หน้าแรก Cloud คำทำนาย 10 ประการเกี่ยวกับดาต้าเซ็นเตอร์และคลาวด์ที่จะเกิดขึ้นในปี 2019

คำทำนาย 10 ประการเกี่ยวกับดาต้าเซ็นเตอร์และคลาวด์ที่จะเกิดขึ้นในปี 2019

แบ่งปัน

เมื่อเข้าใกล้ช่วงสิ้นปี สิ่งหนึ่งที่ทุกคนควรทำนอกจากแพลนฉลองวันหยุดยาวปีใหม่ก็คือ การมองย้อนกลับไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา และคาดการณ์ถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้า ซึ่งครั้งนี้เราจะพูดถึงเรื่องของดาต้าเซ็นเตอร์และคลาวด์ เนื่องจากที่ผ่านมาเกือบทุกองค์กรมีการถกเถียงเรื่องการเลือกวางระบบระหว่างภายในองค์กรและบนคลาวด์อย่างเข้มข้น

ทำให้ทาง NetworkWorld.com ออกมาทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นเกี่ยวกับวงการดังกล่าวในปีหน้า โดยดูจากงานวิจัยและเทรนด์ที่กำลังจะมาในไม่ช้า ดังต่อไปนี้

1. ระบบประมวลผลแบบ Edge จะเข้าสู่จุดอิ่มตัว

และปัญหาจะอยู่ที่ใครจะเป็นคนลงทุนจากที่ผ่านมาทุกคนชื่นชอบหลักการของ Edge Computing ที่แบ่งเบาภาระของดาต้าเซ็นเตอร์หรือเซิร์ฟเวอร์ส่วนกลาง จนทำให้สามารถเร่งความเร็วในการตอบสนองได้เหลือไม่ถึง 10 มิลลิวินาที ผู้จำหน่ายที่เกี่ยวข้องอย่าง Vapor IO และ Schneider Electricต่างพัฒนาโมเดลที่หลากหลายสำหรับการติดตั้งที่สถานีฐาน และพร้อมที่จะนำไปใช้กับเครือข่าย 5G ในหลายประเทศ แต่ประเด็นคือใครจะเป็นคนจ่ายหรือลงทุนระบบดังกล่าว จะเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคม หรือเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ปลายทางอย่างรถยนต์ที่ต้องการการเชื่อมต่อ เนื่องจากระบบรูปแบบนี้มีการลงทุนที่ค่อนข้างแพง

2. การทำความเย็นด้วยน้ำจะได้รับความนิยมมากขึ้น

ตอนที่กูเกิ้ลเปิดตัวชิป Tensor Processing Unit AIก็ได้ตัดสินใจเปลี่ยนระบบทำความเย็นมาใช้น้ำแทนเนื่องจากแบบอากาศนั้นมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเมื่อซีพียูกินกำลังไฟมากกว่า 200 วัตต์ และจีพียูมากกว่า 300 วัตต์ ซึ่งระบบน้ำให้ประสิทธิภาพมากกว่าหลายพันเท่า

3. หันมาใช้ AI เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากมนุษย์

ดาต้าเซ็นเตอร์ประกอบด้วยหลายองค์ประกอบอย่างเซิร์ฟเวอร์, ระบบทำความเย็น, ระบบพลังงาน, และเน็ตเวิร์ก ซึ่งการจัดการรายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้ด้วยมนุษย์นั้นเสี่ยงต่อความผิดพลาด ปัจจุบันมีบริการ AI ใหม่จากสตาร์ทอัพอย่าง Concertio ที่คอยตรวจสอบและปรับแต่งค่าเหล่านี้แทน

4. ดาต้าเซ็นเตอร์ยังคงเติบโตต่อเนื่องและจะไม่ได้ตายลงในเร็วๆ นี้

เนื่องจากความต้องการด้านการประมวลผลเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการมาของ AI และคลาวด์ก็เริ่มราคาแพงสำหรับการประมวลผลข้อมูลที่ปริมาณมาก

5. โหลดงานจะถูกย้ายจากเอนด์พอยต์กลับไปยังดาต้าเซ็นเตอร์

อุปกรณ์พกพาของผู้ใช้ปัจจุบันอย่างสมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต, และพีซีนั้นไม่น่าสามารถรองรับการประมวลผลข้อมูลปริมาณที่เพิ่มขึ้นมหาศาลได้ โดยเฉพาะการมาถึงของระบบ Analytic และ AI ดังนั้นจึงเริ่มมีการส่งข้อมูลขึ้นไปประมวลผลบนคลาวด์แทน เช่นเดียวกับ ระบบ IoT หรือรถยนต์ที่เชื่อมต่อ

