หน้าแรก Data Center มาตรฐานของช่องสัญญาณกับมาตรฐานอุปกรณ์ นั้นต่างกันตรงไหน?

มาตรฐานของช่องสัญญาณกับมาตรฐานอุปกรณ์ นั้นต่างกันตรงไหน?

แบ่งปัน

เมื่อพูดถึงมาตรฐานสายเคเบิลแล้ว คุณน่าจะเคยได้ยินมาตรฐานทั้งที่อิงตามช่องสัญญาณ (Channel) และที่อิงตามชิ้นส่วนอุปกรณ์ (Component) มาแล้วบ้าง ซึ่งมาตรฐานทั้งสองแบบนี้ไม่ใช่มาตรฐานเดียวกัน ดังนั้นทาง Fluke จึงมาอธิบายความแตกต่างดังกล่าว พร้อมทั้งเหตุผลว่าทำไมเราต้องคำนึงถึงความต่างเหล่านี้ และจะสามารถทดสอบได้อย่างไรบ้าง

มาตรฐานช่องสัญญาณ

บนเครือข่ายนั้น ช่องสัญญาณหมายถึงการเชื่อมต่อจากอุปกรณ์หนึ่งที่ทำงานอยู่ไปยังอีกอุปกรณ์หนึ่ง ซึ่งรวมไปถึงสายแพ็ตช์คอร์ดและสายที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์โดยตรงด้วย อย่างในดาต้าเซ็นเตอร์ก็อาจเป็นทางเดินสัญญาณตั้งแต่สวิตช์แอคเซสไปจนถึงเซิร์ฟเวอร์ที่รวมไปถึงสายแพ็ตช์คอร์ดที่ใช้เชื่อมต่อแบบข้ามหรือเชื่อมต่อระหว่างกัน ขณะที่ในแลนนั้น ช่องสัญญาณอาจเป็นการเชื่อมต่อจากสวิตช์กระจายสัญญาณในห้องควบคุมการสื่อสารวิ่งมาตลอดทางจนถึงการ์ดแลนในแล็ปท็อป เป็นต้น

ซึ่งมาตรฐานอุตสาหกรรมที่กำหนดประสิทธิภาพที่ควรจะเป็นของช่องสัญญาณรับส่งข้อมูลในแต่ละรูปแบบการใช้งานนั้นจะอิงจากสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่ยอมให้มีได้ เช่น สายไฟเบอร์ก็จะพิจารณาตามค่าการสูญเสียสัญญาณภายในสาย ขณะที่สำหรับสายทองแดงก็จะมีค่าให้พิจารณามากกว่าพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียสัญญาณระหว่างส่ง, การสูญเสียขากลับ, สัญญาณรบกวน Crosstalk (แบบ NEXT, FEXT, ELFEXT, ANEXT ฯลฯ), ดีเลย์จากการกระจายสัญญาณ, ค่าความต้านทานไฟฟ้า DC เป็นต้น

มาตรฐานสำหรับช่องสัญญาณนั้นยังมีการกำหนดระยะทางรวมทั้งหมดตลอดช่องสัญญาณสำหรับแต่ละรูปแบบการใช้งาน และชนิดสายเคเบิลด้วย ตัวอย่างเช่น มาตรฐานสำหรับช่องสัญญาณแบบ 10GBASE-T บนสาย Category 6A ไม่ควรเกิน 100 เมตร หรือแชนแนลแบบ 10BASE-SR บนสายไฟเบอร์มัลติโหมด OM4 ก็ไม่ควรลากยาวเกิน 400 เมตร

มาตรฐานของชิ้นส่วนและอุปกรณ์

มาตรฐานอุปกรณ์นั้นหมายถึงการพิจารณาที่แต่ละองค์ประกอบที่อยู่ในแชนแนลแยกออกมาต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นตัวสายเคเบิล รูปลั๊ก หัวเสียบ หรือสายแพ็ตช์คอร์ด ซึ่งแต่ละอุปกรณ์นั้นจะมีมาตรฐานที่กำหนดทั้งเรื่องของความสามารถในการทำงานหรือสื่อสารกับอุปกรณ์อื่น, ความต้องการเชิงเทคนิค, คุณลักษณะทางกายภาพ, และค่าพารามิเตอร์ที่บ่งบอกถึงประสิทธิภาพการทำงานอย่างแบนด์วิธ, ความถี่, การสูญเสียสัญญาณระหว่างส่ง, การสูญเสียขากลับ, และครอสทอล์ก

