หน้าแรก Cloud 6 เทรนด์สำคัญที่กระทบด้านธุรกิจและความปลอดภัย แห่งปี 2019

6 เทรนด์สำคัญที่กระทบด้านธุรกิจและความปลอดภัย แห่งปี 2019

แบ่งปัน

แม้จะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของสื่อทุกสำนักไปแล้วในการเขียนทำนายเกี่ยวกับเทรนด์ด้านเทคโนโลยีในอนาคตที่คาดว่าน่าจะมีผลต่อธุรกิจ หรือแม้แต่ด้านความปลอดภัยที่เราต่างเป็นกังวลกัน แต่การคาดการณ์ให้แม่นยำนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

เนื่องจากมีเทคโนโลยีเกิดใหม่ขึ้นเป็นจำนวนมากที่ใครๆ ก็สามารถปิดตาชี้ได้ว่าจะต้องมีอิทธิพลกับพวกเราแน่ๆ ไม่มากก็น้อย ในสักวันหนึ่ง อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราควรให้ความสนใจเป็นพิเศษก็คือ แนวโน้มด้านเทคโนโลยีที่จะมามีผลกระทบต่อการใช้งานปัจจุบันในระยะอันใกล้มากกว่า

สำหรับ 6 เทรนด์สำคัญประจำปีนี้ที่รวบรวมมาให้นั้น มีอยู่ 4 รายการที่เคยมีหลายสื่อกล่าวถึงไปแล้วในการทำนายเทรนด์ปีก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังมองว่ากำลังจะมีบทบาทสำคัญอย่างต่อเนื่องในปี 2019 ด้วย ทั้ง 6 เทรนด์ที่สรุปมานี้พิจารณาแล้วว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวที่จะเข้ามากระทบกับพวกเราแน่นอนในช่วง 1 ปีข้างหน้า อันได้แก่

1. ระบบสมองกลหรือ AI

มีการนำ AI มาใช้มากน้อย เร็วช้าแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม อย่างเช่นในวงการแพทย์ที่เราเห็นการนำ AI มาใช้ในการรักษาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการตรวจหาอาการของมะเร็ง ซึ่งในวงการด้านความปลอดภัยนั้น มีการนำระบบแมชชีนเลิร์นนิ่งมาใช้กับระบบวิเคราะห์ภาพจากกล้องวงจรปิดมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาระบบแมชชีนเลิร์นนิ่งได้ผ่านขั้นตอนการเรียนรู้จากประสบการณ์การใช้งานมานานพอสมควร ทำให้ปัจจุบันหรือในอนาคต AI จะมีความแม่นยำในการตัดสินใจเพิ่มขึ้น และถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลาย

2. การประมวลผลผ่านคลาวด์ และการประมวลผลแบบ Edge

ปัจจุบันแทบทุกองค์กรหันมาใช้ประโยชน์จากคลาวด์กันหมดแล้ว ซึ่งคลาวด์เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการรวมการประมวลผลไว้ที่ศูนย์กลางเดียวกัน ขณะที่กระแสการนำอุปกรณ์ IoT มาใช้จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ต่างเพิ่มปริมาณข้อมูลที่สร้างขึ้นอย่างมหาศาล จนอาจล้นทะลักทรัพยากรประมวลผลที่อยู่ศูนย์กลางได้ เช่น ระบบกล้องวงจรปิด ดังนั้นจึงมีกระแสการหันมาใช้ประโยชน์จากระบบ Edge Computing ที่เปิดให้อุปกรณ์ที่ Edge หรือขอบของเครือข่ายสามารถประมวลผลบางส่วนก่อน เพื่อเร่งความเร็วในการทำงาน และลดปริมาณข้อมูลที่จะเข้ามาผลาญทรัพยากรที่ส่วนกลาง

