หน้าแรก Applications 7 ทักษะที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์มืออาชีพจำเป็นต้องมีและฝึกให้เชี่ยวชาญ

7 ทักษะที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์มืออาชีพจำเป็นต้องมีและฝึกให้เชี่ยวชาญ

แบ่งปัน

การเขียนโปรแกรมหรือพัฒนาซอฟต์แวร์นั้นถือเป็นอาชีพในฝันของชาวไอทีหลายคน ซึ่งไม่ได้ต้องการแค่ความรู้ด้านการเขียนโค้ดเท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องมีพื้นฐานและทักษะทางเทคนิคอื่นๆ ที่ช่วยให้การออกแบบและพัฒนาโปรแกรมได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ดังต่อไปนี้

1. ความรู้เกี่ยวกับภาษาโปรแกรมมิ่งในระดับเชี่ยวชาญ

ถือเป็นบันไดก้าวแรกของผู้ที่ใฝ่ฝันจะเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพทุกคนต้องก้าวข้ามให้ได้ เนื่องจากจะไม่มีวันทำงานได้ในระดับมืออาชีพถ้าไม่ได้เชี่ยวชาญแม้แต่ภาษาใดภาษาหนึ่ง แต่นี่ย่อมนำไปสู่คำถามยอดฮิตที่ว่า ควรเลือกเรียนรู้ภาษาอะไร (เป็นภาษาแรก) เนื่องจากปัจจุบันมีภาษาเกิดใหม่รวมทั้งภาษาสุดคลาสสิกแต่ยังคงความนิยมให้เลือกอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้เป็นการยากที่ตัดสินใจเลือกภาษาในการทุ่มเทศึกษาเรียนรู้ และเป็นเหตุผลที่ทำให้คนส่วนใหญ่นิยมเลือกเรียนพร้อมกันหลายภาษาเพื่อกระจายความเสี่ยงในการนำไปใช้ประกอบอาชีพ แต่ถ้าพูดถึงวิธีที่ง่ายที่สุดในการเรียนภาษาโปรแกรมมิ่งแล้ว แนะนำเริ่มจากศึกษาภาษาเดียวให้เชี่ยวชาญถึงที่สุดก่อนที่จะเริ่มหันไปศึกษาภาษาอื่น

2. การออกแบบที่อิงการใช้อ๊อพเจ็กต์อ้างอิงหรือ Object-Oriented

เป็นทักษะที่นักเขียนโปรแกรมมือใหม่มักละเลย แต่ถ้ารักที่จะเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์มืออาชีพแล้ว ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องฝึกตัวเองให้เป็นมืออาชีพด้านการออกแบบตามหลัก Object-Oriented ที่ช่วยเปลี่ยนโปรแกรมที่มีโค้ดยาวต่อเนื่องและซับซ้อนให้อยู่ในคลาสและอ๊อพเจ็กต์ย่อยๆ ที่มีการจัดโครงสร้างไว้เป็นระเบียบ โดยแต่ละคลาสและอ๊อพเจ็กต์ควรเป็นโค้ดกลางที่มีบทบาทจำเพาะแตกต่างกันสำหรับนำมาใช้อ้างอิงหรือลิงค์ได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ ทำให้นอกจากทำให้การพัฒนาต่อยอดทำได้ง่ายและไม่ซับซ้อนโดยเฉพาะในโปรแกรมขนาดใหญ่แล้ว ยังช่วยประหยัดเนื้อที่และหน่วยความจำในการประมวลผลด้วย เนื่องจากไม่ต้องเขียนโค้ดชุดซ้ำๆ ในแต่ละไฟล์อย่างพร่ำเพรื่อจนเปลืองเนื้อที่ และเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาด

3. การวางโครงสร้างของโค้ด

ทั้งนักพัฒนาซอฟต์แวร์และวิศวกรซอฟต์แวร์ควรมีทักษะในการวางโครงสร้างของโค้ดอย่างเหมาะสมสำหรับแต่ละภาษา เพื่อให้ได้โค้ดที่สะอาดและชัดเจน ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ซึ่งไม่เพียงมีประโยชน์ต่อคนอื่นที่มาอ่านโค้ดเท่านั้น ตัวคนเขียนเองก็ได้ประโยชน์ด้วย เนื่องจากโค้ดที่อ่านง่ายมีการจัดโครงสร้างเป็นระเบียบนั้นช่วยอำนวยความสะดวกและเปิดทางในการทำงานร่วมกับคนอื่นเป็นทีมได้ง่าย

