หน้าแรก Networking & Wireless ตามไปดู 5 แอพฯ แอนดรอยด์ สำหรับวิเคราะห์และสำรวจสัญญาณ Wi-Fi

ตามไปดู 5 แอพฯ แอนดรอยด์ สำหรับวิเคราะห์และสำรวจสัญญาณ Wi-Fi

แบ่งปัน

การวางระบบเครือข่าย Wi-Fi นั้น มีสารพัดปัจจัยที่ทำให้ชีวิตการทำงานไม่ค่อยสงบสุขเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของกำแพง, วัสดุ, หรือสิ่งของที่อาจกระทบกับสัญญาณไร้สาย ซึ่งการทำให้มองเห็นการเคลื่อนที่ของสัญญาณอย่างเป็นรูปธรรมนั้นเป็นไปได้ยากมากถ้าไม่มีเครื่องมือที่เหมาะสม

เครื่องมือต่างๆ ได้แก่ ตัวจับสัญญาณรอบตัวหรือ Stumbler ที่ใช้หาระดับสัญญาณอย่างง่ายๆ ไปจนถึงทูลสำรวจสัญญาณอย่างละเอียดหรือ Surveying ที่สร้างภาพการครอบคลุมของสัญญาณ รวมถึงการรบกวน และประสิทธิภาพการสื่อสารได้ละเอียดบนแผนที่ที่กำหนด ที่ทำให้คุณทำงานได้ง่ายอย่างแท้จริง

แต่ทูลเซอร์เวย์บนวินโดวส์ส่วนใหญ่มักมีฟีเจอร์และฟังก์ชั่นการทำงานที่หลากหลายกว่าทูลบนแอนดรอยด์ ไม่ว่าจะเป็นตัวตรวจจับระดับสัญญาณรบกวน รวมทั้งการทำภาพข้อมูลบนแผนที่แบบแยกตามสีชัดเจนหรือ Heatmap

ซึ่งถ้าคุณไม่ยึดติดกับความไฮโซระดับนั้น ก็สามารถใช้แอพที่เกี่ยวข้องมากมายให้เลือกใช้บนทั้งสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต เพื่อลดภาระทั้งการดูแลรักษาและอำนวยความสะดวกในการทำงาน แต่แอพที่ใช้ได้ตอนนี้มีแค่บนแอนดรอยด์เท่านั้น เพราะบน iOS ยังไม่อนุญาตให้นักพัฒนาสามารถเขียนโปรแกรมให้เข้าถึงข้อมูล Wi-Fi ได้ ทั้งนี้ทาง NetworkWorld.com ได้แนะนำแอพเซอร์เวย์ 5 ตัวที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

1.  iBwave Wi-Fi Mobile เป็นเหมือนเวอร์ชั่นย่อส่วนจากบนพีซี ซึ่งซิงค์ข้อมูลกับบนคลาวด์ตลอด จึงสะดวกมากในการแบ่งปันข้อมูล รวมถึงการเปลี่ยนย้ายอุปกรณ์ที่ใช้งาน โดยเฉพาะระหว่างพีซีและอุปกรณ์พกพา รวมทั้งยังให้ผู้ใช้ หรือแม้แต่เธิร์ดปาร์ตี้ภายนอกเรียกดูข้อมูลเซอร์เวย์ และสร้างรายงานในรูปแบบของตัวเองได้ด้วย สำหรับราคานั้นคิดเป็นค่าสมาชิกตั้งแต่ 625 ดอลลาร์ฯ สำหรับ 3 เดือน หรือ 1,250 ดอลลาร์ฯ สำหรับ 12 เดือน หรือจะซื้อเป็นไลเซนส์ตลอดชีพด้วยราคา 2,680 ดอลลาร์ฯ ซึ่งถือว่าแพงที่สุดในบรรดาแอพที่รีวิวนี้ แต่ถ้าคุณต้องการใช้งานเพียงเวลาสั้นๆ ก็ถือเป็นทางเลือกที่พอคุ้มค่า2.  iMapper WiFi Pro มีรุ่นฟรีที่มีฟีเจอร์จำกัดให้ใช้ เช่น สามารถบันทึกได้แค่สองโปรเจกต์ แต่รุ่นจำหน่ายก็มีราคาถูกอยู่แค่ 7.06 ดอลลาร์ฯ จาก Google Play ซึ่งนอกจากฟีเจอร์พื้นฐานการสำรวจเครือข่ายไร้สายอย่าง Heatmap แล้ว ก็มีทูลทดสอบ Wi-Fi กระจุ๊กกระจิกพอเป็นน้ำจิ้ม พอให้สมราคา ในการทำเซอร์เวย์แมปนั้น สามารถเพิ่มแผนที่เข้าไปได้แค่โปรเจ็กต์ละรูปเท่านั้น นั่นคือถ้าอาคารมีหลายชั้น ก็ต้องเซฟแยกหลายโปรเจ็กต์ แถมยังไม่สามารถส่งออกข้อมูลที่สำรวจได้ไปใช้ข้างนอกได้นอกจากการแคปหน้าจอเป็นภาพเฉยๆ ดังนั้นทาง NetworkWorld.com จึงแนะนำให้ใช้แอพนี้เฉพาะการติดตั้งเล็กๆ ง่ายๆ ไม่ซีเรียส แทนที่จะเอาไปใช้ในระดับธุรกิจ


