หน้าแรก Internet of Things Gartner เผยเทรนด์ด้านยุทธศาสตร์เทคโนโลยีที่สำคัญที่สุด 10 อันดับแรกประจำปี 2023

Gartner เผยเทรนด์ด้านยุทธศาสตร์เทคโนโลยีที่สำคัญที่สุด 10 อันดับแรกประจำปี 2023

แบ่งปัน

ผู้บริหารด้านไอทีจำเป็นจ้องมองให้ไกลกว่าแค่เรื่องประหยัดเงิน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการทำงานใหม่ที่ดีกว่า หรือมองหาเทคโนโลยีที่ช่วยพวกเขาให้พัฒนาระบบ ปรับปรุงโซลูชั่นจำเพาะให้รองรับการเติบโต ยกระดับการส่งมอบ หรือแม้แต่การมีปฏิสัมพันธ์รูปแบบใหม่ๆ

ซึ่งในงาน IT Symposium/Xpo 2022 ของ Gartner ได้เผยเทรนด์ด้านยุทธศาสตร์เทคโนโลยีที่สำคัญที่สุด 10 อันดับแรกประจำปี 2023 ที่มีตั้งแต่ด้านการสื่อสารไร้สาย, ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI, ไปจนถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน

Frances Karamouzis รองประธานและนักวิเคราะห์จาก Gartner ให้ความเห็นทำนองว่า มีปัจจัยภายนอกหลายอย่างที่ทำให้ผู้มีอำนาจด้านไอทีตัดสินใจค่อนข้างยาก โดย “ขึ้นกับภูมิภาคบนโลกนี้ที่คุณอยู่ ที่มีปัจจัยเข้ามาส่งผลมากมาย”

“เช่น ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ปัญหาซัพไม่ส่งของ สงครามต่างๆ ที่ส่งผลกระทบ หรือแม้แต่วิกฤติพลังงาน เป็นต้น” ผู้บริหารจึงต้องให้ความสำคัญกับการปฏิวัติทางดิจิตอลอย่างต่อเนื่อง ใช้เทคโนโลยีทั้งที่นำมาใช้งานได้ทันที และที่รองรับอนาคตได้ อันได้แก่

1. 5G และ Wi-Fi 6, 7
จะไม่มีเทคโนโลยีไร้สายไหนขึ้นมาโดดเด่นอยู่เจ้าเดียว องค์กรทั้งหลายจะเอาโซลูชั่นไร้สายหลายรูปแบบมาใช้ให้เข้ากับความต้องการของตัวเอง ตั้งแต่ไวไฟในออฟฟิศ บริการสำหรับอุปกรณ์พกพา การใช้โปรโตคอลกำลังต่ำ

หรือแม้แต่การเชื่อมต่อผ่านคลื่นวิทยุ โดยทาง Gartner ทำนายไว้ว่าภายในปี 2025 จะมีองค์กรมากถึง 60% ที่ใช้เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายตั้งแต่ 5 แบบพร้อมกันขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็น 4G, 5G, LTE, WIFI 5, 6, 7 ที่นำมาใช้รับส่งข้อมูลในองค์กรแบบใหม่จนสร้างมูลค่าให้ธุรกิจได้โดยตรง

2. การมาของซุปเปอร์แอพ
Gartner ระบุ องค์กรต่างๆ จะรับเอาแพลตฟอร์มแบบใหม่ที่รวมฟีเจอร์และบริการจากแอพย่อยต่างๆ เข้ามาอยู่ในอีโค่ซิสเต็มเดียวกันภายใต้นิยาม “Superapp” โดยเฉพาะเมื่ออีลอน มัสก์ กล่าวว่าจะเปลี่ยนทวิตเตอร์เป็นซุปเปอร์แอพที่ประสบความสำเร็จเจ้าแรกในอเมริกาเหนือ

ตัวอย่างซุปเปอร์แอพในเอเชียที่เห็นภาพชัดเจนได้แก่ WeChat, Alipay, และ Gojek เป็นต้น แม้ตัวอย่างส่วนใหญ่จะยังอยู่ในรูปแอพบนอุปกรณ์พกพา แต่จริงๆ คอนเซ็ปต์นี้ขยายไปถึงบนเดสก์ท็อปด้วย เช่น Microsoft Teams หรือ Slack

3. คลาวด์ที่จำเพาะกลุ่มธุรกิจ
คอนเซ็ปท์เดียวกับซุปเปอร์แอพ ที่จะมีคลาวด์ที่รวมชุดบริการต่างๆ ทั้งแบบ IaaS, PaaS, SaaS แต่เป็นแบบที่ออกมาเพื่อการใช้งานที่จำเพาะในแต่ละอุตสาหกรรม Gartner มองว่าภายในปี 2027 จะมีกว่า 50% ที่จะมาใช้แพลตฟอร์มคลาวด์ลักษณะนี้

