หน้าแรก Security 5 เทคนิคและเครื่องมือพรางตัวตนที่ดีที่สุดสำหรับปี 2019 (Anonymizer)

5 เทคนิคและเครื่องมือพรางตัวตนที่ดีที่สุดสำหรับปี 2019 (Anonymizer)

แบ่งปัน

มีหลายสาเหตุที่หลายคนพยายามหาวิธีท่องโลกออนไลน์แบบที่ไม่ต้องการให้ใครสืบตัวตนได้ ไม่ว่าจะเพื่อหลบเลี่ยงการบล็อกของผู้ให้บริการหรือทางการ หรือแม้แต่ป้องกันการดูดข้อมูลหรือแอบส่องความเคลื่อนไหว ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมองที่การใช้วีพีเอ็นสำหรับเข้ารหัสทราฟิกเป็นหลัก

ยิ่งปัจจุบันคนเปิดเว็บบราวเซอร์บนเครื่องแทบจะตลอดเวลา แถมบริการออนไลน์เกือบทุกอย่างก็มีให้ใช้ผ่านเว็บกันหมดทั้งอีเมล์, แชท, ประชุม, แปลภาษา เป็นต้น ขณะที่เสรีภาพในการใช้งานเว็บต่างๆ กลับวิ่งสวนทางกัน ทั้งนายจ้างที่บล็อกไม่ให้เล่นโซเชียลมีเดียหรือเว็บบันเทิงทั้งหลาย, ISP บล็อกการเข้าเว็บตามคำสั่งของทางการ, ไปจนถึงการที่เจ้าของเว็บไซต์เองบล็อกไม่ให้คนจากประเทศหรือบางภูมิภาคเข้าถึงเนื้อหาหรือมาใช้บริการได้

ส่วนกรณีแอบดูดข้อมูลนั้น เว็บไซต์ส่วนใหญ่ตอนนี้ต่างพยายามรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้เยี่ยมชมมากที่สุด เอะอะก็ให้ลงทะเบียนสมาชิก รวมทั้งบังคับให้ยินยอมปล่อยให้เว็บสามารถโอนถ่ายข้อมูลส่วนตัวให้องค์กรอื่นได้ ไปจนถึงการตั้งค่าคุกกี้เพื่อตรวจสอบกิจกรรมของผู้ใช้ หรือแม้แต่เครือข่ายโฆษณาที่คอยตรวจจับกิจกรรมต่างๆ เพื่อเลือกแสดงโฆษณาที่ตรงกับลักษณะของผู้ใช้ เป็นต้น แค่นี้ก็ทำให้หลายคนขยาดและอยากจะป้องกันไม่ให้ใครมาล่วงรู้ตัวตนของตัวเองขณะท่องเว็บกันพอควร

ดังนั้นจึงเป็นที่มาของทูลหรือเทคนิคพรางตัวตนที่เรียกรวมๆ ว่า Anonymizer ที่เป็นบริการรีไดเร็กต์ทราฟิกของผู้ใช้ไปที่เซิร์ฟเวอร์ของตัวเองก่อน เพื่อแปลงไอพีบ้างข้อมูลส่วนตัวบ้างก่อนปล่อยออกสู่อินเทอร์เน็ต รวมทั้งช่วยลบคุกกี้, กระโดดข้ามตัวกรองหรือบล็อกเว็บต่างๆ , ไปจนถึงเข้ารหัสทราฟิกให้ด้วย

สรุปประโยชน์ของ Anonymizer ได้สองประการคือ การช่วยป้องกันการถูกบล็อกไม่ให้เข้าถึงบางเว็บ และการพรางตัวตนไม่ให้ใครสืบข้อมูลผู้ใช้จริงได้ เช่น การหลบเลี่ยงการบล็อกของพร็อกซี่เซิร์ฟเวอร์จากทั้งของบริษัท และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ตรวจจากไอพีต้นทางและปลายทาง รวมทั้งหลบเลี่ยงการบล็อกของเว็บไซต์ปลายทางเอง เช่นกรณีเว็บสตรีมมิ่งที่จำกัดผู้ชมเฉพาะบางประเทศเท่านั้น เรียกว่า Anonymizer ช่วยขวางกั้นกลางการเชื่อมต่อโดยตรงระหว่างต้นทางปลายทางปกติ นอกจากนี้บางเจ้ายังมีบริการปกป้องความเป็นส่วนตัวเพิ่มเติมให้ด้วย เช่น แก้ไขข้อมูลเกี่ยวกับเว็บบราวเซอร์, การตั้งค่าคอมพิวเตอร์, หรือพวกคุกกี้ต่างๆ

