หน้าแรก Applications 20 ซอฟต์แวร์แบบโอเพ่นซอร์สที่ดีที่สุดสำหรับใช้แทนแอพฯ ที่ต้องซื้อ

20 ซอฟต์แวร์แบบโอเพ่นซอร์สที่ดีที่สุดสำหรับใช้แทนแอพฯ ที่ต้องซื้อ

แบ่งปัน

“ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส” นั้นหมายถึงซอฟต์แวร์ที่สามารถดาวน์โหลด, แก้ไข, และแบ่งปันซอร์สโค้ดได้โดยไม่ติดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ (แต่เจ้าของจริงก็ยังถือสิทธิ์ของซอฟต์แวร์อยู่ตามกฎหมาย แค่ให้อิสระแก่ผู้ใช้ในการศึกษาและแก้ไขโค้ดเท่านั้น)

แต่นั่นคือการเป็นซอฟต์แวร์ที่นำมาใช้งานได้ฟรีๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และปัจจุบันก็มีโอเพ่นซอร์สที่ดูดีแบบเบียดพวกแอพที่ต้องเสียเงินซื้อตกขอบเวทีไปหลายรายด้วย ดังนั้น จึงมีการรวบรวมซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส 20 ตัวที่สามารถติดตั้งใช้งานบนพีซีที่นับเป็นทางเลือกใหม่แทนการเสียเงินที่น่าสนใจไว้ดังต่อไปนี้

1. Firefox เป็นโอเพ่นซอร์สที่มีมาตั้งแต่ปี 2545 ที่ Mozilla พัฒนาขึ้นเพื่อต่อกรกับ Google Chrome โดยเฉพาะ และได้กลายเป็นบราวเซอร์ดีฟอลต์ของลีนุกซ์ ปัจจุบันมีตัวเลขผู้ใช้งานทั้งบนวินโดวส์และแอนดรอยด์เป็นจำนวนมาก

2. Chromium เป็นเวอร์ชั่นโอเพ่นซอร์สของกูเกิ้ลโครม ที่ออกมาเพื่อแก้ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการผูกขาดโค้ดของตัวเอง ซึ่งซอร์สโค้ดที่นำมาใช้กับโครมปัจจุบันนั้นก็ถูกนำมาจาก Chromium ด้วย อีกทั้งยังมีฟีเจอร์พิเศษหลายอย่าง เช่น การสตรีมแบบไลฟ์

3. VLC Media Player เป็นตัวเล่นมีเดียแบบโอเพ่นซอร์สที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ใช้สตรีมวิดีโอหรือแม้แต่ดาวน์โหลดไฟล์วิดีโอจากยูทูปได้ด้วย

4. โปรแกรมแชร์ไฟล์ DC++ เป็นเวอร์ชั่นโอเพ่นซอร์สของโปรโตคอล Direct Connect (DC) ที่ใช้แชร์ไฟล์บนเน็ตแบบ Peer-to-Peer เป็นทางเลือกใหม่นอกจากบิททอร์เรนต์บนวินโดวส์

5. GIMP เหมือนโฟโต้ช็อปแบบโอเพ่นซอร์สโดยเฉพาะ มีอายุมานานหลายปี สามารถใช้ปรับแต่งรูปได้เหมือนกับที่ทำได้บนโฟโต้ช็อปครบเกือบทั้งหมด

6. qBittorrent เป็นไคลเอนต์สำหรับโหลดไฟล์ทอร์เรนต์บนวินโดวส์ 10 รันบนลีนุกซ์และแมคได้ด้วย

7. 7zip เป็นโปรแกรมบีบอัดไฟล์ที่มีอายุยืนยาวกว่าสองทศวรรษแล้ว มีสกุลไฟล์เป็นเอกลักษณ์ในรูป .7z ด้วย ใช้งานได้ทั้งบนวินโดวส์ และในรูปคอมมานด์ไลน์บนลีนุกซ์

8. LibreOffice ใช้แทนไมโครซอฟท์ออฟฟิศ มีโปรแกรมค่อนข้างครบทั้งตัวสเปรดชีท, พิมพ์เอกสาร, ฐานข้อมูล, และสร้างการนำเสนอ แถมยังใช้งานร่วมกับไฟล์ของไมโครซอฟท์ออฟฟิศได้ด้วย

