หน้าแรก Networking & Wireless บทความน่ารู้ – ระบบ Mesh กับตัวขยายสัญญาณไวไฟ: อันไหนเหมาะกับเรากว่ากัน?

บทความน่ารู้ – ระบบ Mesh กับตัวขยายสัญญาณไวไฟ: อันไหนเหมาะกับเรากว่ากัน?

แบ่งปัน

ปัญหาพื้นที่อับสัญญาณเน็ตยังคงหลอกหลอนเราอยู่เสมอ ไม่จำเป็นต้องเป็นเขตกันดารห่างไกลความเจริญอย่างเดียว แม้แต่ในบ้านอย่างบางมุมของห้องนอนเรา ในโฮมออฟฟิศบางตำแหน่ง หรือแม้แต่บางจุดในสำนักงานก็มีปัญหาทั้งนั้น

ธุรกิจที่ต้องการแก้ปัญหาดังกล่าว หรือเพิ่มความครอบคลุมสัญญาณ ก็มักมองอยู่สองวิธีได้แก่การใช้เครือข่ายกระจายสัญญาณแบบ Mesh หรือใช้ตัว Wi-Fi Extender ซึ่งทั้งสองแบบนี้มีวัตถุประสงค์การใช้งานแตกต่างกันเล็กน้อย

ตัวขยายสัญญาณ Wi-Fi คือ?

Wi-Fi Extender หรือบางทีเรียกว่า Wi-Fi Repeater เป็นการเอาสัญญาณไวไฟเดิมที่มีอยู่มาขยายให้ครอบคลุมกว้างมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นแบบใช้ง่าย Plug-and-Play เสียบปุ๊บใช้ได้เลย แม้บางรุ่นอาจต้องอาศัยต่อสายแลนร่วมด้วย

อย่าลืมว่านี่เป็นแค่การขยายความครอบคลุมสัญญาณ ไม่ได้เพิ่มแบนด์วิธหรือความเร็วตามมาด้วย ถือเป็นโซลูชั่นราคาถูกไว้แก้ปัญหาจุดอับสัญญาณในบ้านหรืออฟฟิศ จึงเหมาะกับอาคารขนาดเล็กๆ มากกว่าสำนักงานขนาดใหญ่

แล้ว Mesh Network คืออะไร?

ระบบ Mesh Wi-Fi ประกอบด้วยเราท์เตอร์คอร์หลัก และเราท์เตอร์ย่อยๆ ที่เรียกว่า Node รูปลักษณ์เล็กกะทัดรัดเหมือนอุปกรณ์อัจฉริยะในบ้านทั่วไป แต่การเชื่อมต่อกันเป็นร่างแหหรือ Mesh ของโหนดเหล่านี้ สื่อสารระหว่างกันแบบนี้จะช่วยให้ได้ทั้งความเร็วและความครอบคลุมที่เพิ่มขึ้นพร้อมๆ กัน

นี่จึงเป็นจุดต่างจากตัว Wi-Fi Extender ทั่วไป เนื่องจากตัวขยายสัญญาณไวไฟจะสื่อสารกับเราท์เตอร์หลักตัวเดียวเท่านั้น ไม่ได้มีการแชร์ทราฟิกสื่อสารระหว่างตัวขยายสัญญาณด้วยกันด้วย

หลักการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง

สำหรับตัวขยายสัญญาณไวไฟนั้น จะเป็นการเอาสัญญาณจากเราท์เตอร์ต้นกำเนิด ขยายส่งต่อไปยังตำแหน่งที่เดิมส่งไปไม่ถึง ซึ่งหลายครั้งจะเป็นการสร้างเครือข่ายไวไฟใหม่เป็นชื่อของตัวเองแทนที่จะเป็นการผสานเข้าเครือข่ายแกนหลักเดิมเหมือนกรณี Mesh

โดยเวลาที่คุณเชื่อมต่อกับตัว Repeater หรือ Extender นั้น คุณไม่ได้เชื่อมต่อกับเราท์เตอร์หลักโดยตรง จุดนี้เองที่มักสร้างปัญหาหรือติดขัดบ้างเวลาเอาอุปกรณ์มาเชื่อมต่อไวไฟผ่านตัวขยายสัญญาณที่บางทีก็ทำงานไม่เหมือนกับต่อเราท์เตอร์ตรง

ในทางกลับกัน ระบบ Mesh จะใช้อัลกอริทึมสื่อสารที่ไม่ใช่แค่กับเราท์เตอร์หลักในฐานะฮับเท่านั้น แต่ยังสื่อสารระหว่างเราท์เตอร์โหนดด้วยกันด้วย จึงสามารถแบ่งโหลดได้อย่างยืดหยุ่นเวลาที่คุณต้องการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเครือข่าย

เรามักจะเห็นการวางเครือข่าย Mesh ในพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่อย่างเช่นมหาวิทยาลัย อาคารสำนักงาน หรือสนามกีฬา เพื่อให้การเชื่อมต่อที่ต่อเนื่องไม่สะดุดภายในพื้นที่กว้างขนาดใหญ่ที่มีจำนวนผู้ใช้หนาแน่น เรียกว่าเสมือนเป็นวงออเครสตร้าที่บรรเลงได้ทั้งวง แทนที่จะแค่ขยายสัญญาณต่อๆ กันมา

แล้ว Mesh ก็ดีกว่า Extender ล่ะสิ?

ในแง่ของค่าใช้จ่ายแล้ว ตัวขยายสัญญาณถูกกว่าแน่นอน มีชิ้นส่วนอุปกรณ์รวมๆ น้อยกว่า ไม่ต้องใช้ความรู้ทางเทคนิคมากเท่า ลงตัวกับผู้ใช้ระดับคอนซูเมอร์ทั่วไปที่มักใส่ใจด้านราคามากกว่า แถมยังเชื่อมต่อง่าย เสียบปุ๊บหรือกดปุ่มเดียวก็ใช้ได้ทันที

แต่ก็ไม่สามารถรองรับในพื้นที่ขนาดใหญ่ได้ ตัวขยายสัญญาณเหมาะกับพื้นที่เล็กๆ ที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่ไม่ค่อยย้ายหรือเคลื่อนที่เท่าไร เพราะการที่ใช้กลไกการสร้างเครือข่ายใหม่ของตัวเองนั้นมักทำให้การย้ายตำแหน่งเชื่อมต่อไปเรื่อยๆ มีปัญหา

แต่ปัญหานี้จะหมดไปเมื่อใช้เครือข่าย Mesh ที่ราคาและความซับซ้อนสูงกว่ามาก โหนดต่างๆ ก็เหมือนกลุ่มเครื่องเราท์เตอร์ที่คุณต้องคอยตั้งค่าแต่ละตัวอย่างเหมาะสม แต่ก็แลกมาด้วยความปลอดภัยและความเสถียรที่เหนือชั้น

อ่านเพิ่มเติมที่นี่ – ITPro