หน้าแรก Networking & Wireless 8 แหล่งข้อมูลหลัก ! ที่มักดึงมาใช้ในการวิเคราะห์ประสิทธิภาพเน็ตเวิร์ก

8 แหล่งข้อมูลหลัก ! ที่มักดึงมาใช้ในการวิเคราะห์ประสิทธิภาพเน็ตเวิร์ก

แบ่งปัน

แพลตฟอร์มวิเคราะห์เครือข่ายหรือ NA (Network Analytics) ถือเป็นทูลระดับองค์กรล่าสุดที่ควรพิจารณาเลือกใช้เป็นอย่างยิ่งในปี 2019 นี้ โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวจะเป็นการผสานเทคนิคการตรวจสอบสถานะเครือข่ายแบบเดิมเข้ากับเทคนิคหรือเทคโนโลยีใหม่

สิ่งที่นำมาผสานเพิ่มนั้นได้แก่เทคโนโลยี Deep Analytics และ Artificial Intelligence (AI) ที่ทำให้แอดมินผู้ดูแลระบบเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเครือข่ายไปโดยสิ้นเชิง เนื่องจากทูลนี้ดึงข้อมูลจากหลายแหล่ง พร้อมใช้ระบบอัจฉริยะวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้

ทำให้ทูลนี้สามารถระบุปัญหาทั้งด้านเน็ตเวิร์ก, แอพพลิเคชั่น, และประสิทธิภาพการใช้งานของผู้ใช้ปลายทางได้จากการนำข้อมูลหลายส่วนมาประมวลผลร่วมกัน แต่ปัญหาหลักก็คือ ตัว NA นี้ไม่ได้ทำงานได้ดีตั้งแต่ช่วงแรก จนทำให้เหล่าแอดมินเน็ตเวิร์กไม่สามารถเข้าใจศักยภาพได้อย่างเต็มที่

และเมื่อมองถึงการทำตลาดของผลิตภัณฑ์กลุ่ม Network Analytics ก็มีปัญหาไม่แพ้กัน สาเหตุมาจากการที่แพลตฟอร์ม NA มีรูปแบบการใช้งานที่หลากหลายและยืดหยุ่นมาก ทำให้ผู้จำหน่ายทำตลาดกับผู้ใช้ส่วนใหญ่ให้ชัดเจนได้ยาก

ความยากในการทำตลาดนี้พอๆ กับอีกเทคโนโลยีเครือข่ายหนึ่งที่มีความซับซ้อนอย่างเช่น ระบบ Software Defined Networking หรือ SDN แบบ End-to-End อย่างไรก็ดี ระบบ Network Analytics ถือเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสนใจและศึกษา

ซึ่งเนื้อแท้ของ NA นั้นไม่ได้ซับซ้อนหรือน่ากลัวอย่างที่หลายคนคิด โดยวิธีที่ดีที่สุดในการศึกษาคือการมองไปที่แหล่งข้อมูลที่แพลตฟอร์มกำลังรวบรวมอยู่ ซึ่งจะเห็นว่ามีหลายแหล่งข้อมูลที่ NA ใช้เป็นแหล่งเดียวกับทูลอื่นๆ ที่คุณใช้ในงานดูแลเครือข่ายปัจจุบันอยู่แล้ว โดยแหล่งข้อมูลที่ NA ใช้ได้แก่:

1. Simple Network Management Protocol (SNMP)

เป็นวิธีหลักที่ถูกนำมาใช้ในการตรวจสอบเครือข่ายมาหลายทศวรรษ ทำงานด้วยการส่งคำสั่งขอข้อมูลไปยังอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อร้องขอข้อมูลที่จำเพาะเกี่ยวกับสถานะ และข้อมูลเชิงสถิติที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่วิ่งผ่าน

2. ระบบยืนยันตนผ่าน RADIUS/AD

เมื่อมองจากแง่มุมของเครือข่ายไร้สายนั้น การวิเคราะห์ข้อมูลการยืนยันตัวตนจะสามารถระบุปัญหาต่างๆ อย่างเช่นการเชื่อมต่อของผู้ใช้ที่ผิดปกติ, การปฏิเสธการยืนยันตนซ้ำๆ, หรือการร้องขอการยืนยันตนซ้ำอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

3. Syslog

ที่ผ่านมาแอดมินเครือข่ายใช้ Syslog สำหรับการจัดการเหตุการณ์ที่เกิดกับอุปกรณ์เครือข่าย โดยอุปกรณ์จะส่งข้อความ Log มายังเซิร์ฟเวอร์รวบรวม Syslog

4. CLI/SSH

อุปกรณ์เครือข่ายที่ใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เฟซคอมมานด์ไลน์สำหรับการตั้งค่าและจัดการนั้น แพลตฟอร์ม NA สามารถล็อกอินเข้าไปจัดการได้แบบอัตโนมัติจากระยะไกลผ่าน SSH ได้ด้วย

5. เซ็นเซอร์และ Probe จากระยะไกล

เป็นอีกหนึ่งวิธีในการรวบรวมข้อมูลเพื่อให้ได้มุมมองเชิงลึกเกี่ยวกับสถานะของเครือข่ายได้

6. Flow/IPFIX

มีโปรโตคอล Flow หลากหลายแบบให้ใช้ไม่ว่าจะเป็น NetFlow, SFlow, และ JFlowนอกจากนี้ยังมีโปรโตคอลที่เป็นมาตรฐานอย่างเช่น IPFIX

7. DNS

เป็นช่องทางที่หลายคนมองข้าม แต่สามารถให้ข้อมูลที่สำคัญในการระบุอุปกรณ์ที่คุยสื่อสารระหว่างกัน รวมทั้งวัตถุประสงค์ในการสื่อสารได้

8. Proprietary streaming telemetry

ถ้าคุณซื้อแพลตฟอร์มวิเคราะห์เครือข่ายที่มาจากผู้จำหน่ายรายเดียวกับอุปกรณ์เครือข่ายที่ติดตั้งอยู่แล้ว ระบบ NA จะสามารถดึงสตรีมข้อมูลเครือข่ายที่จำเพาะกับแบรนด์ได้ ขณะที่การใช้คนละแบรนด์จะไม่สามารถทำได้แบบนี้

ที่มา : Networkcomputing