หน้าแรก Internet of Things คำศัพท์ด้านเน็ตเวิร์กพบบ่อย 9 คำ ที่มืออาชีพต้องรู้ !!

คำศัพท์ด้านเน็ตเวิร์กพบบ่อย 9 คำ ที่มืออาชีพต้องรู้ !!

แบ่งปัน

ทุกวงการย่อมมีศัพท์เฉพาะที่รู้จักกันแค่ในกลุ่มอาชีพเดียวกันเท่านั้น เช่น ศัพท์แพทย์, ศัพท์วิศวะ, หรือแม้แต่ศัพท์ของชาวเน็ตเวิร์ก ซึ่งทาง NetworkComputing.com ได้รวบรวมคำศัพท์ของชาวเครือข่าย 9 คำที่ใช้คัดแยกคนในกับคนนอกวงการได้อยู่หมัด หรือชาวเน็ตเวิร์กควรเข้าใจอย่างถ่องแท้ดังต่อไปนี้

1. Packet เล่นแผลงคำมาจากแพกเกจหรือบรรจุภัณฑ์ห่อสินค้าต่างๆ ซึ่งบนโลกเครือข่ายนั้น ก็คือข้อมูลที่เป็นหีบห่อบรรจุข้อมูลที่ต้องการขนส่งระหว่างคอมพิวเตอร์บนเครือข่าย TCP/IP นั่นเอง

2. Ping แม้จะลอกมาจากกีฬาปิงปอง ก็ถือว่าเป็นทูลจำเป็นสำหรับแก้ปัญหาครอบจักรวาลเลยทีเดียว ด้วยความสามารถในการตรวจสอบการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ บนเครือข่ายระดับ IP รวมทั้งเวลาที่ใช้ในการเดินทางไปกลับระหว่างอุปกรณ์ด้วย

3. Edge ตำแหน่งบนเครือข่ายที่มีการให้บริการแก่ผู้ใช้หรืออุปกรณ์, มีการรวบรวมข้อมูล, หรือเป็นอินเทอร์เฟซที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายอื่น อย่างบน LAN นั้น Edge มักหมายถึงสวิตช์ระดับแอคเซสที่ใช้เชื่อมต่อกับผู้ใช้ และอุปกรณ์เอนด์พอยต์โดยตรงนั่นเอง

4. RFC ชื่อกลุ่มมาตรฐานเน็ตเวิร์ก ที่องค์กรมาตรฐานเปิดอย่าง Internet Engineering Task Force กำหนดออกมา โดยใช้ตัวเลขชุดตามหลังคำว่า RFC หรือที่ย่อมาจาก Requests For Comments ที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง

5. Fabric เป็นคำที่สร้างความงงมากที่สุดกับคนนอก เพราะเราไม่ใช่ชาวพาหุรัดขายผ้า คำนี้มีประวัติอันยาวนาน และความหมายที่แตกต่างกันมากมาย แต่ปัจจุบันจะใช้แทนเครือข่ายที่ยุบรวมเป็นระนาบเดียวกันต่อเนื่องไร้รอยต่อทอเต็มผืน เพื่อให้ได้ทั้งความคล่องตัว และความสามารถในการปรับเปลี่ยนขนาดของระบบได้ดีกว่าสถาปัตยกรรมทางเครือข่ายที่แบ่งเป็นลำดับชั้นแบบเดิม ซึ่งพบในเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างคลาวด์ และเวอร์ช่วลไลเซชั่น

6. East-West Traffic แม้จะมีที่มาจากการเดินทางระหว่างอ่าวฝั่งตะวันออก ไปยังแผ่นดินใหญ่ของซานฟรานทางตะวันตก แต่ในเชิงเน็ตเวิร์กนั้น เราใช้แทนการสื่อสารระหว่างเซิร์ฟเวอร์ภายในดาต้าเซ็นเตอร์ ขณะที่ทราฟิกจากเหนือไปใต้หรือ North-South จะแทนการสื่อสารระหว่างดาต้าเซ็นเตอร์กับภายนอกตามปกติ ซึ่งเทคโนโลยีใหม่อย่างเวอร์ช่วลไลเซชั่นจะช่วยเร่งความเร็วในการสื่อสารแบบ East-West เป็นอย่างมาก

7. Classless ความไม่มีคลาส หรือไม่แบ่งประเภทนี้ เราเอามาใช้อธิบายการกำหนดที่อยู่บนเครือข่ายที่ไม่ขึ้นกับคลาสแบบเดิม ด้วยการซอยย่อยขนาดของเครือข่ายเป็นส่วนย่อยๆ ผ่านการกำหนดความยาวของซับเน็ตมาส์กแทน เพื่อให้ใช้เลข IPv4 ที่มีอย่างจำกัดให้คุ้มที่สุด

8. DMZ แปลตรงตัวก็คือเขตปลอดทหาร แบบที่เห็นในคาบสมุทรเกาหลี แต่ชาวเน็ตเวิร์กก็เอามาใช้แทนเลเยอร์ที่สร้างขึ้นอีกระดับในด้านความปลอดภัย หรือก็คือส่วนของเครือข่ายที่องค์กรสามารถนำบริการที่ต้องต่อออกอินเทอร์เน็ต อย่างเช่นเว็บเซิร์ฟเวอร์ แยกออกมาอยู่ส่วนนี้ เพื่อปกป้องทรัพยากรภายในองค์กรจากการเข้าถึงของภายนอกโดยตรงได้

9. Control Plane ช่วงนี้ได้ยินติดหูมากพร้อมๆ กับเทรนด์เครือข่ายแบบ Software-Defined ที่กำลังมาแรง คอนโทรลเพลนนี้ถือเป็นกระบวนการประมวลผลที่ควบคุมการฟอร์เวิร์ดแพ๊กเก็ตข้อมูลบนเครือข่าย เช่น การทำงานของเราท์ติ้งโปรโตคอล โดยเรามักพูดกันว่า ดาต้าเพลนฟอร์เวิร์ดทราฟิกไปยังคอนโทรลเพลน ซึ่งดาต้าเพลนคือการสวิตชิ่งของเลเยอร์ 2 นั้นเอง เทคโนโลยี SDN ใหม่นี้จะแบ่งระนาบการควบคุมและส่วนข้อมูลออกจากกัน เพื่อให้ได้ระบบการทำงานแบบอัตโนมัติ และความยืดหยุ่นที่มากกว่าเดิม

ที่มา : http://www.networkcomputing.com/data-centers/10-things-only-networking-pros-will-understand/166004932