ซึ่งเวลามองถึงเรื่องประสิทธิภาพแล้ว มาตรฐานของอุปกรณ์มักจะเข้มงวดกว่ามาตรฐานแชนแนล ดังนั้นถ้าทุกส่วนในแชนแนลได้ตามมาตรฐานของตัวเองแล้ว ตัวแชนแนลหรือช่องสัญญาณเองก็ควรทำงานได้ตามมาตรฐานด้วย เว้นแต่ถ้าได้รับการติดตั้งอย่างไม่เหมาะสม แต่ถึงแม้การใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐานจะไม่ได้หมายความว่าประสิทธิภาพแชนแนลโดยรวมจะตกสเปก แต่ก็หมายความว่าเราไม่สามารถการันตีประสิทธิภาพลิงค์ทั้งหมดได้เช่นกัน ทั้งนี้เพราะอาจจะโชคดีที่ช่องสัญญาณได้ประสิทธิภาพตามมาตรฐานแม้จะใช้ชิ้นส่วนตกมาตรฐาน ทำให้ชิ้นส่วนที่ไม่ดีเหล่านั้นหลบเลี่ยงสายตาคนตรวจสอบได้

ตัวอย่างเช่น มาตรฐานอุปกรณ์สำหรับการใช้สาย Category 6 มาใช้แบบ 1000BASE-T ที่ 100 MHz นั้น กำหนดให้ Insertion Loss ไม่เกิน 0.2 dB สำหรับหัวต่อ และ 19.8 dB สำหรับสายเคเบิล แต่มาตรฐานตลอดทั้งแชนแนลนั้นกำหนดให้ค่าการสูญเสียรวมไม่เกิน 21.3 dB ทำให้ในเชิงเทคนิคนั้นคุณสามารถใช้หัวต่อ Category 6 ที่มีค่าความสูญเสียได้มากถึง 0.6 dB (ซึ่งเกินค่ามาตรฐานของหัวต่อ) โดยที่ยังไม่กระทบกับค่าตามมาตรฐานตลอดทั้งแชนแนล ยังใช้งานช่องสัญญาณรับส่งข้อมูลนี้ได้โดยไม่มีปัญหา แต่ปัญหาก็จะร้ายแรงขึ้นมาทันทีถ้ามีชิ้นส่วนที่ไม่ได้มาตรฐานอุปกรณ์มาใช้ในแชนแนลเดียวกันจำนวนมากเกิน อย่างเช่นหัวต่อ Category 6 ที่มีค่าการสูญเสีย 0.6 dB จำนวน 4 หัวก็อาจทำให้ค่าการสูญเสียระหว่างส่งสัญญาณตลอดแชนแนลเกินค่าขีดจำกัด เป็นต้น

แล้วเราจะทดสอบกันอย่างไร

ผู้ผลิตทั้งหลายล้วนมีการทดสอบชิ้นส่วนอุปกรณ์ของตัวเองเทียบกับมาตรฐานอุปกรณ์ในตลาดอยู่แล้ว ซึ่งโดยทั่วไปมักทำการทดสอบโดยองค์กรอิสระภายนอกเพื่อความน่าเชื่อถือ อย่างเช่น การตรวจรับรอง ETL ของทาง Intertek เพื่อประกันว่าชิ้นส่วนดังกล่าวได้ตามมาตรฐานด้านประสิทธิภาพอย่าง ANSI/TIA, ISO/IEC, EN หรือ IEEE ที่เหมาะสมกับอุปกรณ์นั้นๆ ถ้าสังเกตก็มักจะเห็นตัวอักษรที่พิมพ์บนชิ้นส่วนต่างๆ ที่แสดงถึงการผ่านการตรวจได้มาตรฐาน นอกจากนี้ผู้ผลิตที่อ้างว่าอุปกรณ์ของตัวเองได้มาตรฐานก็ควรมีเอกสารรับรองอธิบายให้มาด้วย

