 จนทำให้ค่าความสูญเสียสัญญาณตกเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้ การใช้จัมเปอร์เชื่อมสาย OM3 เข้ากับลิงค์ OM4 บางครั้งก็อาจจะทำให้สัญญาณสูญเสียได้ด้วยขึ้นกับระยะทาง โดยเฉพาะถ้าลิงค์ถูกใช้งานเต็มขีดจำกัดมาตั้งแต่แรก

อีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นได้คือ การนำสาย OM3 หรือ OM4 มาผสมกับสายไฟเบอร์รุ่นเก่าอย่าง OM1 62.5/125 ที่มีขนาดคอร์ใหญ่กว่าเท่ากับ 62.5 µm ซึ่งการนำสายที่มีคอร์ขนาดต่างกันมาเชื่อมกันนั้นก็เปรียบได้เหมือนกับการต่อท่อน้ำที่มีขนาดต่างกัน ที่เวลาน้ำไหลจากท่อใหญ่มายังท่อที่เล็กกว่าก็ต้องมีบางส่วนล้นรั่วออกมาตามช่องว่างโดยรอบของหน้าตัด ซึ่งกรณีดังกล่าวก็ใช้กับคลื่นแสงได้เช่นกัน นั่นคือ การนำสาย OM1 มาต่อเข้ากับสาย OM3 หรือ OM4 ก็ย่อมทำให้สูญเสียสัญญาณได้มาก ลองนึกภาพแสงที่ยิงมาเต็มหน้าตัดขนาด 62.5µm แล้ววิ่งต่อเข้าคอร์ที่มีขนาดเพียงแค่ 50µm ดู

คอยสังเกตสีบนสาย

โชคดีที่สาย OM1 จะเป็นสีส้ม ขณะที่สาย OM3 และ OM4 มักจะเป็นสีฟ้า ทำให้เราแยกความแตกต่างกันได้ง่าย แต่การแยกสายสีฟ้าที่เป็น OM3 และ OM4 นั้นไม่ง่ายเลย นอกจากคุณจะสามารถเข้าถึงตัวสายเพื่อพลิกดูข้อความที่ระบุไว้บนสายได้

ดังนั้น ในประเทศส่วนใหญ่ของยุโรป และเริ่มได้รับความนิยมในอเมริกา จะหันมาใช้สีชมพูม่วงที่เรียกว่า Erika Violet สำหรับสาย OM4 แทน ทำให้เวลาพบสายไฟเบอร์ที่ “สีชมพูแสบตา” ก็จะทราบได้ทันทีว่าคุณกำลังจัดการกับสายไฟเบอร์แบบ OM4 อยู่

แล้วสาย TRC ที่มีอยู่จะใช้ได้ไหม?

ถ้าคุณกำลังทดสอบระบบสายเคเบิลแบบ OM4 อยู่ ก็ไม่ต้องกังวลแม้สายเคเบิลอ้างอิงสำหรับทดสอบหรือ Test Reference Cord (TRC) ที่มากับชุดอุปกรณ์ Fluke Networks CertiFiber® Pro จะเป็นสายไฟเบอร์แบบ OM3 เนื่องจากสายไฟเบอร์ที่ใช้ใน TRC เหล่านี้วางตำแหน่งคอร์ตรงแกนกลางอย่างแม่นยำตลอดเส้น (ทำให้มีตำแหน่งศูนย์กลางเดียวกัน) ที่ทำให้ได้มาตรฐานของ Encircled Flux อยู่ตลอด

คุณจึงสามารถใช้สายอ้างอิงนี้ในการทดสอบสายไฟเบอร์มัลติโหมดขนาด 50µm ได้ทุกแบบเนื่องจากเราใช้วัดค่าการสูญเสียพลังงานแสงบนลิงค์ ไม่ได้ใช้วัดแบนด์วิธ แต่ถ้าคุณต้องการทดสอบสายไฟเบอร์รุ่นเก่าอย่าง OM1 62.5µm แล้ว คุณก็จำเป็นต้องใช้ TRC ที่มีขนาดคอร์ตรงกันด้วย แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา เนื่องจากทาง Fluke Networks ก็มี TRC ขนาด 62.5µm ให้ใช้เป็นทางเลือกเสริมด้วย

รายละเอียดทั้งหมดอ่านได้ที่นี่ – https://www.flukenetworks.com/blog/cabling-chronicles/mixing-multimode-fiber-types

สามารติดตามข้อมูลต่างๆ ได้ที่เพจ Fluke Network