หน้าแรก Applications รีวิว 4 เครื่องมือสำหรับจัดการเครือข่ายแบบโอเพ่นซอร์ส ที่เป็นที่นิยมในขณะนี้

รีวิว 4 เครื่องมือสำหรับจัดการเครือข่ายแบบโอเพ่นซอร์ส ที่เป็นที่นิยมในขณะนี้

แบ่งปัน

โปรแกรมที่ออกแบบมาเพื่อช่วยในการจัดการเครือข่ายหรือ Network Management Tool (NMS) นั้น แต่เดิมเคยอยู่ในรูปคอมมานด์ไลน์ที่ใช้คำสั่งซับซ้อนในแบบข้อความล้วน ที่ทำให้คนที่ไม่ใช่ผู้คร่ำหวอดกับลีนุกซ์ตัวจริงต่างขยาดไม่อยากเข้าใกล้ ปัจจุบันมีการพัฒนาขึ้นมาตามลำดับจนสามารถใช้งานบนหน้าเดสก์ท็อปหรือผ่านหน้าเว็บแบบกราฟิก พร้อมติดตั้งและตั้งค่าได้ง่ายและสะดวกขึ้นมาก

ซึ่งเมื่อพูดถึงทูลจัดการเครือข่ายแบบโอเพ่นซอร์สที่สามารถนำมาใช้ได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย และถูกนำมาใช้ในวงกว้างแล้ว ย่อมต้องกล่าวถึง 4 โปรแกรมดังต่อไปนี้ได้แก่ OpenNMS, Zenoss Core, NetXMS, และโดยเฉพาะน้องใหม่อย่างSensu Core ที่ให้ฟีเจอร์ที่จำเป็นอย่างการตรวจสอบสถานะระบบที่ครอบคลุม, การทำรายงานที่ยืดหยุ่น, และการรองรับแพลตฟอร์มหลายชนิดพร้อมกัน เป็นต้น ซึ่งจุดเด่นของทูลแต่ละตัวที่น่าสนใจมีดังต่อไปนี้

OpenNMS network management software

เป็นซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สที่พร้อมติดตั้งทั้งบนลีนุกซ์และวินโดวส์เซิร์ฟเวอร์ มีให้เลือก 2 เวอร์ชั่นได้แก่ Meridian และ Horizon โดยที่ Horizon จะเป็นรุ่นที่มีการอัพเดทและพัฒนาไวกว่า มีฟีเจอร์ใหม่ล่าสุดมากกว่า ขณะที่แบบ Meridian จะทยอยออกมาในช่วงเวลาที่นานกว่า (ประมาณ 12 เดือน) พูดง่ายๆ คือ Horizon เหมือนเป็นเวอร์ชั่นหนูทดลองนำร่องให้ใช้ก่อน แต่ Meridian จะเป็นเวอร์ชั่นที่ผ่านการทดลองในรุ่น Horizon จนเสถียรแล้ว ประเด็นคือ รุ่น Horizon ใช้ได้ฟรี แต่ Meridian จะต้องเสียค่าสมาชิก ซึ่งเหมาะกับองค์กรที่ต้องการระบบที่เสถียร และการซัพพอร์ตต่อเนื่องในระยะยาว

สำหรับ Horizon รุ่นล่าสุด 22.0.3 นั้นติดตั้งได้ง่ายทั้งบนวินโดวส์และลีนุกซ์ ขอเพียงต้องมีติดตั้ง Java SDK รวมทั้งถ้าเป็นบนวินโดวส์ก็ต้องติดตั้งระบบฐานข้อมูล PostgreSQL ไว้ก่อน สำหรับฮาร์ดแวร์นั้นควรมีซีพียูแบบดูอัลคอร์ แรม 2 กิ๊ก และพื้นที่ว่างบนดิสก์ขั้นต่อ 20GB