สำหรับ Anonymizers ที่มีการใช้งานในปัจจุบัน มีหลากหลายประเภทดังต่อไปนี้

1. Web Anonymizer

ฃเป็นเว็บไซต์พิเศษที่ให้บริการแบบนี้โดยเฉพาะ ซึ่งผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องติดตั้งซอฟต์แวร์อื่นเพิ่มเติมแค่เข้าเว็บแล้วพิมพ์ URL ที่ต้องการเปิดแบบพรางตัวตนก็สามารถเปิดเว็บที่ต้องการดูได้อย่างปลอดภัย แต่บริการผ่านเว็บที่สะดวกสบายนี้ย่อมมีข้อจำกัดที่มากมายด้วยเช่นกัน เช่น เว็บไซต์ที่ซับซ้อน มีลิงค์ภายในเยอะแยะอย่างพวกจาวาสคริปต์หรือ AJAX ที่ใช้เป็นโมดูลย่อยๆ ยุบยิบ ก็จะไม่สามารถแปลง URL ภายในได้ครบ หรือแม้แต่พวกข้อมูลสตรีมมีเดียต่างๆ เช่น วิดีโอ, เพลง ก็ทำไม่ได้ ถือว่าเว็บพรางตัวตนลักษณะนี้เหมาะกับพวกเว็บอย่างง่ายมากกว่า

2. เซิร์ฟเวอร์พร็อกซี่จริงๆ

เทคโนโลยีพร็อกซี่ (Proxy แปลว่านายหน้า ตัวแทน) ถูกนำไปใช้กับงานไอทีหลายด้านด้วยกัน แต่เซิร์ฟเวอร์พร็อกซี่ก็ทำงานได้ดีในฐานะตัวพรางข้อมูลผู้ใช้ด้วย ข้อดีของการใช้พร็อกซี่คือผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องติดตั้งโปรแกรมพิเศษเพิ่มเติม แค่ชี้การเชื่อมต่อไปยังไอพีหรือชื่อเซิร์ฟเวอร์พร็อกซี่ที่ต้องการบนการตั้งค่าของเว็บบราวเซอร์ และด้วยการที่รีไดเร็กต์ทุกทราฟิกผ่านพร็อกซี่หมด จึงทำให้เข้าถึงได้เกือบทุกเว็บไซต์หรือชนิดข้อมูล โดยเฉพาะพวกมัลติมีเดีย เพียงแต่ไม่สามารถเลือกเปิดว่าเว็บนี้จะใช้พร็อกซี่ เว็บนู้นจะไม่ใช้ได้ เพราะถือเป็นตัวกรองคั่นกลางทราฟิกทั้งหมดพร้อมกัน และไม่สามารถใช้พร็อกซี่ซ้อนพร็อกซี่ได้ เช่น ถ้าเน็ตบริษัทมีพร็อกซี่อยู่แล้ว ก็ไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้อีก

3. ใช้ Virtual Private Network (VPN)

ลักษณะการทำงานคล้ายพร็อกซี่ แต่นำมาใช้กับการเชื่อมต่อได้หลากหลายกว่าแค่เปิดหน้าเว็บ เช่น ใช้เข้ารหัสข้อมูลที่เชื่อมต่อระหว่างเซิร์ฟเวอร์ของสำนักงานใหญ่กับสำนักงานสาขา และในมุมของการรีไดเร็กต์ทราฟิกนั้นก็ไม่ได้จำกัดแค่เว็บด้วยเช่นกัน แต่ผู้ใช้ก็จำเป็นต้องตั้งค่าวีพีเอ็นที่ค่อนข้างซับซ้อน หรือติดตั้งซอฟต์แวร์เพิ่มเติม และมักไม่สามารถใช้งานผ่านเซิร์ฟเวอร์พร็อกซี่ของบริษัททั่วไปได้

4. ใช้เอ็กซ์เทนชั่นพิเศษบนบราวเซอร์

แม้ต้องติดตั้งบนบราวเซอร์ แต่ก็สามารถกดเปิดปิดเลือกเฉพาะบางเว็บไซต์ได้ดังใจ สำหรับคุณภาพก็ขึ้นกับผู้พัฒนาและเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการแต่ละเจ้า ซึ่งมีทั้งเจ้าที่ใช้ได้กับเว็บไซต์หรือมีเดียส่วนใหญ่ กับเจ้าที่ใช้อะไรไม่ค่อยได้เช่นกัน

5. เว็บบราวเซอร์ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ

มักเป็นบราวเซอร์ของเจ้าดังๆ ที่นำมาออกแบบเพื่อการนี้โดยเฉพาะเช่น พัฒนาจาก Chromium และ Firefox โดยเว็บบราวเซอร์เหล่านี้จะมีทูล Anonymizer ที่บิวท์อินมาให้แล้วตั้งแต่แรก เช่น Tor หรือเอ็กซ์เท็นชั่นด้านความปลอดภัย

ที่มา : Hackread