หน้าแรก Networking & Wireless ข้อมูลควรรู้ก่อนการนำ Wi-Fi แบบ Mesh มาใช้ในระดับองค์กร

[บทความ] ข้อมูลควรรู้ก่อนการนำ Wi-Fi แบบ Mesh มาใช้ในระดับองค์กร

แบ่งปัน
network
Image credit : quantumfsd.com

จากกระแสการใช้ระบบ Wi-Fi ตามบ้านแบบ Mesh ที่ฮอตฮิตขึ้นมาเรื่อยๆ ด้วยผู้นำในตลาดอย่าง Google, Eero, Ubiquity, และ Linksys ทำให้ผู้ใช้ระดับองค์กรต้องเริ่มทบทวนอีกครั้ง ว่าเทคโนโลยีไร้สายแบบ Mesh นี้ได้ก้าวกระโดดจนเอาชนะข้อจำกัดด้านประสิทธิภาพการใช้งานที่จำเป็น ที่เมื่อก่อนเคยเป็นจุดบอดจนไม่สามารถบุกตลาดระดับบนนี้ได้หรือยัง

Wi-Fi แบบ Mesh คือการที่มีแอคเซสพอยต์เครื่องเดียวที่เชื่อมต่อเข้ากับระบบแลนแบบใช้สาย จากนั้นเกตเวย์ Wi-Fi เครื่องนี้ก็จะเชื่อมต่อกับรีพีตเตอร์ตัวอื่นผ่านสัญญาณไร้สาย ที่มีการติดตั้งกระจายกันทั่วพื้นที่ที่ต้องการ ทำให้ช่วยกันกระจายสัญญาณจนครอบคลุมทุกบริเวณ โดยเฉพาะจุดที่มักจะเป็นจุดบอดเมื่อใช้ระบบ Wi-Fi ที่แพร่สัญญาณจากส่วนกลางแค่จุดเดียว

เทคโนโลยี Wi-Fi แบบ Mesh ไม่ใช่ของใหม่แต่อย่างใด แต่มีมานานนับหลายสิบปีแล้วโดยเฉพาะในตลาดระดับองค์กร โดยองค์กรมักจะเลือกระหว่าง การติดตั้งแอคเซสพอยต์ที่ใช้สายแลนต่อ หรือจะใช้การวางระบบ Mesh ซึ่งเมื่อก่อนระบบ Mesh นี้มักจำกัดการใช้อยู่ที่บริเวณภายนอกอาคาร เช่น สวนสาธารณะ, ชายหาด, หรือระหว่างอาคารที่ไม่มีสายเชื่อมต่อทางกายภาพระหว่างกัน แต่ตอนนั้นองค์กรพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ Mesh เนื่องจากระบบนี้มักจะช้าและไม่เสถียร

ปัญหาที่มักพบกับระบบ Mesh แบบเดิมได้แก่ การส่งสัญญาณที่กระโดดมาจากแอคเซสพอยต์หรือรีพีตเตอร์ตัวหนึ่งนั้น สัญญาณที่ทำซ้ำกระจายออกมาอีกรอบมักมีความเร็วลดลงกว่าครึ่ง เนื่องจากสถาปัตยกรรมแบบ Half-Duplex ของสัญญาณไร้สายเอง ดังนั้น ถ้าคุณรันเครือข่าย Wi-Fi แบบ Mesh มาตรฐาน 802.11g ที่มีความเร็วตั้งต้นอยู่ที่ 54Mbps แล้ว การเชื่อมต่อในจุดที่กระโดดออกต่อๆ มา หรือ Hop ก็จะช้ามากถึงมากที่สุด นั่นคือ ถ้าอุปกรณ์ปลายทางต้องเชื่อมต่อกับ Hop ที่อยู่อันดับ 3 ถัดมาจากแอคเซสพอยต์หลักแล้ว จะได้ทรูพุตเหลือแค่ 2 – 5Mbps เท่านั้น ยิ่งมีเครื่องปลายทางที่มาแย่งใช้ Hop เดียวกันมากเท่าไร ก็ยิ่งช้าหารกันลงไปเท่านั้น

แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันอย่าง 802.11ac ที่ใช้แอคเซสพอยต์แบบ Wave 1 และ 2 ในลักษณะการปล่อยหลายสัญญาณพร้อมกัน จนได้ทรูพุตสูงถึง 400Mbps – 1Gbps ทำให้การวางระบบแบบ Mesh เริ่มใช้งานได้จริงมากขึ้นในระดับองค์กร ตราบเท่าที่ยังจำกัดจำนวน Hop สูงสุดอยู่ที่ 3 Hop

ยิ่งไปกว่านั้น แอคเซสพอยต์ในปัจจุบันมีการใช้คลื่นความถี่หลายช่วงพร้อมกัน เพื่อไม่ให้สัญญาณทับกัน เช่น การแยกคลื่นให้กับแต่ละอุปกรณ์ออกจากกันโดยเฉพาะ รวมทั้งแยกออกจากคลื่นความถี่ที่ใช้สื่อสารกับระบบ Mesh แกนหลัก ซึ่งช่วยขจัดปัญหาการรบกวนสัญญาณระหว่างทาง ที่เมื่อก่อนที่ใช้คลื่นความถี่เดียวกันหมดทั้ง Mesh ทำให้การรบกวนสัญญาณเกิดการสะสมตลอดทางจนกระทบกับความเร็วสุดท้ายที่เครื่องผู้ใช้ปลายทางได้รับ

ถือว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยี Wi-Fi แบบ Mesh นี้ ทำให้องค์กรได้ทางเลือกมากขึ้นในการติดตั้ง โดยเฉพาะบริเวณที่ระบบอีเธอร์เน็ตที่ใช้สายไม่สามารถติดตั้งได้ หรือแพงเกินไป รวมทั้งนอกจากบริเวณภายนอกอาคารแล้ว ในอาคารบางอย่างเช่นโบราณสถานที่ห้ามไม่ให้ลากสายติดตั้ง หรือพื้นที่อาคารให้เช่า หรือพื้นที่จัดงานชั่วคราว ก็ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะนำ Mesh Wi-Fi มาใช้ คุณควรวางแผนการวางตัวรีพีตเตอร์ โดยเฉพาะการจ่ายพลังงานไฟฟ้า เพราะถ้าไม่ใช้สายแลน ก็ไม่สามารถใช้การจ่ายไฟฟ้ามาพร้อมกับสายแลนหรือ PoE ได้ นอกจากนี้ ต้องพยายามทำให้จำนวน Hop ที่ออกจากศูนย์กลางมีจำนวนน้อยที่สุด และควรคำนึงถึงการหลีกเลี่ยงการรบกวนสัญญาณจากสภาพแวดล้อมแบบต่างๆ ด้วย คุณอาจจะใช้การออกแบบแบบกระจายหลายเส้นทางหรือ Multi-Path เพื่อแก้ปัญหานี้ได้ครับ

ที่มา : http://www.networkcomputing.com/wireless-infrastructure/wireless-mesh-networks-enterprise/2108036920