หน้าแรก Cloud Huawei พลิกโลกอีกครั้ง! วางกลยุทธ์เพื่อพัฒนาระบบคอมพิวติ้งแบบยั่งยืน

Huawei พลิกโลกอีกครั้ง! วางกลยุทธ์เพื่อพัฒนาระบบคอมพิวติ้งแบบยั่งยืน

แบ่งปัน

Huawei Connect 2019 ในปีนี้มากับธีมงานที่ชื่อว่า Advance Intelligence เป็นมหกรรมการแสดงเทคโนโลยีของหัวเว่ย ที่มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 25,000 คนทั่วโลก

งานครั้งนี้ได้มีการเปลี่ยนโฉมนวัตกรรมของหัวเว่ยจากเดิมไปอย่างมากมาย โดยแหล่งข่าวระบุว่าตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมาหัวเว่ยนั้น ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำแห่งโลกของการเชื่อมต่อและเครือข่ายการสื่อสารมาโดยตลอด แต่ในงานนี้คือครั้งแรกก็ว่าได้ที่หัวเว่ยกำลังจะเพิ่มความเป็นผู้นำแห่งโลกของการ “Compute” อย่างเต็มขั้น สิ่งที่เห็นได้ชัดคือธีมงานครั้งนี้ของหัวเว่ย รวมถึงการกล่าวสปีชของคุณ Ken Hu ที่ทำให้เราเห็นชัดเจนเลยว่า เรื่องของ AI และการประมวลผลขั้นสูงในการก้าวสู่โลกแห่งอนาคต

Ken Hu รองประธานกรรมการของหัวเว่ย

เขาชี้อย่างชัดเจนเลยว่าในยุคของโลกอัจฉริยะนั้น พวกเราจะได้เห็นแนวโน้มในเรื่องของการประมวลผลหรือที่เรียกว่าคอมพิวติ้งประมาณสามอย่างที่ชัดเจน ประเด็นแรกคือความต้องการพลังในการประมวลผลแบบเหนือระดับ ที่จะช่วยประมวลพวกทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างมหาศาล

ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง AI บางทีการที่คอมพิวเตอร์จะรู้จักว่าสัตว์ชนิดนี้คือแมว อาจจะต้องประมวลผลภาพแมวเป็นหล้านๆ ภาพกว่ามันจะรู้ว่านี่คือแมว ซึ่งแน่นอนว่าเราจำเป็นต้องใช้การประมวลผลมหาศาลขนาดไหน ประเด็นที่สองการประมวลผลและการทำงานแบบอัจฉริยะจะเป็นสิ่งที่แพร่หลายในทุกที่ ไม่ใช่แค่อยู่บนคลาวด์แต่มันจะต้องไปอยู่ในทุกๆ สิ่งหรือทุกๆ อุปกรณ์ และประเด็นสุดท้าย การที่จะให้ผู้คนสามารถที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น ระบบคอมพิวติ้งจำเป็นจะต้องมีการจัดการแบบบูรณาการร่วมกันในทุกๆ ส่วนของระบบทั้งหมด

ดังนั้นหัวเว่ยจึงได้ตัดสินใจอีกครั้งในการที่จะลงทุนเพิ่มในโลกของคอมพิวติ้งอย่างเต็มสูบ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือกลยุทธ์ใหม่ๆ ที่ชัดเจนที่สุดคือ สถาปัตยกรรมที่เรียกว่า “Da Vinci Architecture” ที่จะช่วยให้การทำงานแบบคอมพิวติ้งและระบบอัจฉริยะพร้อมเฉกเช่นเดียวกับอากาศที่เราหายใจ ซึ่ง Da Vinci เป็นสถาปัตยกรรมเพียงหนึ่งเดียวในโลกที่สามารถจะทำงานในทุกๆ อย่างทั้งอุปกรณ์ทุกชนิด, เน็ตเวิร์ก และคลาวด์

ซึ่งมันจะทำให้เกิดหน่วยประมวลผลใหม่ ประกอบด้วยไลน์อัพของโปรเซสเซอร์ที่น่าสนใจ เช่น

– โปรเซสเซอร์ Kunpeng (คุนเผิง) ที่ออกแบบมาเพื่อการประมวลผลอย่างเต็มขั้น
– โปรเซสเซอร์ Ascend ที่ออกแบบมาเพื่ประมวลผลด้าน AI โดยเฉพาะ
– โปรเซสเซอร์ Kirin ที่ออกแบบมาสำหรับอุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์ทั้งหลาย และ
– โปรเซสเซอร์ Honghu (ฮงหู้) ที่ออกแบบสำหรับอุปกรณ์สมาร์ทสกรีน

