หน้าแรก Applications เจาะลึกโอเอสใหม่ล่าสุด HarmonyOS ระบบปฏิบัติการแห่งอนาคต

เจาะลึกโอเอสใหม่ล่าสุด HarmonyOS ระบบปฏิบัติการแห่งอนาคต

แบ่งปัน

ในวันนี้ต้องบอกว่าไม่มีโอเอสตัวไหนร้อนแรงเท่ากับระบบปฏิบัติการ HarmonyOS ของหัวเว่ยอีกแล้ว หลังจากที่พวกเขาถูกแรงบีบจากการกีดกันทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา ตลอดจนถูก Google เปรยๆ ว่าจะไม่ให้ใช้ระบบ Android ทำให้ยักษ์ใหญ่แห่งจีนรายนี้จำเป็นต้องสร้างระบบปฏิบัติการของตัวเองที่ล้ำหน้ำกว่า และที่สำคัญมันไม่ใช่แค่เพียงใช้บนสมาร์ทโฟน แต่มันจะเป็นก้าวใหม่ของโลกเทคโนโลยี ที่รองรับการทำงานกับแพลตฟอร์มและอุปกรณ์หลากประเภท เช่น แท็บเล็ต สมาร์ทวอทช์ ลำโพง ทีวี คอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่ในรถยนต์

ในงานแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ HarmonyOS ได้มีการบรรยายโดยนาย James Lu, Senior Manager of EMUI product marketing ของหัวเว่ย ได้เล่าให้ฟังว่า HarmonyOS เป็นระบบปฏิบัติการที่เรียบง่ายแต่เปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพสำหรับสมาร์ทดีไวซ์ และเป็นครั้งแรกของโลกที่ใช้ระบบปฏิบัติการแบบกระจาย (Distributed Operating System) ซึ่งการใช้ Microkernel ในการจัดการทรัพยากรระบบนั้น ทำให้สามารถทำงานได้กับทุกอุปกรณ์ อีกทั้งยังเป็นระบบปฏิบัติการที่รองรับคุณสมบัติอันชาญฉลาด ทั้ง Shared Communications Platform, Distributed Data Management, Distributed Task Scheduling, และ Virtual Peripherals

Advertisement

สถาปัตยกรรมของระบบปฏิบัติการแบบ Distributed OS ที่รองรับเทคโนโลยี Distributed Virtual Bus ทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณสมบัติต่างๆ ของแอปพลิเคชันได้อย่างเต็มที่ โดยไม่จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดเชิงลึก เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันให้เหมาะสมกับอุปกรณ์รุ่นที่แตกต่างกันอีกต่อไป เพราะการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับระบบปฏิบัติการ HarmonyOS จะสามารถ ใช้งานกับอุปกรณ์ที่แตกต่างกันได้อย่างต่อเนื่อง

James Lu, Senior Manager of EMUI product marketing ของหัวเว่ย
เรามาลองดูเทคโนโลยีเด่นๆ ทั้ง 4 อย่างใน HarmonyOS

1. เทคโนโลยี Deterministic Latency Engine และ High-Performance Inter Process Communication (IPC) ช่วยให้ระบบปฏิบัติการ HarmonyOS มีการทำงานที่ลื่นไหล ลดอาการหน่วงของแอปพลิเคชันลงได้ถึง 25.7% นอกจากนี้ Microkernel ยังสอดคล้องกับเทคโนโลยี IPC ส่งผลให้ประสิทธิภาพของ IPC สูงกว่าระบบปฏิบัติการอื่นๆ ถึง 5 เท่า

2. เป็นโอเอสตัวแรกที่มีการยืนยันแบบ Formal Verification ซึ่งทำงานบน Trusted Execution Environment (TEE) โดยอาศัยการสร้างโมเดลข้อมูลเพื่อตรวจสอบทุกส่วนของซอฟต์แวร์ และใช้กลไกทางคณิตศาสตร์เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของระบบตั้งแต่แหล่งที่มา จึงแตกต่างจากระบบการยืนยันแบบเดิม นอกจากนี้ ยังมีจำนวนบรรทัดโค้ดที่น้อยกว่าระบบปฏิบัติการที่พัฒนาจาก Linuxkernel ถึง 1 ต่อ 1,000 ทำให้ มีช่องโหว่ของระบบน้อยกว่าระบบปฏิบัติการอื่น และนับเป็นการยกระดับความปลอดภัยของระบบให้สูงขึ้น

3. สามารถรองรับระบบ Multi-Device IDE ซึ่งเป็นระบบที่รองรับภาษาคอมพิวเตอร์หลากหลายภาษา และมีสถาปัตยกรรมที่รองรับการพัฒนาแอปพลิเคชันแบบเฉพาะ ระบบ Multi-device IDE จะช่วยให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถเขียนชุดคำสั่งเพียงครั้งเดียว ก็สามารถนำซอฟต์แวร์ของตนไปใช้งานได้กับทุกอุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ HarmonyOS จึงนับเป็นการยกระดับการทำงานกับอุปกรณ์ที่หลากหลายไปอีกขั้น

4. HUAWEI ARK Compiler เป็นคอมไพเลอร์แบบ Static ตัวแรกที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ Virtual Machine ของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ซึ่งจะช่วยให้นักพัฒนาสามารถรวบรวมโค้ดที่ซับซ้อนมาเพื่อให้ระบบแปลงเป็นโค้ดที่เรียบง่ายสำหรับการทำงานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว จึงเอื้อประโยชน์ให้กับนักพัฒนาเป็นอย่างมาก

บทสรุป

HarmonyOS เป็นระบบปฏิบัติการที่เปิดกว้างให้แก่นักพัฒนาทั่วโลก และจะสร้างมิติใหม่ให้กับการใช้งานทุกรูปแบบ โดยผู้บริโภคจะได้สัมผัสประสบการณ์การใช้งานที่เปี่ยมพลังและไร้รอยต่อตลอดทุกจังหวะของชีวิต ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์จะสามารถพัฒนาฮาร์ดแวร์ที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น 5G, ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ IoT ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น และคาดว่าสำหรับนักพัฒนาจะสามารถเข้าถึงผู้ใช้จำนวนมากโดยใช้ต้นทุนน้อยลงด้วย