หน้าแรก Internet of Things จุฬาฯ ผุดโครงการวิจัยฝุ่น PM 2.5 บนโครงข่าย LoRaWAN

จุฬาฯ ผุดโครงการวิจัยฝุ่น PM 2.5 บนโครงข่าย LoRaWAN

แบ่งปัน
จุฬาฯ ต่อยอดองค์ความรู้เทคโนโลยีร่วมดูแลสังคมด้วยโครงการวิจัย “PM 2.5 Sensor for All” พัฒนาต้นแบบเซ็นเซอร์เฟสแรกติดตั้งภายในและพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยเพื่อเก็บข้อมูลฝุ่น PM 2.5 โดยผ่านโครงข่าย LoRaWAN

รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งมีความร่วมมือกับ CAT ในการติดตั้งโครงข่ายสื่อสาร LoRaWAN เพื่อการพัฒนานวัตกรรม IoT ด้านการควบคุมคุณภาพอากาศ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาในพื้นที่จุฬาฯ ซึ่งมีทั้งโรงพยาบาล ชุมชนและมหาวิทยาลัยว่าเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง PM 2.5 จึงได้ริเริ่มงานวิจัย “PM 2.5 Sensor for All” เพื่อพัฒนาระบบตรวจวัดและวิเคราะห์รูปแบบการเกิดของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากการประยุกต์องค์ความรู้ด้านนวัตกรรมเซ็นเซอร์ IoT และใช้โครงข่ายสื่อสารจาก CAT โดยช่วงแรกทดสอบ Prototype Test ติดตั้งต้นแบบเซ็นเซอร์ 20 จุด ในพื้นที่ 3 กิโลเมตรรอบจุฬาฯ

“เครือข่ายเซ็นเซอร์ที่หนาแน่นจะเก็บข้อมูลด้วยความถี่และต่อเนื่องมาที่ระบบคลาวด์เซิร์ฟเวอร์ของ CAT เพื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยทีมผู้เชี่ยวชาญ Big Data Analytic วิเคราะห์ผลกระทบเชิงอุตุนิยมวิทยา ที่ทำให้เกิดฝุ่น เช่น ลมหรือฝนที่เป็นปัจจัยเกี่ยวข้อง และนำมาจัดทำ Air Model โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อตอบโจทย์ที่ต้องการเกี่ยวกับฝุ่นละออง PM 2.5 และมลพิษอากาศอื่นๆ รวมทั้งทำนายสภาพอากาศของพื้นที่ระหว่างจุดติดตั้งเซ็นเซอร์แต่ละจุดได้ ซึ่งถือเป็นข้อมูลชุดแรกที่เราได้ทำอย่างครบถ้วนและจะเป็นระเบียบวิธีวิจัยในการศึกษาด้านคุณภาพอากาศที่สามารถปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแต่ละพื้นที่เพื่อขยายผลเชิงป้องกันปัญหามลพิษฝุ่นในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งหลังจากนี้จุฬาฯจะมีแผนต่อยอดการทำวิจัยร่วมกันกับ CAT และ สกว.เพื่อขยายไปยังพื้นที่อื่นๆต่อไป”

เซ็นเซอร์สำหรับวัดปริมานฝุ่น PM 2.5

 

นายวิโรจน์ โตเจริญวาณิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจไร้สาย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) หรือ CAT กล่าวว่า CAT พร้อมที่จะสนับสนุนโครงการ PM 2.5 Sensor for All ต่อเนื่องในเฟสต่อๆไป โดยขณะนี้ได้ติดตั้งโครงข่าย LoRAWAN แล้วใน 33 จังหวัดและกลางปีนี้จะครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อรองรับการพัฒนา IoT ของไทยที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในภาคส่วนต่างๆ “ขณะนี้มีการใช้งาน Use Case อุปกรณ์ IoT รวมถึงบริการอัจฉริยะที่หลากหลายมากขึ้นบนโครงข่ายของ CAT สำหรับการประยุกต์ใช้งานด้านคุณภาพอากาศและตรวจวัดฝุ่นควัน CAT ได้ร่วมมือกับจุฬาฯ โดยนอกจากโครงข่ายแล้วยังมีทีมวิศวกรของ CAT , ST Microelectronics และ AVANET ที่จะช่วยในการพัฒนาเซ็นเซอร์ตามสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ เช่น จังหวัดน่านที่ให้ความสนใจฝุ่นขนาดควันขนาดใหญ่ หรือกรุงเทพที่สนใจในเรื่องฝุ่นขนาดเล็กอย่าง PM 2.5”

แอพฯ วัดค่าฝุ่น PM 2.5

ทั้งนี้ โครงการวิจัย “PM 2.5 Sensor for All” กำหนดเปิดเสวนาและเวิร์คชอปในวันที่ 15 ก.พ.2562 นี้ ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งจะมีกิจกรรม Hands on workshop ให้ผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมประกอบต้นแบบเซ็นเซอร์เพื่อนำไปติดตั้ง พร้อมกับได้รับทราบถึงการวิจัยพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคมด้านคุณภาพอากาศของประเทศต่อไป.