หน้าแรก Home feature มาดูกันว่า คนภายนอกมองอาชีพ IT Admin เป็นแบบไหนบ้าง

มาดูกันว่า คนภายนอกมองอาชีพ IT Admin เป็นแบบไหนบ้าง

แบ่งปัน

แม้ตำแหน่งไอทีแอดมินดูไม่ใช่ตัวเลือกในฝันของเด็กน้อยเวลาตอบคำถาม “โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร” เท่าไร เมื่อเทียบกับอาชีพที่แต่งตัวสวยหรูได้รับการนับหน้าถือตาอย่างตำรวจ ทหาร หมอ วิศวกร ฯลฯ แต่ก็ถือเป็นบุคลากรสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยในทุกองค์กร และถ้าฝีมือดีจริงก็มักไต่เต้าขึ้นไปสู่สายอาชีพที่ได้เงินถุงเงินถังกันทั้งนั้น

แม้หลายคนจะมองภาพซิสเต็มแอดมินเหมือนเป็ดที่เนรมิตทุกอย่างที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ให้พวกเขาได้ แต่น้อยคนนักโดยเฉพาะคนใกล้ตัวที่จะเข้าใจบทบาทนี้อย่างถ่องแท้ เคยสงสัยไหมว่าคนรอบข้างจะคิดอย่างไรเมื่อเหล่าแอดมินโดนแมสเสจตามตัวให้รีโมทแก้ระบบฉุกเฉินระหว่างดูหนังหรือทานข้าว หรือการที่มีงานอดิเรกเวลาอยู่บ้านด้วยการส่องดูบันทึก Log ที่ชวนตาลาย แล้วพูดคุยกับเพื่อนร่วมทีมพร้อมตีความไปต่างๆ นานาที่คนนอกวงการไม่มาเข้าใจด้วย

แม้ตัวแอดมินเองจะอธิบายคนใกล้ตัวอย่างไรก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ก็คงได้ยินคนใกล้ตัวพูดทำนองว่า “แม่คงกำลังทำอะไรสักอย่างกับคอมพิวเตอร์อีกแล้ว” เป็นต้น

เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองวันแสดงความชื่นชมต่อความดีของเหล่าไอทีแอดมินทั่วโลก หรือ Systems Administrator Appreciation Day (Sysadmin Day) เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ปีนี้นับเป็นปีที่ 20 แล้ว (ปกติจะจัดขึ้นในศุกร์สุดท้ายของทุกกรกฎาคม เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนโดยเฉพาะทีมงานในบริษัทได้เข้ามาขอบอกขอบใจเหล่าแอดมินและเจ้าหน้าที่ด้านไอทีทั้งหลายหลังจากที่โดนใช้งานตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ เช่นการมอบการ์ด ช่อดอกไม้ จัดเลี้ยงปาร์ตี้ เป็นต้น)

ทางเว็บบอร์ดของ SolarWinds อย่าง THWACK ก็ได้ตั้งกระทู้สำรวจความคิดเห็นว่าสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนฝูงได้ทำอะไรให้ หรือยกย่องอะไรแก่ชาวไอทีแอดมินบ้าง ซึ่งเราก็ได้คัดเลือกความคิดเห็นและประเด็นที่น่าสนใจ ฟังแล้วฮา แฝงด้วยประเด็นเสียดสีเล็กน้อยถึงปานกลางมาให้ชมดังต่อไปนี้

– ซุปเปอร์ฮีโร่

ปกติผมมักจะบอกเพื่อนๆ เสมอว่าตัวเองเป็น “นักทดสอบความเครียดของอินเทอร์เน็ต” แต่ลูกสาวมักยกย่องผมกับเพื่อนๆ ว่า ผมเป็นเจ้าของอินเทอร์เน็ตทั่วโลก และสามารถสั่งปิดการใช้งานของใครก็ได้ ขณะที่ลูกชายวัย 4 ขวบเรียกผมว่า “ช่างที่ซ่อมได้ทุกอย่าง” ซึ่งนั่นก็ทำให้ผมมีความสุขแล้ว

