หน้าแรก Networking & Wireless วิธีการเบื้องต้นในการเลือก Wi-Fi Router ที่ดีที่สุดสำหรับโฮมยูส

วิธีการเบื้องต้นในการเลือก Wi-Fi Router ที่ดีที่สุดสำหรับโฮมยูส

แบ่งปัน

จริงๆ เราควรเลือกเราเตอร์ที่จำเพาะกับรูปแบบการใช้งานของเรามากที่สุด เนื่องจากปัจจุบันการเลือกอุปกรณ์ที่มีบทบาทจำเป็นในการเชื่อมต่อในบ้านนี้มีความสำคัญมากกว่าแต่ก่อน แม้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ต่างมีเราเตอร์มาให้อยู่แล้ว

โดยเราเตอร์ดังกล่าวมักมาพร้อมกับโมเด็มสายเคเบิลหรือ DSL ที่หลายคนมองว่าดีที่สุดแล้ว แค่เชื่อมต่ออุปกรณ์ที่ใช้กับอินเทอร์เน็ตได้ก็พอแล้ว ในบางกรณี เราเตอร์จาก ISP ของคุณก็ทำงานได้เป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะถ้าเป็นเงื่อนไขที่ให้ใช้ฟรีในฐานะส่วนหนึ่งของแพ็กเกจเน็ต

บางบ้านยังคิดแค่ว่า ถ้าใช้อุปกรณ์ไม่กี่เครื่อง เราเตอร์ฟรีที่มีเสาอากาศอันเดียวที่ได้มาก็พอแล้ว ถ้าอยากได้การเชื่อมต่อที่เร็วกว่าเสถียรกว่าก็ต่อผ่านสายแลนแทนที่จะใช้ Wi-Fi แต่รู้ไหมว่ายิ่งถ้าเราเตอร์เครื่องดังกล่าวเก่าและล้าหลังไปมากขึ้นเรื่อยๆ

การอัพเกรดมาใช้เราเตอร์ใหม่ล่าสุดจะทำให้ได้ประโยชน์มากกว่าที่คิด ยิ่งยุคปัจจุบันที่หลายคนถูกบังคับให้ทำงานจากบ้าน ถูกกักตัวหรือต้องอยู่ในพื้นที่จำกัดจากการแพร่ระบาดของโรค การมีเราเตอร์ที่ตอบโจทย์ยิ่งสำคัญมากกว่าเดิม

ตรวจสอบมาตรฐานที่ต่างกันของ Wi-Fi

เริ่มจากมาตรฐาน Wi-Fi ที่เป็นมาตรฐานสากลใช้กันทั่วโลกเพื่อให้มั่นใจได้ว่าอุปกรณ์ในมาตรฐานสามารถเชื่อมต่อกันได้โดยไม่มีปัญหา ซึ่งสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจตอนนี้คือ มาตรฐานเดิมที่เคยเห็นกันในชื่อ 802.11 แล้วตามด้วยตัวอักษร

อย่างเช่น a, b, g, n, ac, หรือแม้แต่ใหม่ล่าสุดอย่าง ax นั้น กำลังจะเปลี่ยนวิธีการเรียกชื่อใหม่เพื่อให้ทราบว่าเวอร์ชั่นใดเก่าหรือใหม่กว่ากันอย่างไร โดยอุปกรณ์แต่ละเวอร์ชั่นนั้นใช้งานข้ามเวอร์ชั่นกันได้ แต่จะโดนล็อกความเร็วตามเวอร์ชั่นที่ช้ากว่า

สำหรับเวอร์ชั่นของ Wi-Fi ในปัจจุบันเป็นดังต่อไปนี้: 802.11b เปลี่ยนมาเรียกเป็น Wi-Fi 1, 802.11a เปลี่ยนเป็น Wi-Fi 2, 802.11g เปลี่ยนเป็น Wi-Fi 3, 802.11n เปลี่ยนเป็น Wi-Fi 4, 802.11ac เปลี่ยนเป็น Wi-Fi 5, และ 802.11ax เปลี่ยนเป็น Wi-Fi 6

ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามาตรฐาน Wi-Fi ได้รับการพันามาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จนถึงเวอร์ชั่นล่าสุดอย่าง AX แม้จะยังพบอุปกรณ์หรือเราเตอร์ในเวอร์ชั่น N และ AC ที่ยังมีการใช้งานอยู่อย่างแพร่หลาย แต่เมื่อมองจากวิวัฒนาการของ Wi-Fi เช่นนี้แล้ว

ควรไป Wi-Fi 6 แล้วไหม?

