หน้าแรก Networking & Wireless 5G NT ผนึกกำลัง สกพอ. เดินหน้าโครงการ บ้านฉาง เมืองต้นแบบ 5G แห่งแรกของประเทศไทย

NT ผนึกกำลัง สกพอ. เดินหน้าโครงการ บ้านฉาง เมืองต้นแบบ 5G แห่งแรกของประเทศไทย

แบ่งปัน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นประธานในการแถลงข่าวเปิดตัว “บ้านฉาง เมืองต้นแบบ 5G แห่งแรกของประเทศไทย ” ร่วมกับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) โดยมีนายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และนายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระยอง ร่วมเป็นสักขีพยาน

ถือเป็นโครงการที่ความร่วมมือร่วมใจของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อทำให้เกิดต้นแบบการใช้เทคโนโลยี 5G ในการบริหารจัดการเมืองสู่ Smart City ภายใต้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นอกจากนี้ ยังมีการจัดสัมมนาให้ความรู้เรื่อง 5G สมาร์ทซิตี้ และประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตประชาชน โดยมีผู้เชี่ยวชาญ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และนายปรมินทร์ แสงศักดิ์สิทธารถ รองปลัดเทศบาลตำบลบ้านฉาง เป็นผู้ร่วมอภิปราย

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้เปิดเผยว่า การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC ให้สามารถดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานใหม่ทั้งหมด ซึ่งใช้เทคโนโลยี 5G ในการควบคุมเมืองผ่านข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด ( มหาชน ) หรือ NT เพื่อพัฒนาเทศบาลตำบลบ้านฉาง ให้กลายเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ เปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ด้วยการสร้างชุมชนปลอดภัย สิ่งแวดล้อมชุมชนยั่งยืน บริการด้านสาธารณสุขและระบบสาธารณะเพื่อการท่องเที่ยวในชุมชนด้วยเทคโนโลยี 5G แห่งแรกของประเทศไทย

เมืองอัจฉริยะ (Smart city) คือรูปแบบของเมืองแห่งอนาคต ที่ใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมต่อระหว่างประชาชน ชุมชน กับระบบงานบริการของทางภาครัฐ และภาคเอกชนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด หัวใจของการเป็นเมืองอัจฉริยะที่สมบูรณ์แบบนั้น ประกอบไปด้วยการรวบรวมข้อมูลเทคโนโลยี (Internet of Things-IoT) ที่ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สามารถรับส่งข้อมูลระหว่างกันได้อย่างง่ายดายและรวบรวมข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มาใช้ควบคู่กับการเก็บฐานข้อมูลโครงสร้างประชากรและข้อมูลทางภูมิศาสตร์จำนวนมหาศาล และนำมาวิเคราะห์ แบบบูรณาการ ต่อยอดในการพัฒนานโยบายต่างๆของทางภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำเทคโนโลยี 5G ที่มีระบบการประมวลผล และความเร็วในการเชื่อมต่อที่แรงกว่า 4G ถึง 100 เท่า ทั้งยังสามารถสร้างศูนย์รวมข้อมูล (Data center) เพื่อจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัยสูงสุด และสร้างแพลตฟอร์มแสดงผล ให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงประชาชนสามารถเข้าถึงและนำข้อมูลไปใช้งานได้อย่างง่ายดายและมีประสิทธิภาพ