หน้าแรก Data Center เรื่องน่ารู้ : การเชื่อมต่อแบบข้าม และการเชื่อมต่อระหว่างกันในดาต้าเซ็นเตอร์

เรื่องน่ารู้ : การเชื่อมต่อแบบข้าม และการเชื่อมต่อระหว่างกันในดาต้าเซ็นเตอร์

แบ่งปัน

ในพื้นที่ของดาต้าเซ็นเตอร์นั้น การเชื่อมต่อทั้งแบบข้าม (Cross Connect) และเชื่อมต่อระหว่างกัน (Interconnect) ผ่านแผงชุมสายนั้นเป็นการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ที่นิยมใช้เนื่องจากได้ทั้งความยืดหยุ่น และง่ายต่อการจัดการ มักใช้ในกลุ่มของสวิตช์ และการเชื่อมต่อระหว่างสวิตช์กับเซิร์ฟเวอร์ มักใช้ในกลุ่มของสวิตช์ และการเชื่อมต่อระหว่างสวิตช์กับเซิร์ฟเวอร์ นอกจากนี้ยังอาจพบการเชื่อมต่อข้ามหรือการเชื่อมต่อระหว่างกันหลายการเชื่อมต่อบนสัญญาณเดียวกัน ไปจนถึงการผสมทั้งสองแบบในแชนแนลเดียวกันด้วย

ชาวเราส่วนใหญ่รู้กันดีอยู่แล้วว่าควรทดสอบที่ส่วนของลิงค์ถาวรตรงกลางจะดีกว่าถ้าเทียบกับตลอดช่องสัญญาณหรือทั้งแชนแนล เนื่องจากลิงค์ถาวรเป็นส่วนที่ยึดคงที่ตายตัวในแชนแนล ซึ่งมักนับตั้งแต่แผงชุมสายหรือแพ็ตช์พาแนลหนึ่งไปยังอีกแพ็ตช์พาแนลหนึ่งในดาต้าเซ็นเตอร์ หรือจากแพ็ตช์พาแนลในห้องชุมสาย (Telecommunication Room) ไปยังเต้าเสียบที่บริเวณใช้งานปลายทางบนเครือข่ายแลน ขณะที่ในทางกลับกัน ช่องสัญญาณจะรวมและแพ็ตช์คอร์ดทุกเส้นด้วยที่อยู่ระหว่างอุปกรณ์ต้นทางและปลายทาง

แน่นอนว่าที่เรานิยมทดสอบเฉพาะส่วนลิงค์ถาวรก็เพราะถือเป็นรากฐานของเครือข่าย ขณะที่สายแพ็ตช์คอร์ดที่อยู่ส่วนต้นส่วนปลายนั้นมักมีการเปลี่ยนแปลง หรือสลับเปลี่ยนไปมาอยู่เสมอ ดังนั้นถ้าทดสอบส่วนลิงค์ถาวรแล้วผ่าน และใช้สายแพ็คช์คอร์ดที่ได้มาตรฐานแล้ว ช่องสัญญาณทั้งหมดนี้ก็ควรผ่านด้วย ถ้าเราเอาแต่ทดสอบทั้งช่องสัญญาณจนผ่าน แต่มีเหตุที่ต้องเปลี่ยนสายแพ็ตช์คอร์ดแล้ว ผลการทดสอบช่องสัญญาณดังกล่าวก็เท่ากับเสียเปล่าไปเลย

แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีการเชื่อมต่อแบบข้ามเข้ามาเกี่ยวข้อง?

การเชื่อมต่อระหว่างกัน กับการเชื่อมต่อแบบข้าม
การเชื่อมต่อระหว่างกัน คือการใช้แผงชุมสายที่อุปกรณ์หนึ่ง กระจายลิงค์ยิงการเชื่อมต่อไปยังอีกอุปกรณ์หนึ่งในดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งเรามักเรียกแผงนี้ว่าเป็นแผงกระจายสาย (Distribution Panel) ดาต้าเซ็นเตอร์แต่ละที่มักใช้การเชื่อมต่อระหว่างกันนี้ที่ปลายทั้งสองข้างของช่องสัญญาณ โดยที่การเชื่อมต่อจากแผงหนึ่งไปยังอีกแผงชุมสายหนึ่งจะถือเป็นลิงค์ถาวร

แล้วอะไรคือการเชื่อมต่อแบบข้ามล่ะ? การเชื่อมต่อแบบข้ามในดาต้าเซ็นเตอร์เป็นการใช้แผงชุมสายเพิ่มเติมที่จัดพอร์ตเสมือนพอร์ตบนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อด้วย เพื่อสร้างพื้นที่การเชื่อมต่อสายแยกออกมาต่างหาก ที่พอร์ตของอุปกรณ์พอร์ตไหนก็สามารถเชื่อมต่อไปยังพอร์ตอื่นๆ บนอีกอุปกรณ์ โดยใช้สายแพ็ตช์คอร์ดต่อที่ด้านหน้าแผงสาย

