หน้าแรก Networking & Wireless บทความสั้น – มารู้จักกับเทคโนโลยี Wi-Fi “Beamforming” กันเถอะ

บทความสั้น – มารู้จักกับเทคโนโลยี Wi-Fi “Beamforming” กันเถอะ

แบ่งปัน

เราท์เตอร์ Wi-Fi รุ่นใหม่ๆ เริ่มใช้ศัพท์เฉพาะที่เราไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน เช่น Beamforming โดยโฆษณาว่าเป็นฟีเจอร์ใหม่ที่ช่วยเพิ่มความเร็วในการรับส่งข้อมูล ทำให้เราสงสัยว่ามันคืออะไรกันแน่ แล้วควรค่าแก่การลงทุนซื้อระบบใหม่เพื่อฟีเจอร์ใหม่นี้ไหม

มาตรฐานที่รองรับ

เทคโนโลยี Digital Beamforming มาพร้อมกับมาตรฐาน Wi-Fi 802.11ac เรียกได้ว่าเราท์เตอร์แบรนด์ไหนใช้ 802.11ac ก็ “อาจ” มีเทคโนโลยีใหม่นี้ทั้งสิ้น ถ้าเทียบกับเราท์เตอร์แบบเดิมๆ ที่ส่งสัญญาณกระจายไปทั่วรอบทิศทางแบบ Omni-Directional แล้ว การรวมสัญญาณยิงเป็นลำแนวเดียวหรือ Beamforming ย่อมทำให้ได้สัญญาณที่เข้มข้น ไม่กระจายพลังงานจนสูญเสียไปโดยใช่เหตุ

โดยกลไกหลักคือการที่อุปกรณ์ลูกข่ายบอกเราท์เตอร์ว่าตนเองอยู่ทิศทางไหน เพื่อให้เราท์เตอร์ยิงคลื่นแบบทิศทางเดียวมายังอุปกรณ์เครื่องลูกได้ถูกต้อง ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากเวลาต้องการความต่อเนื่องในการเชื่อมต่อ เช่น เวลาสตรีมหนังหรือเล่นเกมส์

แต่ถ้าพูดถึงความจำเป็นแล้ว Beamforming ไม่ใช่พระเจ้า ไม่ใช่ไม้กายสิทธิ์ที่จะมาแก้ปัญหาการเชื่อมต่อช้าหรือขาดๆ หายๆ ได้หมดทุกกรณี เป้าหมายหลักของการรวมสัญญาณยิงไปในทิศทางเดียวคือการเพิ่มระยะการสื่อสารที่ยังไม่สูญเสียพลังงานมากเกินไป หรือเป็นการขยายขอบเขตระยะการเชื่อมต่อนั่นเอง

ดังนั้นถ้าคุณกำลังมีปัญหาว่าส่วนใดส่วนหนึ่งของบ้านหรือสำนักงานอยู่ห่างจากเราท์เตอร์มากเกินไป Beamforming ก็สามารถช่วยคุณได้ แต่แน่นอนว่าระยะห่างนั้นไม่ใช่แค่สาเหตุเดียวของปัญหาการเชื่อมต่อ เวลาสัญญาณไวไฟวิ่งออกมาจากเราท์เตอร์นั้นสามารถสูญเสียพลังงานได้จากทางอื่นนอกจากระยะทางที่ไกลขึ้นด้วย เช่น เวลาสัญญาณวิ่งผ่านกำแพง หรือวัตถุที่เป็นโลหะขนาดใหญ่ที่ดูดสัญญาณได้ดี กรณีเหล่านี้ฟีเจอร์ Beamforming ก็ไม่สามารถช่วยได้

การแก้ปัญหาที่ง่ายขึ้น

วิเคราะห์ง่ายๆ ว่า ถ้าคุณมีปัญหาการเชื่อมต่อไวไฟกับเราท์เตอร์แค่ทิศทางเดียว เช่น เวลาเดินไปตรงตำแหน่งนั้นของบ้านแล้วสัญญาณดรอปลง แต่การเชื่อมต่อที่ตำแหน่งอื่นของบ้านเป็นปกติแล้ว การทำ Beamforming ก็อาจเป็นคนช่วยชีวิตคุณได้ เหมือนกับการใช้ตัวขยายสัญญาณหรือ Wi-Fi Extender แก้ปัญหาจุดอับสัญญาณ แต่ถ้าเป็นกรณีที่อุปกรณ์อื่นๆ ที่อยู่ใกล้เราท์เตอร์เข้ามาหน่อยก็สัญญาณดรอปลงด้วย หรือเกิดปัญหาหลายตำแหน่งภายในบ้าน เทคนิคนี้ก็อาจไม่ได้ช่วยเหลือสักเท่าไร