3.  WiFi Analyzer and Surveyor มีแต่เวอร์ชั่นฟรีให้ใช้ ที่มาพร้อมกับฟังก์ชั่นการสำรวจแบบโคตรเบสิก ในแอพนี้จะแบ่งส่วนการใช้งานเป็นส่วนการวิเคราะห์ข้อมูล (Analyzer) และส่วนการสำรวจเครือข่าย (Surveyor) ซึ่งส่วนหลังนั้นคุณสามารถนำเข้าแผนที่จากรูปในโทรศัพท์หรือดรอปบ็อกซ์ได้อย่างง่ายดาย แต่ไม่สามารถสั่งถ่ายรูปแผนที่จากแอพโดยตรงได้เหมือนแอพอื่น และไม่สามารถเลือกดูพื้นที่ครอบคลุมสัญญาณเฉพาะแต่ละ AP ได้ ต้องเลือกเป็นทั้ง SSID อย่างเดียว และแม้จะมีรายงานสำรวจเป็นแผนภาพแสดงการครอบคลุมสัญญาณสองแบบ คือแบบ Heatmap และแบบที่แสดงความเข้มข้นของสัญญาณ แต่ก็ดูไม่แตกต่างกันเท่าไร จึงมองว่าแอพนี้ยังไม่เหมาะกับการสำรวจพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่ก็ใช้ได้พอสมควรกับเครือข่ายขนาดเล็ก หรือสำรวจแค่บางส่วนของเครือข่ายขนาดใหญ่


4.  Wi-Fi Visualizer เป็นอีกแอพง่ายๆ ที่ให้ฟังก์ชั่นการทำงานขั้นพื้นฐานทั้งการสำรวจแบบ Heatmap และทูล Wi-Fi จิปาถะ ซึ่งในหน้าการสำรวจนั้นนอกจากจะให้ข้อมูลเลขไอพีและสถานะของเครือข่ายไร้สายทั่วไปแล้ว ยังขึ้นข้อมูลความกว้างของช่องสัญญาณ และศูนย์กลางของแต่ละช่องสัญญาณด้วย โดยคุณสามารถคลิกเข้าไปดูแต่ละแท๊บสำหรับข้อมูลแต่ละแชนแนล และกราฟแสดงข้อมูลของสัญญาณทั้งย่าน 2.4GHz และย่าน 5GHz “แต่ละชนิด” นั่นคือ คุณไม่สามารถให้แอพแสดงข้อมูลการสำรวจสัญญาณ 5GHz ทุกรูปแบบในหน้าเดียวกันได้ และแม้ไม่สามารถคัดกรองการแสดงผลตาม SSID และ BSSID หลายอันพร้อมกันได้เช่นกัน แต่ก็สามารถกดบันทึกหน้าของ SSID และกราฟที่ต้องการเพื่อกลับมาดูทีหลังได้ง่ายและสะดวก ทาง NetworkWorld.com แนะนำให้เก็บแอพนี้ไว้ใช้นอกจากทูลอื่นที่คุณอาจมีที่ดีกว่าอยู่แล้ว เนื่องจากมีฟีเจอร์ที่ค่อนข้างเป็นประโยชน์พอสมควร


5.  WiTuners Mobile เป็นทูลสำหรับสำรวจ ณ ที่ตั้งจริงโดยเฉพาะ ออกมาทั้งเวอร์ชั่นฟรีที่ให้คุณบันทึกข้อมูลแค่ 5 โปรเจ็กต์ กับแบบซื้อขาดด้วยราคาถึง 599 ดอลลาร์ณ ที่มาพร้อมกับบริการซัพพอร์ตตลอดอายุการใช้งาน ซึ่งนอกจากใช้สำรวจแบบเรียกดูข้อมูลจากอุปกรณ์เครือข่ายอื่นหรือแบบ Passive แล้ว ยังสำรวจจากตัวอุปกรณ์พกพาเองด้วยการใช้ iPerf หรือ Ping ได้ด้วย และเวอร์ชั่นเสียตังค์ยังตั้งค่าให้รวบรวมข้อมูลอย่างต่อเนื่องได้ ทำให้คุณสามารถเรียกดูแผนผังการสำรวจจากระยะไกลแบบเรียลไทม์ผ่าน WiTuners Planner ได้ด้วย โดยรวมแล้วมองว่าแอพนี้มีความน่าเชื่อถือมากพอที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในระดับองค์กร แต่ไม่แน่ใจว่าจะเสถียรพอเมื่อนำมาใช้กับเครือข่ายขนาดใหญ่จริงๆ หรือไม่

ที่มา : http://www.networkworld.com/article/3211289/mobile-wireless/5-wi-fi-analyzer-and-survey-apps-for-android.html