อินเทอร์เฟซการใช้งานเป็นแบบหน้าเว็บ ที่มีหน้าต่างย่อยๆ ที่เรียกว่า “Dashlet” สำหรับแสดงข้อมูลขององค์ประกอบเครือข่ายต่างๆ ให้เราสามารถปรับแต่งการแสดงผลได้อย่างอิสระ มีทั้งตัวแจ้งเตือน, แผนผังเครือข่าย, กราฟ, และแบบรูปภาพ

OpenNMSมีฟีเจอร์ค้นหาอุปกรณ์ด้วยตัวเองซึ่งมีประโยชน์มากเวลานำมาใช้กับองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งนอกจากการค้นหาผ่านโปรโตคอลอย่าง JMX, WMI, Syslog, และ SNMP trapแล้ว ยังมีเอเจนต์ที่ชื่อ “Poller” สำหรับติดตั้งบนโหนดและเอนด์พอยต์ที่ต้องการได้ด้วย เรียกว่ามีฟีเจอร์ที่ครอบคลุมเกือบทุกความต้องการ พร้อมคู่มือและการช่วยเหลือจากชุมชนออนไลน์มากมาย เสียอย่างที่ Horizon มีการอัพเดทบ่อยมาก จนมีความเสี่ยงที่อาจทำให้ระบบมีปัญหาหรือหยุดชะงักจากฟีเจอร์ใหม่ที่ไม่เสถียรได้

NetXMS multi-platform network management

เป็น NMS ที่รองรับหลายแพลตฟอร์มเช่นกัน นอกจากวินโดวส์และลีนุกซ์แล้วยังติดตั้งบนยูนิกส์อย่าง BSD และ Solaris ได้ด้วย อีกทั้งยังมีส่วนของ NetXMS Management Console ที่ติดตั้งบนแมคและอุปกรณ์แอนดรอยด์ได้อีก

ความต้องการระบบพื้นฐานได้แก่ ซีพียูดูอัลคอร์ 1GHz, แรม 1GB, และพื้นที่ดิสก์ 1GB ซึ่งอาจต้องการเพิ่มตามปริมาณข้อมูลที่ต้องการรวบรวมจัดเก็บ NetXMSใช้ฐานข้อมูลพื้นฐานทั่วไปได้ไม่ว่าจะเป็น Oracle MySQL, MS SQL Server, หรือ PostgreSQLสำหรับบนวินโดวส์นั้นใช้อินเทอร์เฟซในรูปแอพพลิเคชั่นบนเดสก์ท็อป ที่มีหน้าต่างพิเศษที่เรียกว่า “Workbench Window” ที่ให้มุมมองที่หลากหลายในการดูองค์ประกอบบนเครือข่าย ตั้งแต่ระยะที่ครอบคลุมกว้างสุดถึง 30,000 ฟุต ไปจนถึงภาพซูมระยะใกล้เพื่อดูรายละเอียดของแต่ละอุปกรณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เรียกว่า NetXMSเป็นคอนโซลที่ใช้งานได้ง่ายและสะดวกมาก แม้ฟีเจอร์บางอย่างจะไม่ค่อยดีเท่าไร เช่น เวลาแก้ไขการตั้งค่าบางอย่าง จะมีปุ่มรูปแผ่นดิสก์ “เล็กๆ” สำหรับกดบันทึก ที่มองแทบไม่ค่อยเห็น และไม่มีการแจ้งเตือนถ้าคุณลืมบันทึกการตั้งค่าด้วย เป็นต้น

Sensu Core network monitoring and management

เพิ่งเปิดตัวรุ่นสำหรับองค์กรตัวแรกไปเมื่อปี 2015 ใช้ฟีเจอร์ใหม่อย่าง RESTful JSON APIในการตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลเหตุการณ์บนเครือข่าย มีรูปแบบการติดตั้งให้เลือกหลากหลาย ทั้งแบบสแตนอโลน, แบบกระจาย, และแบบที่เน้น High Availability ต้องการพื้นที่ขั้นต่ำ 2GB (แนะนำ 4GB) ลงได้ทั้งบนลีนุกซ์และวินโดวส์ แม้การลงบนลีนุกซ์จะค่อนข้างซับซ้อนกว่าบนวินโดวส์หลายเท่าก็ตาม