ตอนนี้ก็ถือว่าไม่สมเหตุสมผลอย่างมากที่จะซื้อเราเตอร์ Wi-Fi ตัวใหม่ที่เป็นมาตรฐานเก่าอย่าง 802.11n หรือแม้แต่การซื้ออุปกรณ์มาตรฐานแบบ AC หรือ Wi-Fi 5 ด้วยเหตุผลที่ราคาถูกลงอย่างมาก เราควรมองการรองรับในอนาคตเป็นสำคัญมากกว่า

ตัวอย่างเช่นเราเตอร์ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่าง TP-Link Archer GX90 ก็ขึ้นมาใช้มาตรฐาน AX (Wi-Fi 6) เต็มตัวแล้ว ซึ่ง Wi-Fi 6 ก็ให้ประโยชน์เหนือกว่าเวอร์ชั่นเดิมอย่าง Wi-Fi 5 (802.11ac) อยู่มากมายตามที่ทาง Wi-Fi Alliance ระบุไว้

เช่น ให้ความเร็วในการส่งต่อข้อมูลทั้งรับและส่งจากอุปกรณ์มากกว่าเดิม รองรับจำนวนอุปกรณ์เชื่อมต่อได้มากขึ้น ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเมื่อมีอุปกรณ์เชื่อมต่อด้วยจำนวนมาก และใช้แบตเตอรี่น้อยกว่าเดิมในการเชื่อมต่อ

ถือว่า Wi-Fi 6 เหนือชั้นกว่ามากในการรองรับทราฟิกจากอุปกรณ์ที่หนาแน่น ให้ความเร็วในเชิงทฤษฎีมากกว่ารุ่นก่อนๆ เป็นอย่างมาก โดยทำได้ถึง 9.6Gbps (เร็วกว่าประมาณ 3 เท่าเมื่อเทียบกับความเร็วทางทฤษฎีเดิมของ Wi-Fi 5)

ยิ่งตอนนี้ผู้คนหันมาใช้การสตรีมมิ่งวิดีโอที่ความละเอียดสูง, เล่นเกมกันหนักมากขึ้น และมีอุปกรณ์ไร้สายที่ใช้งานกับตัวมากกว่าเดิมเยอะ ยิ่งทำให้เห็นคุณค่าของมาตรฐานใหม่อย่าง Wi-Fi 6 ที่คุณควรมองถึงการรองรับในอนาคตอันใกล้นี้เป็นสำคัญ

โดยเฉพาะกรณีถ้าตอนนี้คุณมีอุปกรณ์ที่รองรับ Wi-Fi 6 อยู่แล้ว ก็ยิ่งควรมองเราเตอร์ที่รองรับ Wi-Fi 6 ด้วย ต่อมา เราจะดูกันที่ย่านความถี่วิทยุที่การสื่อสารไร้สายใช้ และความแตกต่างระหว่างแบบ Dual-Band และ Tri-Band

ย่านความถี่ก็เป็นส่วนที่ต้องพิจารณา

ที่ผ่านมา เราเตอร์เก่าไล่มาจนถึงมาตรฐาน 802.11g จะทำงานเฉพาะบนย่านความถี่ 2.4GHz จนกระทั่งเริ่มมารองรับย่านความถี่ 5GHz ด้วยในมาตรฐาน 802.11n ไปจนถึงมาตรฐานใหม่อย่าง 802.11ac และ 802.11ax

สาเหตุที่ต้องมองหาย่านความถี่ใหม่ก็เพราะย่านเดิมอย่าง 2.4GHz มีการใช้งานที่หนาแน่นมากแล้ว โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ทราฟิกแย่งกันใช้งานจนกระทบกับประสิทธิภาพ เราเรียกอุปกรณ์ที่ใช้ได้เฉพาะย่าน 2.4GHz ว่า Single-Band

ขณะที่อุปกรณ์ที่ใช้ได้ทั้งย่าน 2.4GHz และ 5GHz จะเรียกว่า Dual-Band ซึ่งย่านความถี่ต่ำกว่านั้นให้ความเร็วที่จำกัดอยู่ต่ำกว่า มีความกว้างของย่านความถี่ให้ใช้น้อยกว่า ย่าน 5GHz จึงรองรับการใช้งานได้มากกว่า ให้ความเร็วที่ดีขึ้นกว่าเดิม

แต่ย่าน 5GHz ก็ต้องแลกมาด้วยข้อเสียที่ว่า ความถี่ยิ่งสูงก็ยิ่งสูญเสียพลังงานได้ง่ายเมื่อเจอกับอุปสรรคอย่างกำแพง สิ่งของต่างๆ อย่างไรก็ดี เราเตอร์สมัยใหม่ก็มักมาพร้อมกับความสามารถที่เรียกว่า Beamforming ที่ส่งสัญญาณอัดตรงไปที่อุปกรณ์ได้เลยแทนการกระจายแบบไร้ทิศทาง

อ่านทั้งหมดได้ที่นี่ – https://www.windowscentral.com/how-to-choose-best-router