หน้าแรก Networking & Wireless IP Camera ตัวเลขทั้ง 13 ชนิดที่ควรท่องให้ขึ้นใจ เพื่อใช้ทำมาหากินด้านเน็ตเวิร์ก

ตัวเลขทั้ง 13 ชนิดที่ควรท่องให้ขึ้นใจ เพื่อใช้ทำมาหากินด้านเน็ตเวิร์ก

แบ่งปัน

ระบบคอมพิวเตอร์มีรากฐานมาจากตัวเลข ตั้งแต่เลขฐานสองที่มีแค่ 0 กับ 1 ดังนั้นแม้เทคโนโลยีจะถูกพัฒนาก้าวไกลซับซ้อนมากขึ้นถึงยุคปัจจุบันแล้ว แต่คณิตศาสตร์ก็ยังเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับผู้ที่ใช้ทักษะด้านไอทีเป็นหลักอยู่ดี

โดยเฉพาะงานในวงการเน็ตเวิร์กที่มักมีชุดตัวเลขที่ท่องจำขึ้นใจเนื่องจากใช้งานบ่อยมาก ไม่ว่าจะเป็นตระกูลไอพี 192.168.x.x, 255.255.255.0 หรือชุดตัวเลขเวลาแบ่งซับเน็ตเป็นต้น ดังนั้นลองมาดูกันว่าเมจิกนัมเบอร์ที่มืออาชีพจำขึ้นใจนั้นมีอะไรกันบ้าง

• 1, 6, 11

เป็นเลขประจำช่องสัญญาณหรือแชนแนลของเครือข่าย Wi-Fi ที่ปกติมีให้เลือกตั้งแต่ 1 – 11 (หรือถึง 14 สำหรับมาตรฐานใหม่ๆ) ซึ่งแน่นอนว่าเราควรเลือกช่องสัญญาณของแต่ละ AP ให้ซ้อนทับหรือรบกวนกันน้อยที่สุด จึงเป็นที่มาของช่องสัญญาณยอดนิยมอย่าง 1, 6, และ 11 ที่ศึกษากันแล้วว่าทับกันน้อยที่สุด ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด

• 2.4 กับ 5

เป็นเลขบอกย่านความถี่ของเครือข่าย Wi-Fi ที่แต่ละมาตรฐานที่มีการใช้งานอยู่ปัจจุบันเลือกใช้อยู่แค่ 2 ย่านความถี่ได้แก่ 5GHz และ 2.4GHz แม้อุปกรณ์ส่วนใหญ่จะรองรับทั้งสองย่านความถี่ (Dual Band) ก็ตาม แต่ก็สำคัญมากที่ต้องพิจารณาเลือกใช้มาตรฐานหรือย่านความถี่ที่ตรงกันระหว่างตัวรับและตัวส่งเพื่อให้สามารถสื่อสารได้ทั่วถึงกันหมด

• 5-4-3-2-1

เป็นสูตรพื้นฐานของการออกแบบเครือข่ายอีเธอร์เน็ตสมัยดึกดำบรรพ์ที่เรียนกันมาตั้งแต่ยุคพระเจ้าเหาถึงปัจจุบัน ที่กล่าวถึงจำนวนโหนดสูงสุดของเครือข่ายในยุคที่ไม่รู้จักอุปกรณ์ที่ช่วยแก้ปัญหาข้อมูลชนกันอย่าง “สวิตช์”

• 10 (100 และ 1000)

เป็นอัตราเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงสุดตามทฤษฎีของอีเธอร์เน็ตแต่ละมาตรฐาน อันได้แก่ Ethernet ดั้งเดิม (10 Mbps), Fast Ethernet (100 Mbps), และ Gigabit Ethernet (1000 Mbps)

• 11 และ 54

คืออัตราเร็วการรับส่งข้อมูลมากที่สุดของ WiFiสมัยก่อน อันได้แก่ 802.11b ที่ทำความเร็วสูงสุดที่ 11 Mbps และ 802.11g ที่ทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 54 Mbps ซึ่งเทคโนโลยีมาตรฐานWiFiใหม่ในปัจจุบันสามารถทำความเร็วได้มากถึง 150 Mbps หรือมากกว่าได้แล้ว

• 13

ไม่ใช่ลักกี้นัมเบอร์หรือเลขแห่งความซวยแต่อย่างใด แต่มาจาก 13 โซนเซิร์ฟเวอร์ DNS ต้นกำเนิด (Root DNS Server) ที่กระจายอยู่ทั่วโลกสำหรับให้เซิร์ฟเวอร์ดีเอ็นเอสย่อยๆ ที่อยู่ใกล้เคียงใช้อ้างอิงข้อมูลมาให้บริการลูกค้าของตนเองอีกทอดหนึ่ง

