หน้าแรก Networking & Wireless บทความน่ารู้ : ความแตกต่างระหว่าง Wi-Fi 6 และ Wi-Fi 6E

บทความน่ารู้ : ความแตกต่างระหว่าง Wi-Fi 6 และ Wi-Fi 6E

แบ่งปัน

เมื่อเร็วๆ นี้ ทาง Wi-Fi Alliance ได้ปฏิวัติการเรียกชื่อ หรือรีแบรนด์ชื่อมาตรฐานในชุด IEEE ของ Wi-Fi แบบต่างๆ ให้อยู่ในรูปที่เข้าใจได้ง่ายขึ้นมาก โดยแทนที่จะเสียเวลาแกะจากรหัสว่ามาตรฐานไหนมาก่อนมาหลังระหว่าง IEEE 802.11n, 802.11ac, และ 802.11ax นั้น ก็เปลี่ยนมาเรียกเป็น Wi-Fi 4, Wi-Fi 5, และ Wi-Fi 6 แทน เรียกว่าคนยุคใหม่โชคดีมากกับชื่อที่เห็นปู๊บรู้เลยแบบนี้ แต่อาจจะดีใจได้ไม่นานเมื่อพบการประกาศเปิดตัวมาตรฐานใหม่ล่าสุดในชื่อ Wi-Fi 6E ที่เริ่มมีรหัสแปลกปลอมต่อท้าย จนทำให้ผู้บริหารด้านไอทีทั้งหลายต่างสงสัยถึงความแตกต่างระหว่าง Wi-Fi 6 กับ Wi-Fi 6E และสิ่งที่ต่างกันดังกล่าวมีผลกับแผนการพัฒนาระบบแลนไร้สายของตัวเองในปัจจุบันหรือไม่

ทั้งนี้เป็นเพราะ Wi-Fi 6 เพิ่งออกมาให้ใช้ได้ไม่นาน จึงแปลกใจพอสมควรที่รีบมีการประกาศ Wi-Fi 6E ตัวถัดมา อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณพบว่า Wi-Fi 6E เองใช้สเปกตามมาตรฐาน IEEE เดียวกันกับ Wi-Fi 6 ทุกอย่าง เพียงแค่เพิ่มความสามารถในการใช้ย่านความถี่เข้ามา ก็น่าจะทำให้ชัดเจนง่ายขึ้น จริงๆ แล้ว Wi-Fi 6E เหมือนกับ Wi-Fi 6 ทุกกระเบียดนิ้ว เว้นแต่ว่าฮาร์ดแวร์ไร้สายที่เกี่ยวข้องจะสามารถเขยิบขึ้นไปใช้ช่วงย่านความถี่ไร้สายอิสระ (Unlicensed) ใหม่อย่าง 6 GHz ได้ด้วย หรือจะระบุให้ละเอียดกว่านี้ก็คือ ทาง Alliance วางแผนที่จะใช้ช่องสัญญาณ 80 MHz ทั้ง 14 ช่องควบคู่กับช่องสัญญาณแบบ 160 MHz เพิ่มอีก 7 ช่องสำหรับการใช้งานในสหรัฐฯ ขณะที่รัฐบาลประเทศอื่นทั่วโลกก็กำลังมองหาย่านความถี่อิสระ และช่องสัญญาณเพิ่มในทำนองเดียวกันด้วย

ความหมายของคำว่า E

ดังนั้น ตัว “E” ใน Wi-Fi 6E จึงย่อมาจาก “Extended” ที่สื่อถึงการขยายขอบเขตการใช้ย่านความถี่ไร้สายเพิ่มมากขึ้น นั่นคือ Wi-Fi 6E ได้ออกมาโดยมองว่า FCC จะเปิดการใช้งานย่าน 6 GHz ที่ไม่มีใครจับจองไว้เพิ่มสำหรับให้มาใช้กับ Wi-Fi ในอนาคต คุณอาจมองได้ว่า Wi-Fi 6E เป็นการเตรียมความพร้อมกับสิ่งที่ไม่แน่นอนล่วงหน้าเนื่องจากย่าน 6 GHz ยังไม่พร้อมให้ใช้งานอย่างอิสระในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ดี ถ้าคุณเคยได้ยินคำพูดของประธาน FCC อย่าง Ajit Pai ก็จะรู้ว่ามีการให้ความสำคัญมากกับเรื่องการเปิดย่านความถี่ให้ใช้นี้ โดยจากการแถลงเมื่อปีที่แล้ว Pai กล่าวว่า “เราคาดหวังที่จะผลักดันมาตรการเหล่านี้ เพื่อทำให้ย่านความถี่ 6 GHz ออกมาใช้งานอย่างอิสระได้อย่างรวดเร็ว” ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมทาง Wi-Fi Alliance ถึงก้าวล้ำหน้าไปก่อนด้วยการแจ้งกับสาธารณชนว่าจะมีมาตรฐานที่ขยายขีดความสามารถเพิ่มเติมของ Wi-Fi 6 ออกมา

