หน้าแรก Vendors Google นี่คือ 7 ข้อสำคัญที่แตกต่างกันระหว่าง Chrome กับ Chromium

นี่คือ 7 ข้อสำคัญที่แตกต่างกันระหว่าง Chrome กับ Chromium

แบ่งปัน

ถ้ากล่าวโดยสรุปก็คือ Google Chrome เป็นเว็บบราวเซอร์ที่ถูกพัฒนาและดูแลโดยยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิ้ล โดยใช้ซอร์สโค้ดของเว็บบราวเซอร์ที่เป็นโอเพ่นซอร์สอย่าง Chromium มาเป็นฐานราก แล้วเพิ่มฟีเจอร์มากมายที่กูเกิ้ลพัฒนาเองเข้าไป ซึ่งรวมไปถึงองค์ประกอบที่ไม่ได้เปิดฟรีหรือเป็นโอเพ่นซอร์สด้วย

สำหรับคนที่ยังไม่รู้จักว่าอะไรคือโครเมียมนั้น Chromium เป็นเว็บบราวเซอร์ที่พัฒนาขึ้นและดูแลโดยกลุ่มที่ชื่อว่า The Chromium Project ซึ่งเริ่มออกซอร์สโค้ดเวอร์ชั่นแรกตั้งแต่ปี 2551 จากนั้นจึงมีการพัฒนาองค์ประกอบต่างๆ แยกออกมาจำนวนมากภายใต้ไลเซนส์ซอฟต์แวร์แบบฟรี ทั้งไลเซนส์ BSD (ที่เขียนและพัฒนาร่วมกับกูเกิ้ล), MIT, LGPL เป็นต้น

Advertisement

ส่วน Google Chrome เปิดตัวเมื่อปี 2551 เช่นกัน เป็นเว็บบราวเซอร์เชิงการค้าที่พัฒนาและดูแลโดยกูเกิ้ล ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่าง Chrome และ Chromium ที่ทำให้ชื่อคล้ายกันแค่เมี่ยมกับไม่เมี่ยมนั้น เป็นเพราะโครมได้ยืมเอาซอร์สโค้ดบางส่วนของโครมเมี่ยมมาพัฒนาต่อนั่นเอง

ผู้ใช้สามารถแยกความแตกต่างระหว่างทั้งสองบราวเซอร์ง่ายๆ จากโลโก้ โดยโลโก้ของ Chrome จะมีสีสันสดใส ขณะที่โลโก้ของ Chromium จะโมโนโทนในโทนสีฟ้า แต่จริงๆ แล้วความแตกต่างระหว่างสองเว็บบราวเซอร์นี้ยังมีปลีกย่อยที่น่าสนใจอีก ได้แก่

1. การอัพเดทแบบอัตโนมัติ

Chrome ใช้ตัวเอเจนต์ชื่อ Google Update on Windows (ในรูปเซอร์วิสชื่อ GoogleSoftwareUpdateAgent) เพื่อคอยอัพเดทตัวเองอัตโนมัติให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดอยู่เสมอ ขณะที่ Chromium ไม่ได้มีกลไกอัพเดทอัตโนมัติแบบนี้ ซึ่งบนลีนุกซ์บางดิสโทรจะสามารถอัพเดทได้ผ่านตัวแพ็กเกจ สำหรับตัว Google Update นี้ยังใช้ในการอัพเดทแอพอื่นๆ ของกูเกิ้ลด้วย เช่น Google Earth

2. การตรวจสอบพฤติกรรมการใช้งาน และรายงานปัญหา

ที่ต่างจาก Chromium คือ กูเกิ้ลได้เพิ่มฟีเจอร์การรายงานข้อมูลเมื่อแอพค้าง รวมทั้งออพชั่นให้เลือกส่งสถิติการใช้งานของผู้ใช้เข้าบริษัทเพื่อนำไปปรับปรุงแอพรุ่นต่อไป ซึ่งข้อมูลที่ส่งเข้าเซิร์ฟเวอร์กูเกิ้ลนั้นได้แก่ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับอุปกรณ์และโอเอส, การตั้งค่าบน Chrome, การเข้าชมเว็บไซต์ที่มีมัลแวร์, คีย์เวิร์ดที่เคยเสิร์ชต่างๆ ซึ่งกูเกิ้ลจะประมวลผลและส่งคำแนะนำ, ผลลัพธ์, และแน่นอนว่ารวมถึงโฆษณาที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมของผู้ใช้กลับมาให้ แต่สำหรับผู้ที่กลัวการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวนี้ ก็สามารถปิดทั้งสองฟีเจอร์ดังกล่าวได้ที่หน้าการตั้งค่าหรือ Setting ของโครม

3. Chrome Web Store

ทั้งโครมและโครมเมี่ยมสามารถเพิ่มเอ็กซ์เทนชั่นได้ เพียงแต่โครมจะไม่สามารถติดตั้งเอ็กซ์เทนชั่นที่อยู่นอก Chrome Web Store ได้ แต่ก็มีเปิดทางไว้ในการเพิ่มผ่านโหมด Developer