Sensuนี้ไม่ได้มีการตั้งค่าแบบดีฟอลต์มาให้แต่แรก เพราะฉะนั้นผู้ใช้จำเป็นต้องตั้งค่าด้วยตัวเอง ซึ่งค่อนข้างยุ่งยากพอสมควร โดยเฉพาะการแก้ไขไฟล์ JSON และ XML สำหรับการตรวจสอบการทำงานขององค์ประกอบบนเครือข่ายนั้น จะรวบรวมข้อมูลการใช้ทรัพยากรอย่างหน่วยความจำ, ซีพียู, และแบนด์วิธมาประมวลผลว่าอุปกรณ์หรือเซอร์วิสดังกล่าวทำงานอยู่หรือไม่ โดยใช้ได้ทั้งตัวไคลเอนต์เอง, SNMP, หรือโปรโตคอลตัวอื่น

Sensu Core ใช้สิ่งที่เรียกว่า “Handler” ในการลงมือจัดการตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ เช่นการแจ้งเตือนผ่านข้อความหรืออีเมล์, การบันทึก Log เพื่อสร้างเหตุการณ์ผ่าน ServiceNow หรือ PagerDuty เป็นต้น Sensuรองรับ API และปลั๊กอินจากเธิร์ดปาร์ตี้มากมายให้เลือกติดตั้งได้จากชุมชนออนไลน์ทางการอย่าง Sensu Community เช่น การแจ้งเตือนผ่านทวิตเตอร์ ไปจนถึงตัวตรวจสถานะแอพที่โฮสต์บนคลาวด์

Zenoss Core multi-platform network management

มีให้ใช้เฉพาะบน Red Hat และ CentOS เท่านั้น พร้อมข้อจำกัดที่มากพอสมควรถ้าใช้แบบฟรี โดยเฉพาะการจำกัดโหนดที่ตรวจสอบได้มากสุดแค่ 500 โหนด ซึ่งการดาวน์โหลดมาติดตั้งนั้นจำเป็นต้องลงทะเบียนข้อมูลส่วนตัวบนหน้าเว็บไซต์ก่อน ต้องการซีพียูขั้นต่ำถึง 4 คอร์ พร้อมแรมมากถึง 16 – 24GB เรียกว่ากินทรัพยากรหนักมาก

ใช้อินเทอร์เฟซผ่านหน้าเว็บ ที่มีหน้าต่างย่อยๆ เรียก “Portlet” เช่น ตัวมองอีเวนต์, รายการปัญหาบนอุปกรณ์, ไปจนถึงแผนที่เครือข่ายที่สามารถใช้งานร่วมกับ Google Map ให้เลือกปรับแต่งได้ตามต้องการทั้งจากการลากแล้วปล่อย หรือปรับขนาดหน้าต่าง Zenoss สามารถค้นหาอุปกรณ์ได้โดยอัตโนมัติเป็นอย่างดี ใช้โปรโตคอลและบริการบนเครือข่ายต่างๆ แทนการใช้ตัวเอเจนต์

Zenoss เด่นที่ฟีเจอร์ทำรายงานที่ดูดีมาก มีทั้งแม่แบบที่พร้อมใช้งาน และการเปิดให้ผู้ใช้ปรับแต่งรายงานได้อย่างยืดหยุ่นและง่ายดาย สามารถส่งออกมาในรูป PDF เพื่อส่งต่อให้คนอื่นได้สะดวก ฟีเจอร์อื่นๆ ก็ใช้งานได้ง่าย คู่มือการใช้ก็เข้าใจได้ง่าย แต่ด้วยข้อจำกัดของตัวฟรีที่กล่าวไว้ข้างต้น จึงถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ไม่ได้จำเป็นต้องใช้กับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีโหนดเป็นพัน

ที่มา : Networkworld