หน้าแรก Applications ไปดู 7 ทักษะไอที ที่มีคนต้องการฉกตัวมากที่สุดในปี 2561 นี้

ไปดู 7 ทักษะไอที ที่มีคนต้องการฉกตัวมากที่สุดในปี 2561 นี้

แบ่งปัน

การเข้าทำงานใหม่ไม่ว่าจะสายอาชีพไหนย่อมไม่มีทางโรยด้วยกลีบกุหลาบ นอกจากจะมีของดีหรือความสามารถบางอย่างที่ทำให้ทุกบริษัทแทบจะเบียดรถฟังทองมาอัญเชิญเข้าทำงานถึงหน้าประตูบ้าน

ดังนั้น CIO.com จึงได้รวบรวมความต้องการของนายจ้างฝ่ายไอทีที่ฮอตฮิตที่สุดตอนนี้ โดยใช้ข้อมูลวิจัยจากแพลตฟอร์มหางานยอดนิยมทั้งหลาย ที่ดูจากคีย์เวิร์ดที่ใช้เสิร์ชจากทั้งฝั่งผู้หาและผู้จ้างงานตั้งแต่ช่วงปี 2558 – 2560 เพื่อเปรียบเทียบแนวโน้มแบบปีต่อปี จนสรุปเป็นทักษะงานไอทีที่มีแนวโน้มฮอตมากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งดังต่อไปนี้

1. React

Advertisement

เป็นไลบรารีจาวาสคริปต์สำหรับพัฒนาอินเทอร์เฟซสำหรับผู้ใช้ ซึ่งมีใช้บนเฟซบุ๊ก, อินสตราแกรม, และกลุ่มนักพัฒนาอื่นๆ ไปจนถึงบริษัทจำนวนมาก จนทำให้เมื่อปีที่ผ่านมานั้น โปรเจ็กต์ React ขึ้นมาเป็นกลุ่มที่มีผู้ร่วมพัฒนาโค้ดมากที่สุดเป็นอันดับสองใน GitHub ดังนั้นถือว่า React เป็นทักษะไอทีที่เติบโตเร็วมากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากสถิติคำค้นหาของผู้หางาน รวมไปถึงการค้นหาของผู้จ้างงานที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า นับว่าเป็นทักษะยอดนิยมมากในหมู่บริษัทที่ให้บริการแก่ผู้บริโภคปลายทางโดยตรง และกลายเป็นทักษะที่จำเป็นต้องมีสำหรับนักพัฒนาฟร้อนเอนด์ทั้งหลายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงแนะนำอย่างยิ่งให้ชาวไอทีทั้งหลายพยายามหาประสบการณ์เกี่ยวกับ React เพื่อเอามาประดับเรซูเม่โดยด่วน (ผู้จ้างงานค้นหาเพิ่มขึ้น 229% ผู้หางานค้นหาเพิ่มขึ้น 313%)

2. Azure

ป็นโซลูชั่นคลาวด์คอมพิวติงจากไมโครซอฟท์ที่จัดการผ่านเครือข่ายดาต้าเซ็นเตอร์ที่ตั้งอยู่กระจายทั่วโลกของไมโครซอฟท์เอง Azure นั้นให้บริการคลาวด์เกือบทุกประเภทไม่ว่าจะเป็น Software-as-a-Service (SaaS), Platform-as-a-Service (PaaS),และ Infrastructure-as-a-Service (IaaS)รวมทั้งรองรับภาษาเขียนโปรแกรมที่หลากหลายมาก โดยไมโครซอฟท์กล่าวว่าลูกค้าส่วนใหญ่นิยมใช้ภาษา Python ในการพัฒนาเว็บแอพ ดังนั้นภาษา Python และประสบการณ์ในการใช้ Azure จึงเป็นที่ต้องการตัวเป็นอย่างยิ่ง