แต่ละดาต้าเซ็นเตอร์ก็มีความแตกต่างกัน บางแห่งใช้การเชื่อมต่อระหว่างกันที่ตัวอุปกรณ์ ที่เป็นการสร้างช่องสัญญาณที่มีหัวต่อสองหัว มีลิงค์ถาวรวิ่งระหว่างแพ็ตช์พาแนลสองแผง ขณะที่บางแห่งอาจใช้การเชื่อมต่อแบบข้ามร่วมกับการเชื่อมต่อระหว่างกันที่ปลายด้านหนึ่งเพื่อต่อกับอุปกรณ์ จนกลายเป็นช่องสัญญาณที่มีสามหัวต่อ (ดูแผนภาพแบบ End-of-Row ด้านล่างสุดประกอบ) นอกจากนี้ยังมีดาต้าเซ็นเตอร์บางแห่งที่ใช้การเชื่อมต่อระหว่างกันปกติที่ปลายทั้งสองข้าง ขณะที่มีการเชื่อมต่อแบบข้ามแยกออกมาในส่วนตรงกลางเพื่อเปิดโอกาสให้ปรับเปลี่ยนการเชื่อมต่อได้ ทำให้กลายเป็นช่องสัญญาณแบบมีถึง 4 หัวต่อ ตามแผนภาพการเชื่อมต่อแบบข้ามดังต่อไปนี้

สถานการณ์ที่เชื่อมต่อแบบข้ามที่ใช้หัวต่อรวมทั้งหมด 4 จุด (Four-Connector)

แม้ยังมีดาต้าเซ็นเตอร์บางแห่งยังใช้การเดินสายเคเบิลระหว่างสองอุปกรณ์โดยตรงแบบจุดต่อจุด ไม่มีมาพักสายบนแผงอย่างการเชื่อมต่ออินเตอร์คอนเน็กต์ หรือซับซ้อนไปถึงขั้นการเชื่อมต่อแบบข้าม แต่ก็มักใช้แค่ภายใน Rack หรือตู้อุปกรณ์เดียวกัน อย่างเช่น สวิตช์ด้านบนสุด (Top-of-Rack) ที่เชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์ด้านล่างโดยตรง ทั้งนี้ไม่แนะนำอย่างยิ่งให้ต่อสายเคเบิลโดยตรงแบบ Point-to-Point ระหว่างอุปกรณ์ข้ามตู้หรือออกมาอยู่ในพื้นที่ทำงานของดาต้าเซ็นเตอร์

การเชื่อมต่อแบบข้ามมีประโยชน์อย่างไรบ้าง?
ถึงแม้การเชื่อมต่อแบบข้ามในดาต้าเซ็นเตอร์จะใช้สายเคเบิลและการเชื่อมต่อมากกว่าปกติ ต้องติดตั้งจุดเชื่อมต่อเพิ่ม (ที่เป็นสาเหตุของค่าการสูญเสียภายในสายเพิ่มด้วย) ในช่องสัญญาณ แต่ก็มีประโยชน์มากในการแยกส่วนอุปกรณ์ออกไปต่างหาก ทำให้ง่ายต่อการเคลื่อนย้าย เพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลง

อย่างกรณีดาต้าเซ็นเตอร์แบบโคโลเคชั่นนั้น ส่วนที่เป็นการเชื่อมต่อแบบข้ามจะเป็นพื้นที่แยกออกมาเพื่อใช้เชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ของผู้ให้บริการที่อยู่ในห้อง Meet-me (MMR) กับอุปกรณ์ของผู้เช่า การเชื่อมต่อแบบข้ามระหว่างอุปกรณ์ของผู้ให้บริการผ่านแผงกระจายสายที่ปลายด้านหนึ่ง และเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ของผู้ใช้บริการที่ปลายอีกด้านนั้น ทำให้การเปิดบริการให้ลูกค้าง่ายมาก เพียงแค่เพิ่มสายแพ็ตช์คอร์ดระหว่างฝั่งลูกค้ากับฝั่งที่เชื่อมต่อข้ามของผู้ให้บริการเท่านั้น

