หน้าแรก Home Business 4 ประเด็นไอทีทางการแพทย์ ที่ต้องคอยตรวจสอบอยู่เป็นประจำ!

4 ประเด็นไอทีทางการแพทย์ ที่ต้องคอยตรวจสอบอยู่เป็นประจำ!

แบ่งปัน

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ ระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์และบริการด้านสุขภาพได้ผ่านการปฏิวัติทางดิจิตอลเหมือนกับกลุ่มธุรกิจอื่นๆ อย่างการนำ IoT เข้ามาพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เชื่อมต่อได้ใหม่ๆ หลากหลายแบบที่พลิกโฉมเทคโนโลยีด้านการรักษา การปฏิวัติทางดิจิตอลนี้ได้ทำให้อุปกรณ์ทางการแพทย์และระบบโครงสร้างไอทีเดิมจำเป็นต้องทำงานประสานกันมากขึ้น ซึ่งทำให้ระบบไอทีที่เกี่ยวกับการแพทย์มีจุดเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดหรือล่มได้มากกว่าแต่ก่อน

เมื่อการรักษาผู้ป่วยต้องหยุดชะงัก

ประมาณปีที่แล้ว ลูกชายของผู้เขียนเกิดป่วยกะทันหันจึงพาไปโรงพยาบาลใกล้ๆ เพื่อตรวจอาการ ซึ่งคุณหมอตัดสินใจที่จะตรวจเอ็กซ์เรย์จึงต้องส่งตัวไปยังห้องฉายรังสี แต่พอเราไปถึง กลับเจอคิวเป็นสิบยืนรออยู่ตรงทางเดิน เยอะจนไม่มีเก้าอี้ว่าง เราก็เลยต้องยืนรอไปด้วย

สักพักใหญ่ น่าจะประมาณ 15 นาทีหลังจากเรามาถึง พยาบาลก็ลุกลี้ลุกลนรีบออกมาขอโทษขอโพย อ้างว่าเครื่องเอ็กซ์เรย์เสีย เราทำอะไรไม่ได้นอกจากรอต่อไปชั่วโมงกว่า คนที่ออกันก็เยอะขึ้นเรื่อยๆ เริ่มแสดงความไม่พอใจกันมากขึ้น เริ่มบ่นกันว่าร้อน (ไม่มีแอร์บริเวณที่ยืนรอกัน) แถมใกล้เที่ยงแล้ว ลูกชายก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ทานข้าวได้ก่อนที่จะเอ็กซ์เรย์ ลองนึกภาพว่าเด็กอายุแค่หกขวบที่ทั้งป่วย ทั้งร้อน ทั้งหิว ทั้งเหนื่อย จะทนต่อไปได้นานแค่ไหนเชียว

นี่เป็นแค่ประสบการณ์เล็กๆ ที่เจอมากับตัวเวลาที่ขั้นตอนการรักษาต้องพบอุปสรรคจากความล้มเหลวทางเทคโนโลยี แม้ว่าครั้งนั้นทั้งตัวเองและลูกชายจะกระทบแค่รู้สึกไม่สะดวกสบาย แต่ถ้าเป็นกรณีผู้ป่วยวิกฤติที่ต้องการการรักษาฉุกเฉินแล้ว ความล่าช้าแบบนี้อาจกระทบถึงชีวิตได้เลยทีเดียว

โครงสร้างของระบบอุปกรณ์ทางการแพทย์สมัยใหม่

ยุคนี้เรามีโอกาสที่จะเจอกับการหยุดชะงักในการให้บริการด้านการรักษามากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่เพียงเพราะมีอุปกรณ์การแพทย์ที่เป็นแบบดิจิตอลเยอะขึ้นเท่านั้น แต่อุปกรณ์เหล่านี้ต่างพึ่งพาระบบไอทีพื้นฐานมากกว่าหลายปีก่อนหน้านี้ด้วย เนื่องจากต้องเชื่อมต่อบนเครือข่าย ต้องมีการสื่อสารข้อมูลหลายรูปแบบไปยังหลายจุดหมายปลายทาง

