หน้าแรก Home feature เทคโนโลยี AI เปลี่ยนบ้านเดิมๆ ของคุณให้คิดเองได้! ทำเองเป็น!

[บทความ] เทคโนโลยี AI เปลี่ยนบ้านเดิมๆ ของคุณให้คิดเองได้! ทำเองเป็น!

แบ่งปัน
ai

บ้านอัจฉริยะ ของจริง ต้องคิดเองได้ทำเรื่องบางอย่างได้ด้วยตัวเอง ปัญหาคือมันจะยุ่งยากขนาดที่คุณต้องเป็นสุดยอดอัจฉริยะล้ำโลกเลยหรือไม่ เอาจริงๆ ตอนนี้ก็แค่อยากได้และพร้อมจ่ายเงินแบบไม่ทำให้หมดตัว ก็มี AI ฉลาดๆ อยู่ในบ้านได้แล้ว

จากรายงานทางการตลาด Artificial Intelligence (Chipsets) Market by Technology ของเว็บไซต์ Marketsandmarkets.com ภายในปี 2020 มูลค่าการตลาดของธุรกิจ AI มีถึงเกือบหนึ่งหมื่นเจ็ดพันล้านเหรียญสหรัฐ หรือรายงานของ PwC ที่อ้างอิงการคาดการณ์ของ Gartner Research ว่าในปี 2563 จะมีอุปกรณ์ประเภทIoTสูงถึง 2.08 หมื่นล้านชิ้น ขณะที่ IDC ก็คาดว่ามูลค่าตลาดไอโอทีทั่วโลกจะแตะ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์เช่นกัน การคาดการณ์เหล่านี้ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและโอกาสในการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฮม

Advertisement

เทรนด์ของตลาดบ้านอัจฉริยะ มีการคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฮมในปี 2563 จะสูงถึง 2,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่ 645 ล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 40% ต่อปี

พอพูดถึงคำว่า AI คุณคงนึกถึง Jarvis ผู้ช่วยที่หลายภาคในการปรากฏตัว โทนี่ สตาร์ค มหาเศรษฐีในหนัง Ironman ก็เรียกว่ามาถูกทางครึ่งหนึ่ง (เพราะว่าจะให้มันเก่งขนาดนั้นก็คงมากเกินไป) แล้วบ้านอัจฉริยะนั้นทำไมต้องเอาไปผูกรวมกับเทคโนโลยีอย่าง IoTด้วย น่าจะเรียกว่าจะมี บ้านอัจฉริยะได้ ก็ต้องมี ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI พร้อมกับ IoTในหน้าที่ของการเป็นอุปกรณ์ในการทำงานแบบต่างๆ นั่นเอง

ด้วยการนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (The Internet of Things) มาประยุกต์ใช้โดยเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้าน อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า ระบบรักษาความปลอดภัย และอื่นๆ โดยผู้อยู่อาศัยสามารถควบคุม (Control) อุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ได้ผ่านทางสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์เคลื่อนที่ ทำให้ได้รับความสะดวกสบาย (Convenience) แถมยังช่วยประหยัด (Savings) ค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน รวมไปถึงความปลอดภัย (Safety) ที่เพิ่มมากขึ้น จากการมีระบบอัตโนมัติต่างๆ มาเป็น “ผู้ช่วย” ภายในบ้าน เช่น ตรวจจับผู้บุกรุกบ้าน ตั้งอุณหภูมิที่เหมาะสมภายในบ้าน ไปจนถึง วัดค่าแก๊สในอากาศจากเซ็นเซอร์เพื่อป้องกันการรั่วไหล เป็นต้น นอกจากนี้ อุปกรณ์สมาร์ทโฮมที่เริ่มมีให้เลือกมากขึ้นในตลาด ทำให้ราคามีโอกาสลดลง และเป็นที่ต้องการในระยะยาว

ทั้งหมดทั้งมวล เมื่อเราเอา IoTมาทำงานทั้งหมดนั้นแล้ว มันจะเกิดข้อมูลจำนวนหนึ่งเกิดขึ้นซึ่งจริงๆ แล้วระบบการควบคุมการใช้งานบน IoTก็มีอยู่และควบคุมอยู่แล้ว แต่ว่าระบบทั้งหมดมันทำตามที่คนสั่งในแบบที่เรียกว่า Manual หรือต้องทำเองด้วยมือ จะเปลี่ยนให้ระบบทั้งหมดสามารถทำงานได้แบบอัตโนมัติหรือ Automatic งานนี้คุณต้องพึ่งเจ้า AI นี่แหละ

การทำให้บ้านฉลาดล้ำโลก !
พื้นฐานของระบบ AI นั้นจะมีเรื่องมากมายอาทิ Deep Learning, Robotics, Digital Personal Assistant, Querying Method, Natural Language Processing, Context Aware Processing

1. Deep Learning
แต่ถ้าจะทำบ้านให้ฉลาดด้วย AI นั้นต้องให้ระบบสามารถเรียนรู้ทุกอย่างที่อยู่ในบ้าน หรือที่เราเรียกว่า Deep Learning โดยที่อาจจะมีการใส่ข้อมูลเริ่มต้นบางส่วนให้กับระบบส่วนที่เหลือจะเป็นเรื่องของการเรียนรู้ด้วยความฉลาดของ AI เองที่จะสามารถนำเอาข้อมูลเบื้องต้นไปเทียบกับข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์ IoTต่างๆ และสั่งการทำงานกลับไป เช่น มีการตั้งอุณหภูมิในบ้านไว้ที่ 25 องศา AI อาจจะรู้ว่ามาตรฐานคือเท่านั้นกับจำนวนคนเพียง 5 คน แต่เมื่อมีคนมาเพิ่มหรือมีแขกเข้ามาที่บ้าน ระบบ AI นั้นก็จะสามารถคิดได้เองว่าต้องสร้างความเย็นที่อาจจะมากกว่าเดิมเล็กน้อย

