David Cappuccio รองประธานของ Gartner กล่าวในงาน Gartner Symposium/ITxpo ว่า มี 10 เทรนด์ใหม่ที่จะเปลี่ยนโลกไอทีอย่างสิ้นเชิงภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ ทั้งด้านกลยุทธ์, เทคโนโลยี, และการจัดการขององค์กร ตั้งแต่เรื่องโครงสร้างพื้นฐานแบบไฮบริดจ์ ไปจนถึง IoT ที่คนในวงการควรทราบล่วงหน้าเพื่อเตรียมตัวให้ทัน!
1. ดาต้าเซ็นเตอร์กำลังจะหายไป โดยในปี 2563 คาดว่าจะเหลือองค์กรแค่ 20% ที่ยังมีดาต้าเซ็นเตอร์ตั้งภายในองค์กรตัวเอง โดยส่วนใหญ่จะหันไปใช้โมเดลแบบไฮบริดจ์ที่ให้ความคล่องตัวมากกว่า แต่นั่นย่อมเป็นการเปลี่ยนแนวการทำงานของเหล่าแอดมินและ CIO ที่ต้องกลายมาคอยจัดการและตรวจสอบ KPI หรือ SLA จากเว็บไซต์และผู้ให้บริการที่หลากหลายแทน อีกทั้งสภาพแวดล้อมแบบไฮบริดจ์ย่อมจำเป็นต้องอบรมพนักงานให้ทำงานกับระบบที่หลากหลายอีกด้วย
2. การเชื่อมต่อระหว่างสาขาด้วยแฟบริกกำลังมาแรง เมื่อก่อนเราจะใช้การเชื่อมต่อแบบใยแก้วนำแสงที่สานกันหนาแน่นมาก หรือแฟบริก กับการเชื่อมต่อภายในดาต้าเซ็นเตอร์เท่านั้น แต่ปัจจุบันเรากำลังเพิ่มขอบเขตการใช้แฟบริกออกมาอยู่บนทุกพื้นที่ โดยเน้นหลักการ “ความต่อเนื่องในการให้บริการ” ให้ลูกค้าปลายทางไม่รู้สึกสะดุด มากกว่าจะคำนึงแค่ความต่อเนื่องของธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว
3. คอนเทนเนอร์กำลังแซงหน้าเวอร์ช่วลไลเซชั่น ด้วยความคล่องตัวที่มากกว่า และสะดวกยิ่งกว่าแม้จะรันบนเครื่องที่มีทรัพยากรจำกัด หรือแม้แต่รันบนวีเอ็มอีกทีก็ตาม โดยเฉพาะความยืดหยุ่นในการรันงานที่เปิดใช้ได้สั้นเพียงแค่ระดับมิลลิวินาที เมื่อเทียบกับเซิร์ฟเวอร์กายภาพหรือเวอร์ช่วลแมชชีน ดังนั้นฝ่ายไอทีจำเป็นต้องจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการรองรับการรัน Container มหาศาลในอนาคต
4. ไอทีจะวิ่งตามความต้องการทางธุรกิจเป็นหลัก ด้วยการใช้จ่ายด้านบริการไอทีในปัจจุบัน พบว่ากว่า 29% ของทั้งองค์กร ลงทุนไปกับบริการจากภายนอก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นชาวไอทีทั้งหลายต้องปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของเจ้าของธุรกิจ ที่เลือกได้ว่าจะใช้บริการภายนอกไหนบ้างที่ถูกใจตัวเอง ด้วยการหันมาสนับสนุนและแนะนำผู้ใช้ในกลุ่มธุรกิจให้สามารถเลือกบริการไอทีสำหรับธุรกิจได้อย่างเหมาะสมแทน
