หน้าแรก Networking & Wireless Fiber Optic เรื่องน่ารู้ : เกิดอะไรขึ้นกับสายมาตรฐาน Category 7?

เรื่องน่ารู้ : เกิดอะไรขึ้นกับสายมาตรฐาน Category 7?

แบ่งปัน

ถ้าคุณเสิร์ชกูเกิ้ลด้วยประโยคทำนองว่า “เคยเกิดอะไรขึ้นกับ” คำพูดที่ขึ้นต่อท้ายก็คงเป็นเรื่องเกี่ยวกับโรคระบาดที่เราเผชิญมาอย่างต่อเนื่องจนแทบไม่เห็นอนาคต ไปจนถึงอนาคตของประเทศที่หลายคนอยากหาคำตอบ หรือเรื่องสำคัญที่ยังไขไม่กระจ่างอย่างทำไมเงินคริปโตถึงรุ่งริ่งแบบนี้

แต่กับเราชาววิศวกรเครือข่ายที่ท่องมาตรฐานสายเคเบิลตั้งแต่ Cat 5e, Cat 6 แล้วเผลอๆ ข้ามไป Cat 8 เฉยเลยนั้น ก็คงอดไม่ได้ที่ต้องการหาคำตอบว่า ทำไมสาย Category 7 จึงไม่ได้มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย เหมือนจงใจให้ถูกลืม แม้แต่ถ้าคุณลองค้นในกูเกิ้ลก็แทบจะไม่เห็นข้อมูลเกี่ยวข้องมากอย่างที่ควรจะเป็น

ดังนั้น ทาง Fluke จึงพาคุณย้อนอดีตไปถึงมาตรฐานสายแลนอย่าง Category 7 กับปริศนาที่หลายคนสงสัยกันดังต่อไปนี้

ปีแห่งความยุ่งเหยิง
มาตรฐานสายเคเบิล Category 7 ถูกประกาศออกมาในปี 2002 ในฐานะส่วนหนึ่งของมาตรฐาน ISO/IEC 11801 ซึ่งออกแบบมาให้เข้ากับสเปกของแชนแนล Class F ที่เข้มงวดทั้งส่วนของครอสทอล์กและค่าการรบกวนสัญญาณ เป็นสายเคเบิล S/FTP แบบหุ้มฉนวนอย่างสมบูรณ์ด้วยฟลอยโลหะที่หุ้มแยกแต่ละคู่สาย พร้อมกับฉนวนด้านนอกที่สานกันแน่น หุ้มรอบทั้ง 4 คู่สายอีกชั้นหนึ่ง ทำงานบนความถี่ 600 MHz โดยตอนเปิดตัวนั้นต้องการให้สาย Category 7 รองรับความเร็วอีเธอร์เน็ตระดับ 10 กิกะบิตเป็นระยะทาง 100 เมตร แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า มาตรฐานอีเธอร์เน็ตระดับ 10 กิกะบิตที่วิ่งบนสายทองแดง หรือ 10GBASE-T นั้นกลับยังไม่ถูกรับรองทางการจาก IEEE จนกระทั่งถึงปี 2006!

ปี 2002 ยังเป็นปีที่ยุ่งมากสำหรับฝั่ง TIA โดยเฉพาะในการประกาศรับรองมาตรฐานสาย Category 6 ในเดือนมิถุนายนปีดังกล่าวที่ทำให้วงการเน็ตเวิร์กก้าวขึ้นสู่อีกระดับหลังจากใช้เวลายาวนานมากกว่า 5 ปีในการแก้ปัญหาทางเทคนิคทั้งหลายที่เป็นอุปสรรคต่อการรองรับกิกะบิตอีเธอร์เน็ต ซึ่งในช่วงเวลาใกล้กันนั้น TIA ก็ยังออกมาตรฐาน 607-A ที่กล่าวถึงการต่อสายกราวด์และการลากสาย และมาตรฐานการจัดการสายเคเบิลอย่าง 606-A ที่เป็นแนวทางในการกำหนดชื่อกับทุกองค์ประกอบตั้งแต่เอาต์เล็ตและสายเคเบิลไปจนถึงจุดรวมการเชื่อมต่อและตำแหน่งที่เกี่ยวข้องด้วย

ด้วยเหตุที่งาน TIA ยุ่งมากถึงมากที่สุดในปีนั้น (ซึ่งเป็นปีที่เต็มไปด้วยมาตรฐานจิปาถะอื่นๆ อีกมากมายที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาในปีเดียวกัน) การมีสาย Category 7 ออกมาพร้อมกันด้วยจึงถือว่าเร็วเกินไปหน่อย แถมยังไม่มีรูปแบบการประยุกต์ใช้เวลาดังกล่าว ทำให้ทาง TIA ตัดสินใจยังไม่ประกาศรับรอง Category 7 อย่างเป็นทางการ ทำให้ไม่ค่อยมีสาย Cat 7 ออกมาวางจำหน่ายในตลาดโดยเฉพาะแถบอเมริกาเหนือ แม้จะถูกนำมาติดตั้งในประเทศอย่างสวิสเซอร์แลนด์และเยอรมันมากกว่าเนื่องจากถือเป็นมาตรฐานสายเคเบิลแบบหุ้มฉนวนที่เหมาะกับกฎระเบียบฝั่งยุโรปอย่าง EMC ที่เข้มงวดกว่ามาก