แม้อุปกรณ์ที่ใช้รักษาจะสำคัญ แต่หัวใจที่สำคัญกว่า คือ ข้อมูลที่ไหลเวียนอยู่ในระบบไอทีทางการแพทย์สมัยใหม่ ไม่ว่าจะอยู่ในระบบข้อมูลใดก็ตาม เราจำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยได้ตลอดเมื่อต้องการ จากทุกจุดใช้งานในโรงพยาบาล ตัวอย่างเช่น ในจุดที่คุณหมอกำลังสอบถามอาการผู้ป่วย ในห้องเอ็กซ์เรย์ เป็นต้น ภาพที่ได้จากอุปกรณ์ฉายภาพต่างๆ เช่น อุลตร้าซาวด์หรือ MRI ก็จำเป็นต้องส่งต่อ จัดเก็บ และทำให้พร้อมสำหรับการเข้าถึงจากแพทย์และพยาบาลทั่วทั้งโรงพยาบาลตลอดเวลา

เพื่อเป้าหมายดังกล่าวนี้ หลายโรงพยาบาลจึงมีศูนย์จัดการสื่อสารจากศูนย์กลาง หรือที่รู้จักกันในชื่อระบบผสานแบบบูรณาการอยู่ภายใน คอยดูแลข้อมูลผู้ป่วยที่ส่งต่อกันระหว่างแผนก อุปกรณ์ และแพทย์ โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกแลกเปลี่ยนจากเซิร์ฟเวอร์สื่อสารกลางนี้และระบบอื่นๆ อย่าง:

  • ระบบจัดเก็บและรับส่งรูปภาพทางการแพทย์ (PACS) เป็นศูนย์กลางฐานข้อมูลภาพดิจิตอลที่ถูกอัพโหลดขึ้นมาจากอุปกรณ์ถ่ายภาพดิจิตอลต่างๆ
  • ระบบข้อมูลภาพฉายรังสี (RIS) ประมวลผลข้อมูลที่ได้รับและต้องการโดยแผนกรังสีโดยเฉพาะ
  • ระบบฐานข้อมูลสารสนเทศโรงพยาบาล (HIS) ครอบคลุมข้อมูลการบริหารจัดการโรงพยาบาล
  • ระบบข้อมูลห้องปฏิบัติการ (LIS) ดูแลข้อมูลที่เกิดขึ้นและที่ต้องการโดยห้องปฏิบัติการต่างๆ

ด้วยระบบเหล่านี้พร้อมกับเอนจิ้นบูรณาการข้อมูล อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์ไอทีพื้นฐาน ที่ต่างเชื่อมต่ออยู่บนเครือข่ายดั้งเดิมเดียวกัน นั่นหมายความว่าทีมไอทีในโรงพยาบาลตอนนี้ จะไม่ใช่แค่เจอกับความเสี่ยงที่อุปกรณ์ทางการแพทย์จะไม่ทำงานแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ยังต้องเข้ามาจัดการปัญหาไอทีทั่วไปอย่างการที่เน็ตเวิร์กล่ม อุปกรณ์สตอเรจไม่ทำงาน หรือเซิร์ฟเวอร์ไม่ตอบสนองด้วย เนื่องจากถ้าระบบเหล่านี้มีปัญหาก็ย่อมกระทบกับทั้งการสื่อสารข้อมูล และความพร้อมในการให้บริการ

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการรักษาโดยตรง ทำให้เห็นว่าทำไมการเฝ้าตรวจสอบระบบการทำงานทางการแพทย์ยุคใหม่จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

แล้วเราควรเฝ้าตรวจสอบอะไรบ้าง?