5. แนวคิดในการใช้ดาต้าเซ็นเตอร์ จะเปลี่ยนไปเน้นประเภทการให้บริการเมื่อต้องการแทน เนื่องจากความต้องการทางธุรกิจที่แท้จริงคือ แอพพลิเคชั่นที่ต้องการ ไม่ใช่โครงสร้างพื้นฐานหรือฮาร์ดแวร์ที่ตั้งไว้ถาวรในองค์กร ดังนั้นเทรนด์นี้จึงหันมาจัดการดาต้าเซ็นเตอร์ในรูปของตัวให้บริการที่ตอบสนองความต้องการทางธุรกิจแต่ละด้านแทน และจากแนวคิดนี้ จึงหันมาประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยการแบ่งไปใช้บางบริการจากผู้ให้บริการภายนอกผ่านคลาวด์แทน เช่น ระบบ HR หรือระบบทำเงินเดือน เป็นต้น
6. เน้นใช้ทรัพยากรไอทีให้คุ้มค่าที่สุด ด้วยการบริหารจัดการเพื่อลดการใช้ฮาร์ดแวร์ หรือแม้แต่พื้นที่บน Rack ที่ไม่ได้มีการนำมาใช้ประโยชน์กับธุรกิจ รวมไปถึงการตรวจติดตามการทำงานทุกระบบเพื่อจัดสรรทรัพยากรให้พอดีกับแต่ละฟังก์ชั่นการทำงาน หรือแม้แต่การเลือกซื้อฮาร์ดแวร์หรือบริการที่เหมาะสมกับปริมาณงานที่ต้องการเท่านั้น
7. IoT โตไม่หยุด โดยคาดว่าจะมีอุปกรณ์จำพวกเซ็นเซอร์และตัวจ่ายข้อมูลขนาดเล็กต่างๆ มากถึง 20 พันล้านชิ้นที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ภายในปี 2563 แน่นอนว่าเราชาวไอทีต้องคิดเผื่อเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับให้ทันเวลาไว้ล่วงหน้า ทั้งด้านสตอเรจ หรือด้านความปลอดภัย เป็นต้น
8. และต้องปฏิวัติการจัดการอุปกรณ์ IoT อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีระบบที่ดูแลการติดตั้ง, ลงทะเบียน, สอบเทียบ, ทดสอบ, และบำรุงรักษา ทั้งการเปลี่ยนแบต, การเปลี่ยนเครื่อง, อัพเดตเฟิร์มแวร์, สั่งรีบูท หรือแม้แต่ออดิตและตรวจสอบสถานะ ที่ต้องทำได้จากศูนย์กลาง การเตรียมพร้อมรองรับระบบเหล่านี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ เช่น การอัพเกรดแบนด์วิธ และการประมวลผลจากส่วนปลายของเครือข่ายได้ เป็นต้น
9. ดังนั้น การประมวลผลจะย้ายไปอยู่ส่วนปลายของเครือข่าย จากเดิมที่จะเน้นการทำงานที่เซิร์ฟเวอร์ตรงกลาง ซึ่งการกระจายโหลดงานไปยัง Edge จะทำให้ลดเวลาหน่วงในการประมวลผล และยกระดับประสิทธิภาพโดยรวม โดยเฉพาะการทำงานกับ IoT ที่ลูกค้าหรือผู้ใช้ไม่สามารถรอการส่งข้อมูลประมวลผลวิ่งไปวิ่งกลับจากส่วนกลางได้ ดังนั้นเราควรเตรียมพร้อมรองรับการประมวลผลที่ส่วนปลายนี้ด้วย เช่น ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
10. มีงานด้านไอทีตำแหน่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สถาปนิกผู้ออกแบบระบบ IoT, ผู้บริหารการใช้ทรัพยากรบนคลาวด์, นักกลยุทธ์ที่ออกแบบโซลูชั่นไอทีที่เหมาะกับเป้าหมายทางธุรกิจ, ผู้จัดสรรทรัพยากรไอทีให้แก่แต่ละงานอย่างเหมาะสมตลอดเวลา, ตัวกลางที่คอยดีลกับผู้ให้บริการภายนอกที่หลากหลาย, หรือแม้แต่งานดูแลประสิทธิภาพการส่งต่อบริการแบบ End-End เพื่อให้ผู้ใช้ปลายทางหรือลูกค้าพึงพอใจมากที่สุด เป็นต้น