จุดเด่นที่ถูกมองข้าม
จากการที่ไม่ได้รับความสนใจจากตลาดส่วนใหญ่เท่าที่ควร และถูกกระแสของการประกาศรับรองมาตรฐานอย่าง Category 6 และการเปิดตัวระบบสายเคเบิลแบบ Category 6A ครั้งแรกในตลาดหลังจากนั้นเพียงแค่ 2 ปี (ซึ่งมาไวกว่าการประกาศรับรองทางการของ TIA ในปี 2008 เสียอีก) ทำให้ไม่แปลกใจเลยที่บางคนจะแทยไม่เคยได้ยินคำว่า Category 7 มาก่อน ทั้งๆ ที่ตอนที่ออกมานั้นก็นับเป็นมาตรฐานระบบสายเคเบิลหนึ่งเดียวในทางเทคนิคที่รองรับ 10GBASE-T ตั้งแต่ตอนเปิดตัว

และนั่นก็ไม่ใช่ประโยชน์เพียงอย่างเดียวของ Category 7 ที่ควรกล่าวถึง สายมาตรฐาน Category 7 ยังสามารถใช้เข้าหัวกับหัวต่อที่เข้ากันได้กับ RJ45 อย่างเช่นหัวต่อ GG45 หรือหัวต่อ TERA ด้วย (ซึ่งจะอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ในบล็อกถัดไปของ Fluke) ซึ่งดีไซน์แบบ Four-Quadrant ของหัวต่อ TERA เมื่อใช้ร่วมกับคู่สายย่อยที่มีการหุ้มฉนวนแยกกันทั้ง 4 คู่สายองสายเคเบิลแบบ Category 7 ก็ทำให้แยกรูปแบบการประยุกต์ใช้บนแต่ละคู่สายย่อยกันได้ เรียกว่าการแชร์สายเคเบิล นั่นหมายความว่าบนแชนแนลที่เป็นสาย Category 7 เส้นเดียวกันก็สามารถตั้งค่าให้รองรับ 10/100BASE-T บนแค่สองคู่สาย ขณะที่อีกสองคู่สายสามารถวิ่งเป็นแชนแนลแบบ 10/1000BASE-T, ใช้เป็นแชนแนล VoIP, หรือเป็นแชนแนลวอยซ์แบบอนาล็อกต่อหนึ่งคู่สายได้ด้วย

แล้วประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอย
แม้จะมีความสามารถโดดเด่นอย่างการแชร์สายเคเบิลเดียวกันได้ แต่สาย Category 7 กลับไม่ได้รับโอกาสเท่าที่ควร ต่อมาในปี 2010 ทาง ISO/IEC ก็ได้เปิดตัวแชนแนล Class FA และสายเคเบิลแบบ Category 7A ที่ออกแบบมาให้รองรับอีเธอร์เน็ตระดับ 40 กิกะบิตบนสายทองแดงในอนาคตเป็นหลัก โดยสาย Category 7A ได้ยกระดับจากความถี่ 600 MHz เดิมของ Category 7 ขึ้นมาเป็น 1000 MHz ประเด็นคือกลายเป็นการเปิดตัวก่อนเวลาอันควรอีกแล้ว (เนื่องจาก 40GBASE-T เพิ่งผ่านการรับรองมาตรฐานเมื่อสองปีก่อนหน้านี้เอง) ทั้งนี้ด้วยความถี่ระดับ 1000 MHZ และช่วงความแตกต่างของดีเลย์ที่ต่ำทำให้สาย Category 7A เหมาะอย่างยิ่งสำหรับ CATV และการใช้งานวิดีโอแบบอื่นๆ ที่ต้องการความถี่สูง จนทำให้ผู้ผลิตอุปกรณ์ AV บางรายระบุให้ใช้สาย Category 7A ในระบบของตัวเอง

แม้มาตรฐานดังกล่าวจะยังไม่เคยได้รับการรับรองจากฝั่ง TIA แต่ปัจจุบันก็ยังพบการใช้งานสาย Category 7A ในงานเฉพาะด้านอย่าง AV และการแชร์สายเคเบิล และยังเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมในการลากสายแลนในยุโรปอยู่ ซึ่งเป็นการปิดฉากการใช้สาย Category 7 เดิมกลายๆ (แม้เราจะไม่เคยทราบมาก่อนด้วยซ้ำว่ามี Cat 7 มาก่อนด้วย) และโชคไม่ดีที่ประสิทธิภาพด้านความถี่ที่ 1000 MHz ของสาย Category 7A ก็ยังไม่รองรับ 40GBASE-T ได้เต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น จนทำให้ทาง IEEE ออกมากำหนดมาตรฐานสายหุ้มฉนวน Category 8 (TIA) และ Category 8.1/8.2 (ISO/IEC) ที่ใช้ความถี่ 2000 MHz แทน แต่ก็มีข่าวลือว่าสามารถแก้ให้สายเคเบิลแบบ Category 7A ขึ้นมาอยู่ระดับเดียวกับ Category 8 ได้ง่ายๆ เช่นกัน เนื่องจากก็มีการหุ้มฉนวนเต็มรูปแบบ และให้ประสิทธิภาพล้ำหน้ากว่าสาย Category 6A อยู่แล้ว

ที่มา : https://www.flukenetworks.com/blog/cabling-chronicles/what-ever-happened-category-7