– เปรียบดังคอลเซ็นเตอร์

ที่โทรไปใช้บริการแก้ปัญหาได้ฟรีตลอดเวลา หรือเรียกกันว่า “ผู้กดปุ่มคีย์บอร์ดมืออาชีพ” ตัวอย่างเช่น “ครอบครัวของผมคิดว่าตัวผมเองเป็นพ่อมดด้านคอมพิวเตอร์ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง แม้ผมจะย้ำเสมอว่าตนเองเป็นแค่แอดมินระบบ พวกเขาก็มักจะแกล้งลืมเหมือนผมเป็นคนธรรมดา จนกระทั่งพวกเขาเจอปัญหา เช่น ทำไมคอมพิวเตอร์ถึงดูช้าๆ ซึ่งมักจะเรียกผมไปดูอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนเวลาข้าวเย็น (ลืมไปด้วยว่าผมก็เป็นคนที่ถึงเวลาก็ต้องกินข้าวเหมือนกัน) เป็นต้น”

– นักแก้ปัญหาระดับผู้เชี่ยวชาญ หรือระดับ “เทพเจ้า”

ทุกคนพร้อมใจกันคิดว่าผมเป็นผู้เชี่ยวชาญที่รู้ทุกเรื่อง แก้ปัญหาทุกอย่างเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ทั้งหมด จนผมต้องคอยอธิบายซ้ำๆ ตลอดว่าแม้ตัวเองจะทำงานในฝ่ายไอที ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรู้เกี่ยวกับพีซี แล็ปท็อป หรือฮาร์ดแวร์ทุกอย่าง จริงๆ คือผมก็ซ่อมคอมพิวเตอร์ทั่วไปได้แหละ แต่ก็ไม่ใช่จะมาคาดหวังทุกอย่างกับผม หรือแม้แต่พ่อที่คอยบอกเพื่อนๆ ว่าผมเป็นนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่เก่งกาจ จนต้องคอยพูดแก้กับพ่อว่าความเป็นจริงมันไม่ได้ใกล้เคียงเลยสักนิด

– ผู้ที่แก้ปัญหาได้ “ทุกเรื่อง” แม้จะไม่เกี่ยวกับไอที

อย่างลูกๆ ของผมบอกกับเพื่อนๆ ว่าพ่อทำงานเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ หรือเป็นนักคอมพิวเตอร์ แต่ไม่เข้าใจว่านักคอมพิวเตอร์นั้นทำหน้าที่อะไรบ้าง เข้าใจแค่ว่าผมสามารถแก้ปัญหาให้พวกเขาและเพื่อนๆ ได้หมดก็พอแล้ว (ซึ่งก็มักหาปัญหามาให้ผมเยอะแยะมากมาย) ขณะที่แม่ของผมมองผมเป็น “ช่างซ่อมได้ทุกอย่างเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์” ตั้งแต่คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต ไปจนถึงเครื่องปั่นอาหาร

– เป็นพ่อมด ผู้วิเศษ ผู้มีพลังเหนือธรรมชาติ

ครอบครัวของผมมักจิ้นว่าตัวผมเองทำงานอยู่ในชั้นใต้ดินของตึกอันลึกลับ ในที่มืดๆ เหมือนในหนัง ที่คอยป้อนข้อมูลเข้าอินเทอร์เน็ตผ่านโค้ดแมทริกซ์ลอยล่องเต็มหน้าจอขนาดใหญ่แบบไซไฟ แน่นอนว่าไม่ตรงกับโลกความจริงเลยสักนิด และเพราะมีแค่ไม่กี่คนที่รู้ว่าตำแหน่งงานของผมคือ “วิศวกรระบบ” (System Engineer) ผมจึงบอกกับทุกคนแค่ว่าทำงานเป็น “ไอที” แต่อย่างก็ตาม อย่างพ่อแม่ผมก็ยังคิดว่าผมเป็นพ่อมดหมอผีที่สามารถปัดรังควานไวรัส, เสกปริ๊นท์เตอร์ให้กลับมาใช้งานได้, เนรมิตไวไฟให้เชื่อมต่อได้, เสกระบบโฮมเธียเตอร์ในบ้านให้เล่นได้ดังใจ, หรือแม้แต่การเปลี่ยนแผงวงจรของตู้เย็น ที่ทุกคนต่างมองว่าผมกำลังใช้เวทมนตร์ที่เขาทำเองไม่ได้ (ใช่ เขาทำเองไม่ได้ เลยอ้างว่าต้องพึ่งพ่อมดอย่างผม)

ที่มา : Networkcomputing