9. Tor Browser เป็นเว็บบราวเซอร์ที่พรางตัวตนผู้ใช้ โดยปกปิดที่อยู่ไอพีและข้อมูลอื่นๆ ที่สามารถระบุตัวตนได้ พร้อมกลไกการพรางตัวอื่นๆ อย่างการเปลี่ยนเส้นทางทราฟิก, ล้างประวัติการเยี่ยมชมเว็บ, ลบคุกกี้ ฯลฯ

10. VirtualBox ไฮเปอร์ไวเซอร์ที่เปิดให้ผู้ใช้รันโอเอสตัวอื่นได้โดยไม่หน่วงเครื่อง เช่น ใช้รันทั้งลีนุกซ์และวินโดวส์บนพีซีเดียวกัน ปัจจุบันเป็นของ Oracle ซึ่งเปิดให้ใช้ได้ทั้งบนวินโดวส์, ลีนุกซ์, และ Solaris

11. Mozilla Thunderbird เป็นอีเมล์ไคลเอนต์ที่ใช้ได้บนเกือบทุกโอเอส เป็นทางเลือกใหม่แทนเอาต์ลุค ที่เต็มไปด้วยฟีเจอร์อย่างแชตและปฏิทิน รวมทั้งการรับฟีดRSS

12. FileZilla เป็นซอฟต์แวร์แชร์ไฟล์ที่ใช้ได้ทั้งบนวินโดวส์, ลีนุกซ์, และแมค เด่นตรงที่สามารถล็อกด้วยชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านเพื่อสร้างความปลอดภัยในการเข้าถึงไฟล์ได้

13. KeePass เป็นตัวจัดการรหัสผ่านบนพีซีที่ได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในโปรแกรมที่ดีที่สุดสำหรับวินโดวส์ โดยสามารถจัดเก็บชื่อผู้ใช้, รหัสผ่าน, และรหัสอื่นๆ สำหรับแต่ละบริการในไฟล์ที่เข้ารหัส

14. Media Player Classic เป็นตัวเล่นมีเดียอีกโปรแกรมหนึ่งสำหรับวินโดวส์ ที่เป็นคู่แข่งที่ใกล้ชิดกับ VLC มากที่สุด สามารถเล่นวิดีโอความละเอียดสูงอย่าง 4K ได้ และถือเป็นโอเพ่นซอร์สในอุดมคติสำหรับเล่นไฟล์เสียงบนวินโดวส์เลยทีเดียว

15. Shotcut เป็นซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สสำหรับตัดต่อวิดีโอบนพีซีที่เต็มไปด้วยความเรียบง่าย มาพร้อมกับฟีเจอร์และความสามารถต่างๆ อันทรงพลัง อย่างเช่นตัวกรองเสียง, ปรับสมดุลความสว่าง, การเปลี่ยนถ่ายสี, ทูลที่ใช้ตัดต่อ เป็นต้น

16. Audacity ใช้บันทึกและแก้ไขไฟล์เสียงต่างๆ รวมทั้งเพลงและ Podcast เต็มไปด้วยทูลที่เติมเต็มความต้องการในการตัดต่อปรับแต่งเสียงอย่างครบครัน

17. Sunbird เป็นโปรแกรมปฏิทินที่พัฒนาขึ้นโดย Mozilla สามารถใช้แทนฟีเจอร์คาเลนดาร์บนไมโครซอฟท์เอาต์ลุคได้

18. Abiword ตัวแทน Microsoft Word ที่ทำได้เกือบทุกอย่าง แถมยังมีขนาดเล็กและเปลืองทรัพยากรประมวลผลน้อยมาก ทำให้โหลดได้เร็วกว่าไม่หน่วงเครื่อง สามารถบันทึกหรือเปิดไฟล์ที่ปกติใช้งานผ่านไมโครซอฟท์เวิร์ดได้ด้วย

19. ClamWin เป็นแอนติไวรัสแบบโอเพ่นซอร์ส ที่ช่วยปกป้องพีซีจากมัลแวร์และไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมกับเป็นทางเลือกใหม่แทนตัวเสียเงินอย่าง McAfee หรือ Norton

20. Pidgin สำหรับส่งข้อความแชทบนวินโดวส์ ที่รวมเอาฟีเจอร์จากตัวดังๆ ทั้ง Windows Messenger, Yahoo Messenger, และ AOL Instant Messenger เข้าด้วยกัน

ที่มา : Technotification