4. ความรู้ด้านโครงสร้างข้อมูล และอัลกอริทึมการประมวลผล

ทั้งโครงสร้างและอัลกอริทึมในการประมวลผลข้อมูลนั้นล้วนเป็นสิ่งที่ต้องเผชิญตั้งแต่เรียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ หรือหลักสูตรไอทีอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยแล้ว อัลกอริทึมถือเป็นวิธีและกลไกในการแก้ปัญหาทางเทคนิคที่ต้องการ โดยเฉพาะในการเขียนโปรแกรม ซึ่งมีหลากหลายอัลกอริทึมที่ควรเรียนรู้ไว้ เนื่องจากแต่ละอัลกอริทึมต่างมีคุณสมบัติเฉพาะตัว และใช้แก้ปัญหาคนละจุด เช่น ด้านความเร็ว, การจัดการหน่วยความจำ, หรือมีข้อจำกัดด้านรูปแบบข้อมูลที่แตกต่างกัน ในฐานะนักเขียนโปรแกรมแล้ว จำเป็นต้องทราบว่าเมื่อไรถึงจำเป็นต้องใช้อัลกอริทึมไหน รวมทั้งควรเขียนอัลกอริทึมในรูปแบบของตัวเองเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะอย่างที่เผชิญได้ด้วย นอกจากนี้ยังควรเรียนโครงสร้างข้อมูลรูปแบบต่างๆ พร้อมกับวิธีในการจัดการข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลแบบแฮช, ลิงค์, เวกเตอร์, ทรี, เซ็ต เป็นต้น

5. การใช้แพลตฟอร์มสำหรับพัฒนาโปรแกรม

แพลตฟอร์มสำหรับพัฒนาซอฟต์แวร์นั้นหมายถึงสภาพแวดล้อมที่แอพพลิเคชั่นที่ต้องการพัฒนาจะต้องทำงานด้วย ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มต่างมีฟีเจอร์จำเพาะที่รองรับซอฟต์แวร์ที่สร้างขึ้นแตกต่างกัน ดังนั้นในฐานะนักพัฒนาโปรแกรม ก็ควรเชี่ยวชาญเกี่ยวกับรูปแบบข้อมูลที่เข้าและออกบนแพลตฟอร์มแต่ละชนิด เช่น ถ้าต้องการพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนโอเอสที่เป็นวินโดวส์ก็จำเป็นต้องเข้าใจเกี่ยวกับฟีเจอร์บนระบบปฏิบัติการทั้งหมด เนื่องจากในช่วงเวลาที่ประกอบอาชีพเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์นั้นก็มักจะทำแอพพลิเคชั่นบนแพลตฟอร์มไม่กี่แพลตฟอร์มซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ดังนั้น การเชี่ยวชาญทั้งเครื่องมือและเฟรมเวิร์กที่จำเพาะกับโอเอสแต่ละตัวจึงสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

6. ความรู้เกี่ยวกับระบบฐานข้อมูล

สิ่งหนึ่งที่นักพัฒนาโปรแกรมไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้คือเรื่องของฐานข้อมูล ไม่ว่าจะเอาดีกับภาษาโปรแกรมมิ่งไหนก็ตาม ก็มักจำเป็นต้องยุ่งเกี่ยวกับฐานข้อมูลสารพัดแบบอยู่ดีตลอดช่วงเวลาที่ประกอบอาชีพเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ จึงเป็นสาเหตุที่นักพัฒนาจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจเทคโนโลยีด้านฐานข้อมูลรูปแบบต่างๆ และนอกจากรู้เกี่ยวกับชนิดของดาต้าเบสแล้ว ยังควรที่จะสามารถจัดการงานพื้นฐานบนฐานข้อมูลได้ด้วย เช่น การสร้างฐานข้อมูล และบริหารจัดการข้อมูลภายในฐานข้อมูลดังกล่าว

7. ทักษะการใช้เฟรมเวิร์ก

แค่เรียนรู้เกี่ยวกับภาษาเขียนโปรแกรมนั้นไม่พอ ยังต้องก้าวนำหน้าคู่แข่งด้วยการเรียนรู้วิธีการใช้เฟรมเวิร์กด้วย ซึ่งเฟรมเวิร์กเป็นชุดไลบรารีสำหรับนำมาใช้พัฒนาแอพพลิเคชั่นบนแพลตฟอร์มที่แตกต่างกันได้ ช่วยอำนวยความสะดวกในการเขียนโค้ด โปรแกรมเมอร์ควรศึกษาเฟรมเวิร์กสัก 1 – 2 ตัวที่จำเพาะกับภาษาโปรแกรมมิ่งที่ตนเองใช้งาน

ที่มา : Technotification