• 80 (และ 8080)

ทุกคนน่าจะคุ้นกับเลขพอร์ต 80 ซึ่งเป็นพอร์ตประจำตัวของโปรโตคอล HTTP ที่ใช้ท่องเว็บไซต์เป็นอย่างดี ซึ่งตามหลักของระบบ TCP/IP แล้ว จะใช้ตัวเลขพอร์ตในการบอกระบบว่าสื่อสารกับโปรโตคอลหรือแอพพลิเคชั่นไหน ส่วนพอร์ต 8080 นั้นเป็นพอร์ตทางเลือกสำหรับระบบบนลีนุกซ์หรือยูนิกซ์ที่มีข้อจำกัดในการใช้เลขพอร์ตต่ำๆ

• 127.0.0.1

เป็นเลขไอพี Loopback หรือไว้ยิงข้อมูลกลับมาหาตัวเองเพื่อทดสอบการทำงานของโปรโตคอลไอพีของอแดปเตอร์ปัจจุบัน ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการทดสอบอุปกรณ์และแอพพลิเคชั่นบนเครือข่าย ตัวอย่างเช่น ถ้าจะสื่อสารกับเซิร์ฟเวอร์หรือเปิดเว็บบนเครื่องตัวเอง ก็จะชี้ไปที่ http://127.0.0.1 เป็นต้น

• 192.168.1.1

เป็นหนึ่งในเลขไอพีแบบไพรเวทหรือเลขไอพีที่กำหนดให้ใช้สำหรับเครือข่ายภายใน หรือแลนได้ และเลขที่ลงท้าย .1.1 นี้ก็นับเป็นไอพียอดนิยมที่มักใช้เป็นไอพีโดยดีฟอลต์สำหรับเกตเวย์ขาแลนของเราท์เตอร์ตามบ้านทั่วไปด้วย (ซึ่งก็แนะนำให้ควรเปลี่ยนวงเพื่อความปลอดภัยเสมอ) นอกจาก 192.168.1.1 แล้ว เลขไอพีดีฟอลต์ยอดนิยมอื่นได้แก่ 192.168.0.1 และ 192.168.2.1

• 255 (และ FF)

เป็นเลขฐานสิบที่แปลงมาจากเลขฐานสองที่เป็นเลข 1 เต็มทั้งไบต์ (หรือทั้ง 8 บิท) ซึ่งคนที่พอเป็นคณิตศาสตร์หรือคร่ำหวอดกับการคำนวณไอพีน่าจะไม่งง และมักเป็นเลขยอดนิยมเวลากำหนดซับเน็ตมาร์ก เนื่องจากต้องมาส์กบิตเลข 1 ตั้งแต่ด้านหน้าไล่มาทางด้านซ้ายเสมอ เช่น 255.255.255.0 และเมื่อแปลงเป็นเลขฐาน 16 สำหรับที่อยู่ไอพีแบบ IPv6 ก็จะแปลง 255 ได้เป็น FF สำหรับใช้งานลักษณะเดียวกัน

• 500

เลขกำกับประเภทความผิดพลาดหรือ Error ของการแสดงผลหน้าเว็บไซต์ยอดนิยม ซึ่ง Error 500 คือ Internal Server Error หรือความผิดพลาดที่เกิดบนฝั่งเซิร์ฟเวอร์ จากการที่เว็บเซิร์ฟเวอร์ไม่สามารถตอบสนองคำร้องขอของไคลเอนต์หรือผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือ การรันโค้ดเพื่อแสดงผลเกิดปัญหา (ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาอย่างเช่น โค้ดผิดพลาด หรือเชื่อมต่อฐานข้อมูลไม่ได้ เป็นต้น)

• 802.11

ชุดเลขที่ใช้เป็นชื่อมาตรฐาน Wi-Fi ของ IEEE โดยแยกมาตรฐานด้วยตัวอักษรกำกับด้านหลัง เช่น 802.11a, 802.11b, 802.11g, 802.11n, 802.11ac แต่มาตรฐานใหม่กว่านี้จะหันมาใช้ชื่อที่ดูอินเตอร์และจำง่ายขึ้นแทน เช่น WiFi 6 (จะใช้แทน 802.11ax)

• 49152 (ไปจนถึง 65535)

เป็นเลขพอร์ต TCP/UDP ที่ IANA เปิดให้ผู้ใช้กำหนดใช้งานเองโดยอิสระ ไม่ได้กำหนดเป็นมาตรฐานว่าให้แทนโปรโตคอลใดอย่างเจาะจง เรียกว่าพอร์ตไดนามิก

ที่มา : Lifewire