จากมุมมองทางเทคนิคนั้น การเพิ่มช่วงความยาวคลื่นในย่านความถี่ 6 GHz นี้จะให้ประโยชน์ที่เหนือกว่าย่านความถี่ 2.4 และ 6 GHz ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันหลายประการ อย่างแรกก็คือ การเพิ่มช่องสัญญาณจะช่วยยกระดับความสามารถในการสื่อสารไร้สายในพื้นที่ที่มีอุปกรณ์ใช้งานอย่างหนาแน่นได้ ประการที่สอง การเพิ่มช่องสัญญาณที่กว้างถึง 160 MHz ถือเป็นวิธีที่ดีมากในการให้ทรูพุตแก่การใช้งานที่ผลาญแบนด์วิธสูงอย่างเช่น การสตรีมมิ่งวิดีโอความละเอียดสูงมาก ซึ่งจริงๆ แล้ว การใช้ย่านความถี่ 6 GHz ย่อมให้ความเร็วที่เหนือกว่าที่มีดีเลย์น้อยกว่ามาก แม้จะแลกด้วยระยะทางครอบคลุมสัญญาณที่น้อยกว่าย่านความถี่ 2.4 และ 5 GHz เล็กน้อยก็ตาม ประการสุดท้าย ย่าน 6 GHz นี้จะไม่โดนรบกวนสัญญาณ (ณ ตอนนี้) จากอุปกรณ์อื่นที่ไม่ได้ใช้ Wi-Fi แต่มาใช้ย่านความถี่ 2.4 และ 5 GHz เดียวกันในการทำงาน ดังนั้น สำหรับพื้นที่ที่มีการรบกวนสัญญาณที่ส่งผลต่อการสื่อสารผ่าน Wi-Fi 4,5, และ 6 ค่อนข้างมากนั้น มาตรฐาน Wi-Fi 6E จึงเหมาะกับการนำมาใช้เป็นอย่างยิ่ง

บทส่งท้าย

สำหรับองค์กรส่วนใหญ่ที่วางระบบ Wi-Fi 6 เรียบร้อยแล้ว แน่นอนว่าประโยชน์ที่มากขึ้นของ Wi-Fi 6E ยังไม่เพียงพอที่จะตัดสินใจอัพเกรดใหม่อีก ถึงอย่างไรก็ดี ถ้าเกิดเจอปัญหาเรื่องความแออัดในการใช้งาน, ความหน่วงหรือปัญหาทรูพุต, หรือแม้แต่เรื่องการรบกวนสัญญาณที่เป็นประเด็นสำคัญขึ้นมา หรือแม้แต่การมีแผนที่จะเพิ่มอุปกรณ์ IoT ไร้สายจำนวนนับร้อยนับพันตัวที่รองรับมาตรฐาน 6E ด้วยแล้ว สถาปนิกด้านเครือข่ายอาจหันมามองการอัพเกรดเครือข่ายแลนไร้สายส่วนหนึ่งมาใช้แอคเซสพอยต์ที่รองรับ Wi-Fi 6E เพิ่ม หรือถ้าคุณกำลังมีแผนที่จะอัพเกรดเครือข่ายของตัวเองที่ยังเป็น Wi-Fi 4 หรือ 5 อยู่ภายใน 6 – 18 เดือนข้างหน้า ก็อาจเลือกที่จะระงับแผนก่อนที่จะเห็นฮาร์ดแวร์ที่รองรับ 6E ออกมาให้ใช้งานอย่างแพร่หลายในตลาดก็ได้

ที่มา : Networkcomputing