3. เรื่องของปัจเจก vs ความเป็นส่วนตัว

ความขัดแย้งระหว่างความต้องการบริการที่ปรับแต่งเข้ากับแต่ละบุคคลมากขึ้น กับการละเมิดความเป็นส่วนตัวกฎ GDPR ที่ออกมาควบคุมการจัดเก็บ แบ่งปัน และใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนตัวของบุคคลอื่นนั้นได้มีผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กรต่างๆ มาก เช่น การบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิด เมื่อรวมกับหลายเหตุการณ์ในช่วงปีที่ผ่านมา อย่างเช่นกรณีที่เฟซบุ๊กใช้ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้อย่างไม่เหมาะสมแล้ว ยิ่งทำให้เกิดความกังวลและตื่นตัวด้านการรักษาความเป็นส่วนตัวเป็นวงกว้าง อย่างไรก็ดี การให้บริการปัจจุบันโดยเฉพาะบนโลกออนไลน์นั้น เราต่างรู้ว่าการยินดีแบ่งปันข้อมูลส่วนตัวนั้นจำเป็นอย่างยิ่งในการแลกกับการบริการที่ปรับแต่งได้เหมาะกับแต่ละบุคคล และยกระดับความพึงพอใจในการให้บริการได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ความเชื่อมั่นระหว่างลูกค้าและองค์กรนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

4. ความปลอดภัยทางไซเบอร์

แม้เรื่องนี้จะถูกกล่าวถึงต่อเนื่องทุกปี แต่ก็ยังเป็นปัญหาที่คนวิตกกังวลมากขึ้นทุกปีเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาที่สร้างความเสียหาย หรือทำลายความเชื่อมั่นระหว่างบริษัทและลูกค้าได้อย่างรวดเร็วอย่างกรณีข้อมูลรั่วไหลของสายการบิน British Airways เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้จะไม่มีวันหายไป ตราบเท่าที่ยังมีอาชญากรไซเบอร์คอยค้นหาและใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ระบบต่างๆ อยู่ตลอด โดยเฉพาะช่องโหว่เกี่ยวกับซัพพลายเชนที่กำลังโดนเพ่งเล็งอยู่ตอนนี้ ทั้งเกี่ยวกับซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ดังนั้นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเข้มงวดด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์หรือไอทีที่ใช้ควบคุมทุกขั้นตอนตลอดกระบวนการ

5. การนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

โดยเฉพาะเซ็นเซอร์ที่พัฒนาขึ้นใหม่ที่สามารถวัดผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อมได้แม่นยำมากขึ้น จนเรียกได้ว่าเป็น “จมูก” เทียมที่ใช้วัดค่าต่างๆ เทียบกับมาตรฐาน ไปจนถึงระบบจับภาพความร้อนที่ใช้ระบุพื้นที่ที่มีการสูญเสีย หรือใช้พลังงานมากผิดปกติ ตัวอย่างเช่น การติดเซ็นเซอร์จับคุณภาพของอากาศทั้งในและนอกอาคาร อย่างเช่นปัญหาหมอกควัน PM 2.5 ที่กำลังสร้างความตระหนกทั่วประเทศอยู่ขณะนี้ เพื่อให้เข้าใจและนำไปสู่การแก้ไขปัญหามากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อตอนนี้ประชาชนตระหนักแล้วว่าค่าใช้จ่ายในการลงทุนกับระบบเซ็นเซอร์และการป้องกันนั้นน้อยกว่าผลกระทบต่อสุขภาพหรือค่าใช้จ่ายในการรักษาภายหลังมาก เรียกว่านอกจากประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพและช่วยบริษัทประหยัดค่าใช้จ่าย (รวมถึงส่งเสริมสุขภาพของพนักงาน) แล้ว ยังช่วยให้องค์กรไปสู่เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกด้วย

6. การใช้ระบบเซ็นเซอร์มาสนับสนุนข้อมูล

เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้ฉลาดมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้เซ็นเซอร์มาทำให้เกิดการตัดสินใจดำเนินการต่างๆ ได้ทันที อย่างเช่น ในระบบสมาร์ทซิตี้นั้น การติดเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวบริเวณสิ่งกีดขวางหรือกำแพง จะช่วยประสานกับกล้องให้รีบจับภาพ และแจ้งเตือนไปยังศูนย์ควบคุมให้ดำเนินการกับการบุกรุกทันทีได้ หรือแม้แต่เซ็นเซอร์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ช่วยประสานกับกล้องตรวจจับความร้อนเพื่อระบุหาตำแหน่งที่เริ่มเกิดเพลิงไหม้หรือมีการรั่วไหลของแก๊สต่างๆ เพื่อแจ้งเตือนให้รีบดำเนินการอย่างทันท่วงที โดยเน้นการประสานการทำงานของเซ็นเซอร์หลายระบบพร้อมกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน

ที่มา : Axis