3. Amazon Web Service (AWS)

เป็นแพลตฟอร์มคลาวด์คอมพิวติงชั้นนำที่ธุรกิจทั่วโลกเลือกใช้เพื่อเป็นทั้งสตอเรจและระบบประมวลผลภายนอกองค์กร ซึ่งวงการคลาวด์คอมพิวติงโดยรวมนั้นกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาก ทั้งนี้เพราะบริษัททั้งหลายทุกสาขาต่างพยายามใช้ประโยชน์จากการเอาต์ซอร์สระบบประมวลผลและสตอเรจมากขึ้น จนกระทั่งทุกบริษัทจำเป็นต้องมีนักพัฒนาที่เชี่ยวชาญบนคลาวด์ (ผู้จ้างงานค้นหาเพิ่มขึ้น 40% ผู้หางานค้นหาเพิ่มขึ้น 98%)

4. Offensive Security Certified Professional (OSCP)

จากกระแสเหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหล ไปจนถึงการแฮ็กระบบและการโจมตีมากมายในขณะนี้ ทำให้องค์กรมากมายต่างเฟ้นหาผู้เชี่ยวชาญที่สามารถค้นหาและอุดช่องโหว่ในบริษัท ดังนั้นใบประกาศรับรอง OSCP นี้จึงเป็นหลักฐานแสดงว่ามีความสามารถในการตรวจสอบเครือข่ายที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน เพื่อค้นหาเป้าหมายที่มีช่องโหว่, ทดสอบการเจาะระบบ,แล้วทำรายงานสรุปผลการทดสอบที่เป็นมาตรฐานได้ (ผู้จ้างงานค้นหาเพิ่มขึ้น 34% ผู้หางานค้นหาเพิ่มขึ้น 37%)

5. Spark

เป็นเฟรมเวิร์กสำหรับประมวลผลแบบคลัสเตอร์ และเอนจิ้นประมวลผลข้อมูลแบบโอเพ่นซอร์สจาก Apache ที่นิยมในหมู่ยักษ์ใหญ่ด้านไอทีอย่าง Netflix, eBay, และ Yahoo สำหรับวิเคราะห์ข้อมูล, ทำสตรีมมิ่ง, ประมวลผล SQL, ทำ Machine Learning เป็นต้น โดยแอพลิเคชั่นสามารถเขียนด้วยภาษาโปรแกรมมิ่งที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นจาวา, Scala, Python, R ฯลฯ (ผู้จ้างงานค้นหาเพิ่มขึ้น 14% ผู้หางานค้นหาเพิ่มขึ้น 39%)

6. AngularJS

เป็นเฟรมเวิร์กเว็บแอพแบบฟร้อนเอนด์ที่เป็นโอเพ่นซอร์ส ทำงานบนจาวาสคริปต์เป็นหลัก ดูแลโดยกูเกิ้ลร่วมกับกลุ่มชุมชนผู้พัฒนาขนาดใหญ่ โดยมีความสามารถในยกระดับภาษา HTML เดิมเพื่อสร้างเว็บแอพที่มีฟีเจอร์เต็มรูปแบบมากขึ้น (ผู้จ้างงานค้นหาเพิ่มขึ้น 6% ผู้หางานค้นหาเพิ่มขึ้น 50%)

7. R

ภาษาโปรแกรมมิ่งแบบโอเพ่นซอร์สที่เป็นสภาพแวดล้อมสำหรับซอฟท์แวร์สำหรับการประมวลผลและแสดงภาพเชิงสถิติโดยเฉพาะ ถือเป็นภาษายอดนิยมสำหรับนักสถิติ, นักวิเคราะห์ข้อมูล, และนักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูลสำหรับพัฒนาซอฟต์แวร์ในการวิเคราะห์ข้อมูลโดยเฉพาะ (ผู้จ้างงานค้นหาเพิ่มขึ้น 3% ผู้หางานค้นหาเพิ่มขึ้น 28%)

ที่มา : CIO