จริงอยู่ที่เราควรมีการคอยตรวจสอบสภาพแวดล้อมการทำงานทางดิจิตอลเกี่ยวกับการรักษา แล้วเราต้องดูอะไรบ้างล่ะ? เรามีอยู่ 4 องค์ประกอบที่ควรจับตามอง ได้แก่

1. อุปกรณ์ดิจิตอลทางการแพทย์

การที่อุปกรณ์การแพทย์ที่ตอนนี้เชื่อมต่อและมีการรับส่งข้อมูลบนเครือข่ายนั้น ทำให้เราสามารถตรวจติดตามอุปกรณ์ได้จากบนเครือข่ายเดียวกัน แต่ปัญหา คือ อุปกรณ์เหล่านี้มักไม่ได้ออกแบบให้ง่ายต่อการตรวจสอบเหมือนอุปกรณ์ IoT ทั่วไป อย่างการรองรับ SNMP หรือ NetFlow คุณจึงต้องการทูลตรวจติดตามที่มีฟังก์ชั่นการทำงานเพื่อใช้กับอุปกรณ์ประเภทนี้โดยเฉพาะ

2. เอนจิ้นผสานบูรณาการ

ตัวเอนจิ้นผสานการทำงานนี้ ถือเป็นเหมือนระบบประสาทส่วนกลาง (ถ้าอยากจะเปรียบเทียบทางการแพทย์) ของโรงพยาบาล เป็นศูนย์กลางที่เชื่อมต่อกับทุกระบบ ผสานโฟลว์ข้อมูลของโรงพยาบาลเข้าด้วยกัน ดังนั้น เราจึงควรเฝ้าดูระบบนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งเซิร์ฟเวอร์ส่วนใหญ่ของระบบนี้มี RESTful API ที่สามารถใช้เรียกดูข้อมูลเกี่ยวกับสถานะเซิร์ฟเวอร์และประสิทธิภาพการทำงานได้

3. การสื่อสารระหว่างระบบทางการแพทย์

สภาพแวดล้อมการทำงานทางการแพทย์นั้นจะใช้โปรโตคอลมาตรฐานในการสื่อสารระหว่างเอนจิ้นส่วนกลางกับระบบที่เชื่อมต่อด้วย อย่างโปรโตคอล DICOM (Digital Imaging and Communications in Medicine) ที่ใช้จัดเก็บและส่งต่อภาพถ่ายดิจิตอลทางการแพทย์ หรือโปรโตคอล HL7 ที่ใช้ส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยและข้อมูลสำหรับบริหารจัดการ เป็นต้น

การเฝ้าตรวจติดตามการสื่อสารภายในระบบทางการแพทย์นี้จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่สามารถติดตามโปรโตคอลเหล่านี้ได้ด้วย ตัวอย่างเช่น การทดสอบว่าอุปกรณ์ DICOM จัดเก็บข้อมูลภาพได้อย่างถูกต้อง โดยทดสอบฟังก์ชั่นของ DICOM C-STORE เพื่อดูว่าอุปกรณ์เนื้อที่จัดเก็บเต็มหรือเปล่า ทำงานปกติดีไหม และใช้แบนด์วิธไปเท่าไร

เช่นเดียวกัน เราก็สามารถดูสถานการณ์สื่อสารโดยทั่วไปได้ด้วยการเฝ้าตรวจเช็คอินเทอร์เฟซ HL7 ให้แน่ใจว่ายังตอบสนองต่อคำร้องขอข้อมูลได้อยู่

4. ระบบไอทีดั้งเดิม

แน่นอนว่าทุกอย่างย่อมวกกลับมาที่เน็ตเวิร์กทั่วไป และอุปกรณ์ดั้งเดิมที่เราเฝ้าตรวจสอบกันมาหลายปี ไม่ว่าจะเป็นเราเตอร์ สวิตช์ เซิร์ฟเวอร์ เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ใหม่จริงคือ การดูค่าต่างๆ จากอุปกรณ์เหล่านี้พร้อมๆ กับค่าที่เกี่ยวข้องกับระบบทางการแพทย์ข้างต้น รวมอยู่ในหน้าจอเดียวกัน ทูลที่สามารถเรียกดูข้อมูลจากระบบที่ผ่านการปฏิวัติทางดิจิตอล ที่ผสานการทำงานกันอย่างเช่น ระบบไอทีทางการแพทย์นี้จึงสำคัญมาก

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจสอบระบบไอทีทางการแพทย์สามารถดูเพิ่มเติมได้จากเว็บ
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Paessler www.paessler.com/th

ที่มา:   https://blog.paessler.com/patient-uninterrupted-4-things-in-healthcare-it-that-must-be-monitored