4. AI แบบ Adaptive
เป็น AI ที่มีการเทรนตัวเองใหม่ตลอดเวลาระหว่างการใช้งาน เพื่อปรับตัวเข้ากับเหตุการณ์ที่ไม่เคยพบมาก่อนได้อย่างทันท่วงที ซึ่งตรงข้ามกับการใช้บริการคลาวด์แบบ SaaS ทั่วไป ตรงที่อาศัยฟีดแบ๊กแบบเรียลไทม์ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือแม้แต่เป้าหมายในการทำงาน

5. การจัดการความเชื่อมั่น ความเสี่ยง และความปลอดภัยของ AI
หลายองค์กรยังไม่พร้อมรับมือความเสี่ยงที่มากับ AI จึงต้องการความสามารถเพิ่มเติมเพื่อให้มั้นใจได้ถึงความน่าเชื่อถือของโมเดล, เสถียรภาพ, ความปลอดภัย, และการปกป้องข้อมูล (TRiSM) ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

6. การประยุกต์ใช้ข้อมูลจากการเฝ้าสังเกต
โดยเฉพาะที่อยู่ในรูปดิจิตอลอย่างบันทึก log, ร่องรอยความเคลื่อนไหว การสืบย้อนกลับ (Trace), การเรียกใช้ API (call), เวลาที่ใช้ในแต่ละกิจกรรม, การดาวน์โหลดข้อมูล, และการโอนย้ายไฟล์ เป็นต้น ที่ต่างเป็นข้อมูลที่เกิดจากความเคชื่อนไหวชองแต่ละคน

7. วิศวกรรมแพลตฟอร์ม
เป็นหลักการสร้างและดำเนินงานเกี่ยวกับแพลตฟอร์มนักพัฒนาที่ใช้กันภายใน ที่ใช้บริการได้ด้วยตนเอง ซึ่ง Gartner ทำนายว่า ภายในปี 2026 จะมีกว่า 80% ขององค์กรผู้พัฒนาซอฟต์แวร์จะหันมาใช้แพลตฟอร์มที่มีพอทัลช่วยเหลือตัวเอง ให้เลือกทูล ไลบรารี โมดูลมาใช้เองได้หลากหลายแบบนี้

8. ระบบภูมิคุ้มกันทางดิจิตอล
เป็นโร้ดแมปสำหรับ CIO ที่มองหาวิธีใหม่ๆ ให้ทีมตัวเองนำไปใช้สร้างมูลค่าทางธุรกิจ ลดความเสี่ยง และเพิ่มความพึงพอใจให้ลูกค้าได้ ที่รวมมุมมองเชิงลึกจากการวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้ในการดำเนินงาน ทำระบบอัตโนมัติ โดยเฉพาะการตอบสนองเหตุการณ์ และรักษาความปลอดภัยในห่วงโซ่การพัฒนาแอพ

9. การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ถือเป็นเทรนด์ด้านเทคโนโลยีที่มาแรงแซงทางโค้งมากในปี 2023 เนื่องจากในการสำรวจจาก Gartner เมื่อเร็วๆ นี้ เหล่าซีอีโอต่างเห็นตรงกันว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ถือเป็นหนึ่งท็อปสามที่เหล่านักลงทุนให้ความสำคัญนอกจากเรื่องผลกำไรและยอดขาย

แสดงว่าผู้บริหารต้องลงทุนกับโซลูชั่นนวัตกรรมใหม่ที่ออกแบบมาโดยคำนึงความต้องการทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารจัดการให้ได้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย เช่น การใช้พลังงานและวัสดุอย่างมีประสิทธิภาพ การสืบย้อนกลับ วิเคราะห์ข้อมูล ใช้พลังงานทดแทน และนำ AI มาช่วยตรงจุดนี้

10. เมตาเวิร์ส
แม้จะมีเสียงกังขามากมาย แต่ Gartner ยังมองว่ามีอนาคต ตัวอย่างสตาร์ทอัพอินเดีย Hirect ที่เปิดตัวอีเวนต์การจ้างงานแบบ VR ผ่านเมต้าเวิร์สเพื่อล่อใจผู้สมัครที่มีความสามารถและชื่นชอบด้านเทคโนโลยีเป็นพิเศษ แต่ก็มองว่าเมต้าเวิร์สจะประสบความสำเร็จได้ต่อเมื่อเป็นอิสระต่ออุปกรณ์ ไม่ขึ้นกับผู้จำหน่ายรายเดียว

จะเป็นโลกของเศรษฐกิจแบบเวอร์ช่วลที่ใช้เงินสกุลดิจิตอล และ NFT โดยคาดว่าภายในปี 2027 จะมีองค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลกกว่า 40% ที่ใช้เทคโนโลยีผสมผสานระหว่าง Web3, AR Cloud, และโปรเจ็กต์ดิจิตอลทวินเพื่อเพิ่มรายได้ของตัวเอง

อ่านเพิ่มเติมที่นี่ – Networkworld