2. Digital Personal Assistant
ต่อมาจะให้บ้านฉลาดระดับ อัจฉริยะ ได้มันก็ต้องมีระบบ Digital Personal Assistant หรือผู้ช่วยดิจิทัล นึกภาพง่ายๆ ก็อย่าง Jarvis นั่นไง หน้าที่ของผู้ช่วยดิจิทัลก็จะทำหน้าที่คอยจัดการทุกเรื่องที่คนในบ้านสั่งให้ทำ ไม่ว่าสั่งเปิดประตู, หุงข้าว, ตั้งเวลาเปิดไฟในบ้าน, หรือแม้กระทั่งบันทึกซีรียส์เรื่องโปรดในวันที่คุณต้องทำงานล่วงเวลา

3. Natural Language Processing และ Context Aware Processing
และจะให้เจ้าผู้ช่วยดิจิทัลทำงานได้ก็ต้องอาศัย Natural Language Processing และ Context Aware Processing หรือระบบประมวลผลคำและประโยคภาษามนุษย์ให้เปลี่ยนเป็นคำสั่งให้อุปกรณ์ IoTต่างๆ ในบ้านให้ทำงานหรือเอาไปประมวลผลเรื่องอื่นๆ ก็ว่าไป

แพลตฟอร์มเพื่อการสร้างบ้านอัจฉริยะ
เรามาดูกันว่าถ้าเราอยากมีระบบ AI สำหรับ บ้านอัจฉริยะ ขั้นแอดวานซ์จะต้องทำอย่างไรนอกจากเตรียมเงินเอาไว้ เริ่มที่เสต็ปธรรมดาแบบจ่ายเงินแล้วได้ทุกอย่างไปเลย คุณสามารถเลือกจ่ายเงินให้กับระบบเชื่อมต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าและระบบภายในบ้านบนแพลตฟอร์มมาตรฐานที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น Zigbee, Z-Wave หรือ HomeKit แล้วเลือกเอาว่าคุณชอบเทคโนโลยีของใคร ถ้าคุณเป็นหนึ่งในสาวกผลไม้แหว่ง อาจจะต้องรอให้ HomePod ลำโพงอัจฉริยะที่สามารถเชื่อต่อระบบภายในบ้านผ่านการสั่งงานด้วยการเรียก Siri เหมือนบนมือถือ iPhone หรืออุปกรณ์ของ Apple

แต่ถ้าคุณอยู่ฝั่งของ Android ก็เตรียมตัวสั่งเจ้า Google Home ที่ทำหน้าที่แบบเดียวกับอุปกรณ์ของ Apple แต่เวลาจะสั่งให้มันทำอะไรจะใช้คำว่า Ok Google แบบเดียวกับบนมือถือสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ หรือจะเป็น Echo จาก Amazon ก็เป็นตัวเลือกที่ดีและราคาย่อมเยากว่าสองตัวแรก วิธีการทำงานของ Echo นั้นก็สามารถสั่งด้วยเสียงได้เช่นเดียวกัน แค่เอ่ยคำว่า Alexa แล้วก็สั่งๆ เข้าไปว่าอยากได้อะไร หรือถ้าคุณอินดี้มากกว่านั้นอีกคืออยากใช้มือถือสมาร์ทโฟนที่มีอยู่แล้ว แต่อยากได้อะไรที่ Unique กว่านั้นอีกคุณอาจจะต้องลองมองไปที่แพลตฟอร์มอย่าง Josh.ai (https://www.josh.ai/ ) ที่เรียกว่า เปิด ที่สุดแล้ว โดยที่สามารถตรวจสอบความสามารถว่าอุปกรณ์ใดบ้างรองรับระบบของ Josh.ai ได้ตามลิ้งค์ที่ให้ไปแล้วได้เลย

แต่สิ่งที่อยากให้มองภาพให้ชัดก่อนก็คือ ทุกคนนั้นไม่ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านตลอดเวลาทำอย่างไรให้คุณสามารถสั่งงานและได้รับการติดต่อจาก AI ที่อยู่ในบ้านอย่างต่อเนื่อง ถ้าคุณอาศัยอยู่ในคอนโดหรือหมู่บ้าน ลองสอบถามไปที่นิติบุคคลว่ามีการวางโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติกที่โครงการแล้วหรือยัง แต่ถ้ายังไม่ซื้อลองมองหาที่อยู่อาศัยที่มีการวางโครงข่ายไฟเบอร์แท้ๆ ที่สามารถเลือกผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้เองนอกจากนั้นยังมั่นใจได้ว่าจะได้รับการบริการที่มากกว่าการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะเป็นกล้องวงจรปิดหรือระบบรักษาความปลอดภัยภายในบ้านแบบที่ไม่ต้องจ่ายแพงๆ อย่างที่ fi กำลังทำอยู่ในหลายโครงการ แถมต่อไปเมื่อคุณจ่ายเงินซื้ออุปกรณ์ที่มี AI เข้ามาติดตั้ง แค่นี้ก็เปลี่ยนบ้านให้ อัจฉริยะ ได้สบายๆ

ตอนนี้แค่เตรียมเงินไว้ให้พอ เพราะถ้าคุณจะให้บ้านฉลาดแบบเต็มขั้นและไม่อยากลงแรงมากนัก ก็คงต้องจ่ายหนักกว่าเดิมเท่านั้นเอง

ผู้แต่ง : กิตติ โกสินสกุล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไฟเบอร์วัน จำกัด (มหาชน)