นอกจากทั้ง 4 รุ่นนี้แล้ว คาดว่าจะมีโปรเซสเซอร์อีกมากมายหลายชนิดที่ออกแบบมาเพื่อแนวทางการทำงานที่ต่างกัน

สิ่งหนึ่งที่ต้องว่าเป็นไฮไลท์ที่สำคัญมากของงานครั้งนี้ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของระบบ AI และแน่นอนว่า สิ่งที่จะทำให้เกิดเป็นรูปธรรมมากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือการเปิดตัวโซลูชั่นใหม่ “Atlas 900”

Atlas 900

Atlas 900 เป็นคลัสเตอร์ที่ออกแบบมาเพื่อเทรนหรือที่เรียกว่าพัฒนาสมองให้ระบบ AI ได้มีประสิทธิภาพ โดยที่เห็นได้ชัดเลยๆ ก็คือการที่สามารถประมวลผลอวกาศและสู่การวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และการพัฒนาธุรกิจใหม่ต่าง ๆ อีกมากมาย ตั้งแต่ด้านดาราศาสตร์การพยากรณ์อากาศ และการขับขี่อัตโนมัติ ไปจนถึงการสำรวจหาน้ำมัน ซึ่งมีการทดสอบกับระบบ ResNet-50 ซึ่งเป็นมาตรฐานหลักในการวัดประสิทธิภาพการเทรน AI เจ้า Atlas 900 ตัวนี้ (มีโปรเซสเซอร์ Ascend 910 หลายพันตัว) ใช้เวลาเพียง 59.8 วินาที เร็วกว่าสถิติโลกเดิม 10 วินาที แจ่ม!!

นอกจาก Atlas 900 แล้ว ก็ยังมี Atlas 800 ซึ่งเป็นเซิร์ฟเวอร์ 4U ตัวนี้ ผสานโปรเซสเซอร์ AI รุ่น Ascend 910 จำนวน 8 ตัว สำหรับประสิทธิภาพการประมวลผล 2 PFLOPS (Peta Floating-point Operation per second) เป็นต้น

นอกเหนือจากโปรเซสเซอร์ Ascend หัวเว่ยยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรหลายรายเพื่อสร้างระบบนิเวศ Kunpeng โครงสร้างพื้นฐานแบบครบวงจร ที่ครอบคลุมถึงพีซี เซิร์ฟเวอร์ สตอเรจ ระบบปฎิบัติการ มิลเดิลแวร์ การสร้างระบบเสมือนจริง (Virtualization) ดาต้าเบส บริการคลาวด์ และแอปพลิเคชันต่างๆ หัวเว่ยยังได้เปิดตัวบริการคลาวด์ที่ใช้ Kunpeng อีก 69 รายการ และฮาร์ดแวร์บอร์ด เพื่อให้ลูกค้าสามารถรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้เร็วขึ้น

เมื่อใช้บอร์ดและดีไซน์อ้างอิงของ Kunpeng เป็นพื้นฐานในการสร้างสรรค์ บริษัทพันธมิตรคู่ค้าสามารถพัฒนาเซิร์ฟเวอร์และผลิตภัณฑ์เดสก์ท็อปได้อย่างรวดเร็ว และเพื่อส่งเสริมการพัฒนานี้ OpenGCC, สถาบันมาตรฐานอิเล็กทรอนิกส์แห่งจีน, Arm China, IDC,หัวเว่ยและพันธมิตรในอุตสาหกรรมได้ร่วมกันเปิดตัวรายงานเชิงลึกเรื่อง การพัฒนาอุตสาหกรรมคอมพิวติ้งคุนเผิง

สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันกับฮาร์ดแวร์นั่นก็คือ ระบบปฏิบัติการเซิร์ฟเวอร์และดาต้าเบส ซึ่งหัวเว่ยมองว่าเป็นสิ่งสำคัญของระบบไอทีสำหรับองค์กร หัวเว่ยได้ประกาศที่จะเปิดตัวระบบปฏิบัติการเซิร์ฟเวอร์โอเพนซอร์ส openEulerในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และระบบดาต้าเบส openGauss ในเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนโลกของคอมพิวติ้งได้อย่างยอดเยี่ยม

ทิ้งท้ายกันนิด
สำหรับงาน HUAWEI CONNECT 2019 เป็นงานแฟล็กชิปประจำปีซึ่งหัวเว่ยจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมไอซีทีระดับโลก โดยงานในปีนี้จัดขึ้นภายใต้ธีม “Advance Intelligence”ที่นครเซี่ยงไฮ้ ระหว่างวันที่ 18 – 20 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา หัวเว่ยมุ่งหวังที่จะสร้างแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างและทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้ สำหรับลูกค้าและพันธมิตรต่างๆ เพื่อสำรวจโอกาสใหม่ ๆ ให้โลกอัจฉริยะแห่งอนาคต