4. การรองรับ Codec

การรองรับ Codec หรือมัลติมีเดียสกุลต่างๆ สำหรับโอเพ่นซอร์สอย่างโครเมี่ยมแล้ว จะสามารถรองรับ HTML5 ทั้งไฟล์เสียงและวิดีโอได้แค่ Codec ที่ไม่ได้ผูกขาดกับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งเท่านั้น เช่น Theora, Vorbis, WebM, VP9, เป็นต้น ขณะที่บนโครมก็จะได้ Codec สกุลอื่นๆ (ที่ยอดนิยมเพิ่มเติม) เช่น AAC, MP3, และ H.264(สกุลหลังสุดตอนนี้เปิดฟรีแล้ว)

5. มีการดูดข้อมูลพฤติกรรมใช้งานบางอย่าง

การดูดข้อมูลบางอย่างที่ไม่สามารถเลือกปิดได้ บน Google Chrome ตั้งแต่ตอนติดตั้งนั้นจะมีการสุ่มสร้างโทเค่นขึ้น ที่จะส่งกลับไปยังเซิร์ฟเวอร์กูเกิ้ลเพื่อประเมินอัตราความสำเร็จในการติดตั้ง นอกจากนี้กูเกิ้ลยังใช้ตัวชี้วัดข้อมูลที่ชื่อ RLZ ในการจัดเก็บการใช้งานตัวเสิร์ชเอนจิ้นของกูเกิ้ล และการพิมพ์ข้อความบนช่อง URL โดยข้อมูลที่ได้จะถูกเข้ารหัสในรูปสตริง เช่น แหล่งที่มาที่ไปดาวน์โหลดตัวติดตั้งโครม หรือวันเวลาที่มีการติดตั้ง โดยไม่ได้เข้าถึงข้อมูลที่เป็นส่วนตัวแต่มีการใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการวัดความสำเร็จของการแสดงผลโฆษณาด้วย อย่างไรก็ดี กูเกิ้ลก็มีเปิดเผยซอร์สโค้ดที่ใช้ถอดรหัสสตริงข้อมูลเหล่านี้สำหรับแสดงความบริสุทธิ์ใจ

6. ฟีเจอร์แซนด์บ็อกซ์

มีรองรับทั้งบนโครมและโครเมี่ยม แต่บนโครมนั้นถูกเปิดใช้ตลอด แต่บนโครมเมียมที่รันบนลีนุกซ์บางดิสโทรนั้นอาจถูกปิดการใช้งาน

7. ปลั๊กอิน Adobe Flash

แน่นอนว่าโครเมี่ยมย่อมไม่มีปลั๊กอินของแบรนด์อื่นที่ไม่ใช่โอเพ่นซอร์ส ขณะที่โครมรองรับแฟลชเวอร์ชั่นที่เป็น Pepper API ที่คอยอัพเดทอัตโนมัติไปพร้อมกับตัวบราวเซอร์อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามประเด็นนี้เริ่มไม่ใช่ปัญหาเท่าไรเนื่องจากเราเริ่มเข้าสู่ยุคที่หันมาใช้ HTML 5 แทนแฟลชกันหมด เหลือแค่เว็บเก่าๆ บางเว็บเท่านั้น

โดยสรุป ถ้ากับผู้ใช้ทั่วไปนั้นก็แนะนำให้ใช้โครมมากกว่าทั้งบนวินโดวส์และเครื่องแมค เนื่องจากโครเมี่ยมที่ออกมาแต่ละเวอร์ชั่นนั้นมักไม่ค่อยเสถียรเท่าไร แต่กับกรณีผู้ใช้ลีนุกซ์ที่ชื่นชอบของฟรีและโอเพ่นซอร์ส ก็น่าจะถูกใจกับโครเมี่ยมมากกว่า แม้จะต้องทนกับการที่ไม่ได้มีระบบอัพเดทอัตโนมัติ ไม่รองรับแฟลชและมีเดียบางสกุล

อย่างไรก็ดี ลีนุกซ์บางเจ้าอาจมาพร้อมกับโครเมี่ยมที่เพิ่มฟีเจอร์ที่ขาดหายไปในเวอร์ชั่นต้นฉบับมาด้วย จนกลายเป็นบราวเซอร์โดยดีฟอลต์ของหลายดิสโทรเช่นเดียวกับ Mozilla Firefox ทั้งนี้อย่าลืมว่ามีกูเกิ้ลโครมเวอร์ชั่นสำหรับลีนุกซ์ด้วยเช่นกัน และน่ากลัวที่ความเป็นโอเพ่นซอร์สของโครเมี่ยม จะทำให้อาชญากรไซเบอร์นำมาใช้พัฒนาต่อเป็นไวรัสในคราบเว็บบราวเซอร์ (อารมณ์คล้ายบราวเซอร์ของเหาสามสองหนึ่งที่ขุดรากถอนโคนยังไงก็ล้างไม่หมด) แล้วหลอกให้ผู้ใช้โหลดไปติดตั้งได้ก็มี

ที่มา : Fossbytes