ทีนี้มาถึงปัญหาคาใจที่ว่า Beamforming สามารถเพิ่มสปีดเน็ทให้มากกว่าปกติได้ไหม คำตอบคือทั้งใช่และไม่ใช่ คือ Beamforming ไม่สามารถเพิ่มขีดจำกัดความเร็วสูงสุดของไวไฟจากเราท์เตอร์ได้ แต่สามารถยกระดับคุณภาพของสัญญาณ ที่ช่วยรักษาความเร็วให้อยู่ระดับที่ควรจะเป็นเวลาที่อยู่ห่างออกมาจากเราท์เตอร์เรื่อยๆ ได้

แต่ว่ามาตรฐาน 802.11ac มีฟีเจอร์ที่เรียกว่า MIMO ด้วย ที่เป็นการใช้เสาสัญญาณหลายเสาแบ่งและช่วยกันรับส่งสัญญาณ และเป็นเทคโนโลยีที่เป็นพื้นฐานการทำงานของ Beamforming อีกที ซึ่งเราท์เตอร์รุ่นใหม่ๆ ต่างก็มีฟีเจอร์นี้กันหมดแล้ว ถ้าอุปกรณ์ลูกข่ายรองรับ MIMO ด้วย ซึ่งอุปกรณ์พกพาในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นแล็ปท็อปหรือสมาร์ทโฟนต่างก็รองรับด้วยแล้ว ก็จะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มความเร็ว “รวม” นี้ด้วยเช่นกัน ประเด็นคือ ฟีเจอร์ MIMO นี้มีมาก่อนหน้ามาตรฐาน 802.11ac แล้ว และเราท์เตอร์ปัจจุบันของคุณที่ยังไม่ใช่ ac (ซึ่งยังไม่มี Beamforming) อาจจะใช้ MIMO อยู่แล้ว กรณีนี้ถึงจะเปลี่ยนเราท์เตอร์ใหม่ที่ใช้ Beamforming ได้ ก็อาจไม่รู้สึกถึงความเร็วที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเราท์เตอร์ตัวก่อนหน้า

ยกระดับการเชื่อมต่อ

เราท์เตอร์ที่ทำ Beamforming นั้นสามารถช่วยยกระดับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เครื่องลูกได้แม้ว่าอุปกรณ์นั้นจะไม่ได้รองรับฟีเจอร์นี้ด้วยก็ตาม (แม้จะไม่ได้ประโยชน์มากเท่าอุปกรณ์ที่รองรับ)ซึ่งเราเรียกการ Beamforming แค่ข้างเดียวนี้ว่า Implicit ขณะที่การทำ Beamforming จากอุปกรณ์ที่รองรับทั้งสองฝั่งของการเชื่อมต่อหรือ Explicit ย่อมให้ผลที่ดีกว่าอยู่แล้ว

อีกประเด็นหนึ่งที่ควรตระหนักไว้ก็คือ แม้มาตรฐาน 802.11ac จะระบุความสามารถในการทำ Beamforming ไว้ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้บังคับว่าเราท์เตอร์ไวไฟทุกเครื่องที่ใช้มาตรฐานดังกล่าวต้องใส่ฟีเจอร์นี้เข้ามาในเครื่องด้วย นอกจากนี้ พวกผู้ผลิตหัวใสก็ชอบคิดคำเท่ๆ มาโฆษณาบนแพกเกจของตัวเองให้ผู้ใช้สับสนด้วย ดังนั้นก่อนซื้อจึงควรพิจารณาให้ดีว่าคำโปรยอย่าง “Advance Beam Technology” หรือ “Smart Beam Technology” หรืออะไรก็ตามที่มี Beam นั้น คือ Beamforming ตามมาตรฐานจริง

ที่มา : Lifewire