เมื่อมาดูทางด้านการตรวจมาตรฐานแชนแนลแล้ว ก็มีการแนะนำว่าให้ทดสอบตัวลิงค์ถาวรมากกว่าทั้งช่องสัญญาณ โดยลิงค์ถาวรเป็นลิงค์ส่วนที่ติดตั้งไว้ตายตัวในแชนแนล จึงไม่รวมสายสั้นๆ ที่ใช้ต่อออกมายังอุปกรณ์อย่างแพ็ตช์คอร์ดหรือสายที่ติดกับอุปกรณ์โดยเฉพาะ ปกติลิงค์ถาวรมักไล่ตั้งแต่แผงสายหนึ่งไปยังอีกแผงชุมสายหนึ่งในดาต้าเซ็นเตอร์ หรือจากแผงสายในห้องควบคุมการสื่อสารไปยังเต้าเสียบสายในพื้นที่ปฏิบัติงานจริง หรือไปยังจุดรวมการเชื่อมต่อของวงแลน แต่หลายคนคงสงสัยว่า ถ้าเรากังวลว่าช่องสัญญาณเราได้มาตรฐานพอที่จะรองรับรูปแบบการใช้งานหรือไม่แล้ว ทำไมจึงทดสอบแค่ส่วนของลิงค์ถาวร?

เรามองลิงค์ถาวรในฐานะส่วนประกอบพื้นฐานของแชนแนล ส่วนแพ็ตช์คอร์ดก็มักเป็นจุดอ่อนที่สุดของแชนแนล ทั้งนี้เพราะมักถูกจัดการย้ายเปลี่ยนตำแหน่งบ่อยกว่าส่วนอื่นของช่องสัญญาณจนถูกจัดเป็นชิ้นส่วนสิ้นเปลือง ทำให้หลายคนมักมองข้ามเรื่องคุณภาพ (หรือแม้แต่การมองว่าสอดคล้องตามมาตรฐาน) ดังนั้นถ้าคุณทดสอบทั้งช่องสัญญาณที่จะมีค่าขีดจำกัดของมาตรฐานเผื่อไว้เกินอยู่มากกว่าส่วนของลิงค์ถาวรแล้ว อาจทำให้มองไม่เห็นปัญหาที่จุดแพ็ตช์คอร์ดได้ เรียกว่าถ้าทดสอบทั้งแชนแนลแล้วภายหลังเกิดเปลี่ยนสายแพ็ตช์คอร์ดใหม่อีก ก็ทำให้เหมือนโยนผลการทดสอบแชนแนลก่อนหน้าทิ้งแบบไร้ประโยชน์ไปด้วย

การที่จะทำให้ได้ประสิทธิภาพของช่องสัญญาณที่ดีที่สุด และเหลือค่าการสูญเสียหรือค่าขีดจำกัดมาตรฐานเผื่อไว้เวลาติดตั้งของคุณนั้น ก็ควรทดสอบส่วนลิงค์ถาวร แล้วเลือกชิ้นส่วนที่ได้มาตรฐานโดยเฉพาะสายแพ็ตช์คอร์ด อย่างทาง Fluke เองก็มีอแดปเตอร์สำหรับทดสอบลิงค์ถาวรพร้อมสายทดสอบอ้างอิงมาพร้อมกับชุดอุปกรณ์ทดสอบเทียบมาตรฐานทั้งสายทองแดงและไฟเบอร์อย่าง Fluke Networks Versiv™ ด้วย ทำให้คุณมั่นใจถึงคุณภาพที่ดีที่สุด ที่การันตีความสามารถในการทำงานร่วมกับอุปกรณ์อื่น และประสิทธิภาพโดยรวมของแชนแนลเมื่อคุณเลือกใช้แพ็ตช์คอร์ดที่ได้มาตรฐาน

ที่มา :  https://www.flukenetworks.com/blog/cabling-chronicles/whats-difference-between-channel-and-component-standards