6. เริ่มนำระบบ Microservices และ Serverless มาใช้อย่างจริงจัง

เพราะระบบเวอร์ช่วลนั้นกินทรัพยากรหนักมาก แต่ละอินสแตนซ์ก็ต้องลงโอเอสของตนเอง ทำให้รันวีเอ็มได้จำนวนจำกัดต่อเซิร์ฟเวอร์ จึงเป็นที่มาของโซลูชั่นอย่างคอนเทนเนอร์หรือไมโครเซอร์วิส รวมทั้งการประมวลผลแบบเซิร์ฟเวอร์เลส ซึ่งคอนเทนเนอร์หนึ่งมีขนาดเล็กแค่ประมาณ 10MB เทียบกับระดับกิกะไบต์ของหนึ่งวีเอ็ม หรือแม้แต่การใช้เซิร์ฟเวอร์เลสที่เปิดให้รันแอพตัวเดี่ยวๆ ได้ในขนาดที่เล็กกว่ามาก

7. AWS และ Google จะหันมาให้ความสำคัญกับไฮบริดจ์คลาวด์

เนื่องจากสองบริษัทดังกล่าวเติบโตมาจากบริการบนคลาวด์ล้วนๆ ขณะที่คู่แข่งอย่างไมโครซอฟท์และไอบีเอ็มมาจากซอฟต์แวร์ที่ได้รับความนิยมต่อเนื่องมาก่อนที่จะพัฒนามาใช้ในรูปไฮบริดจ์คลาวด์ จนทำให้ไมโครซอฟท์ขึ้นมาครองส่วนแบ่งตลาดคลาวด์เป็นอันดับสองอย่างรวดเร็ว

8. การซื้อฮาร์ดแวร์แบบ Bare Metal ยังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

การเช่าฮาร์ดแวร์อย่างซีพียู, แรม, สตอเรจ แล้วเอาซอฟต์แวร์ของตนเองมาใช้นั้น เจ้าตลาดปัจจุบันคือ IBM ตามมาด้วย Oracle ซึ่งบริการที่เช่าโครงสร้างพื้นฐานดาต้าเซ็นเตอร์บนคลาวด์แทน ที่ย้ายโอเอส แอพ และข้อมูลไปมาได้ง่ายนั้นกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากดูง่ายกว่าการหันไปใช้บริการ SaaS จนทำให้เริ่มมีคู่แข่งใหม่ที่น่ากลัวอย่าง AWS, Internap, Equinix, และ Rackspace เข้ามาแย่งตลาดด้วย

9. จะเป็นปีที่ตัดสินใจยากที่สุดสำหรับ Oracle

เนื่องจากเป้าหมายของการแย่งตลาดคลาวด์ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะแข่งกับบิ๊กโฟร์อย่าง AWS, Microsoft, Google, และ IBM แถมโมเดลการขายไลเซนส์ก็ซับซ้อนเกินไป อีกทั้งไม่สามารถแข่งประมูลโครงการของกลาโหมกับ AWS ได้ด้วย ธุรกิจด้านอื่นอย่างฮาร์ดแวร์ก็ค่อนข้างเงียบ

10. ผู้ให้บริการคลาวด์จะหันมาแย่งชิงลูกค้าเดสก์ท็อป

ไม่เพียงแค่ไมโครซอฟท์เท่านั้น แต่ผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ทั้งหลายจะเข้ามาเจาะตลาดเวอร์ช่วลเดสก์ท็อปกันอย่างเข้มข้น ประกอบกับวินโดวส์ 7 กำลังจะถึงวันสิ้นสุดการดูแลหลังการขายตอนมกราคม 2020 นั่นหมายความว่าปีหน้าจะเป็นปีที่ทุกองค์กรต้องเปลี่ยนไปใช้โอเอสใหม่ จึงเป็นคำถามที่ว่า ทุกคนจะยังโดดไปใช้วินโดวส์ 10 เพื่อรักษาฐานตลาดของไมโครซอฟท์ หรือหันไปหาบริการคลาวด์อย่าง AWS WorkSpaces หรือ Google Chromebooks แทนหรือไม่

ที่มา : Networkworld