นอกจากนี้การเชื่อมต่อข้ามยังมีประโยชน์มากในกรณีการใช้งานแบบ Middle-of-Row หรือ End-of-Row ด้วย ที่สวิตช์แอคเซสอยู่ตำแหน่งล่างสุด หรืออยู่ตรงกลางของกลุ่มเซิร์ฟเวอร์ในแถวเดียวกัน ซึ่งกรณีนี้มักใช้การเชื่อมต่อแบบข้ามภายในตู้อุปกรณ์ และการเชื่อมต่อไปยังแผงชุมสายที่เชื่อมต่อแบบอินเตอร์คอนเนกต์ในแต่ละตู้เซิร์ฟเวอร์ กลายเป็นช่องสัญญาณแบบสามหัวต่อดังแผนภาพด้านล่าง การเชื่อมต่อลักษณะนี้ทำให้ง่ายในการเพิ่มเซิร์ฟเวอร์เข้ามาในตู้แล้วออนไลน์ได้ด้วยการเชื่อมต่อไปยังแผงชุมสายแบบอินเตอร์คอนเนกต์ของตู้นั้นๆ

สถานการณ์การเชื่อมต่อจากปลายแถว (End-of-Row) แบบใช้สามหัวต่อ

เราจะทดสอบการเชื่อมต่อแบบข้ามในดาต้าเซ็นเตอร์ได้อย่างไร?
สำหรับภายในแลนแล้ว เรามักทดสอบลิงค์ถาวรแบบสายทองแดงที่วิ่งจากแผงชุมสายในห้องชุมสายออกไปยังพื้นที่ปฏิบัติงาน โดยไม่รวมส่วนของสายแพ็ตช์คอร์ดที่วิ่งไปยังสวิตช์ หรือสายสั้นที่เชื่อมต่อไปยังอุปกรณ์ปลายทาง แต่ในดาต้าเซ็นเตอร์ ที่ใช้สายไฟเบอร์เชื่อมต่อแบบข้ามในส่วนตรงกลางของช่องสัญญาณเลยนั้น เราจะทดสอบกันได้อย่างไร?

เนื่องจากการทดสอบลิงค์ถาวรมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มั่นใจได้ว่าส่วนที่ยึดคงที่ของแชนแนลนั้นทำงานได้ตามต้องการ โดยตัดปัจจัยส่วนของสายแพ็ตช์คอร์ดสั้นๆ รอบข้างที่มักมีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง พอกล่าวถึงตรงนี้หลายคนคงมองว่าเราควรทดสอบเฉพาะส่วนที่ยึดสายถาวรแต่ละส่วนแยกออกจากกันใช่ไหม? แน่นอนว่าการทดสอบตั้งแต่ส่วนของจากแผงชุมสายที่ตัวสวิตช์มายังแผงที่สองที่เข้าสู่ส่วนของการเชื่อมต่อข้าม จากนั้นจึงทดสอบแบบเดิมอีกรอบกับอีกฝั่งหนึ่งตั้งแต่แผงชุมสายอีกข้างของส่วนเชื่อมต่อข้ามไปยังแผงชุมสายที่ปลายสุดอีกด้านหนึ่ง แล้วเอาผลมารวมกันก็น่าจะได้ใช่ไหม? แต่ความเป็นจริงแล้วแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ค่าการสูญเสียทั้งสองฝั่งมารวมกันจะสามารถใช้แทนค่าการสูญเสียรวมทั้งลิงค์ได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะเมื่อท้ายสุดคุณก็ต้องเพิ่มจุดเชื่อมต่ออีกถึงสองจุดตอนที่ต้องเพิ่มสายแพ็ตช์คอร์ดมาเชื่อมต่อแบบข้าม

ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการทำงานกับลิงค์ดาต้าเซ็นเตอร์ที่รวมการเชื่อมต่อแบบข้ามไว้ด้วยก็คือการทดสอบรวมส่วนของการเชื่อมต่อข้ามไปเลย โดยรวมส่วนของสายแพ็ตช์คอร์ดที่เชื่อมต่อแบบข้ามตรงกลางไปด้วย หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ วัดจากแผงชุมสายที่อุปกรณ์ปลายด้านหนึ่งครอบคลุมไปยังแผงชุมสายที่อุปกรณ์ปลายอีกฝั่งไปเลย

ให้แน่ใจว่าคุณใช้สายแพ็ตช์คอร์ดที่มีคุณภาพมาตรฐานมาใช้กับส่วนเชื่อมต่อแบบข้าม แบบพยายามเปลี่ยนแปลงสายส่วนนี้น้อยที่สุด แต่ถ้าหลีกเลี่ยงการปรับเปลี่ยนบ่อยๆ ไม่ได้แล้ว ก็อย่าลืมที่จะทำความสะอาดและตรวจสอบหัวต่อของคุณเสมอด้วยเครื่องมืออย่าง FI-7000 FiberInspector™ Pro หรือ FI-3000 FiberInspector Ultra เป็นต้น

ที่มา : https://www.flukenetworks.com/expertise/learn-about/cross-connects-data-center