หน้าแรก Networking & Wireless 5G เผยรายชื่อ 13 สถาบันการศึกษาเมืองไทย ร่วมจอย Huawei ICT Academy

เผยรายชื่อ 13 สถาบันการศึกษาเมืองไทย ร่วมจอย Huawei ICT Academy

แบ่งปัน

หัวเว่ย จัดงานประชุม Huawei Asia Pacific ICT Talent Forum 2020 สำรวจเทรนด์แรงงานด้านไอซีทีและกลยุทธ์การพัฒนาบุคลากรในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก โดยงานสัมมนาได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมและศาสตราจารย์ด้านไอทีมาร่วมพูดคุยถึงความต้องการแรงงานทักษะสูงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังได้นำเสนอแผนดำเนินงานที่จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านไอซีทีในภูมิภาคได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย ในงานยังได้ประกาศเปิดโครงการ Huawei Asia Pacific ICT Certification ให้แก่นักศึกษาหรือผู้ทำงานในสาขาไอซีที ที่เคยเข้าร่วมหรือสนใจเข้าร่วมโครงการหัวเว่ย ไอซีที อะแคเดมี่ (Huawei ICT Academy) โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม ถึง 30 พฤศจิกายน 2563 ผู้เข้าร่วมโครงการที่สอบผ่านโดยใช้เวลาที่น้อยที่สุดจะได้รับรางวัลตามลำดับเวลาที่ทำได้

นายไมเคิล แมคโดนัลด์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและที่ปรึกษาผู้บริหาร ของหัวเว่ย เอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า “องค์กรทั้งหลายเริ่มปรับเปลี่ยนคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของพนักงาน ภูมิทัศน์ไอซีทีโฉมใหม่จะทำให้ตลาดขาดแรงงานที่มีทักษะขั้นสูงราว 5 ล้านคน เราตั้งเป้าที่จะพัฒนาแรงงานไอซีทีให้ได้ 2 ล้านคนในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อป้อนแรงงานที่มีทักษะซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการเข้าสู่ตลาด ในปี 2563 เราจะตั้งโครงการ Huawei ICT Academy อีกกว่า 200 แห่ง ตลอดจนฝึกอบรมและออกใบรับรองมาตรฐานวิชาชีพ ให้แก่นักศึกษาและพนักงานกว่า 10,000 คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

เพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ หัวเว่ยได้สร้างระบบนิเวศด้านบุคลากร เพื่อสนับสนุนการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่อุตสาหกรรมไอซีที อันสอดคล้องกับกลยุทธ์การบ่มเพาะบุคลากรของบริษัท ระบบนิเวศนี้ประกอบไปด้วยกิจกรรมหลัก 3 โครงการด้วยกัน คือ ประกาศนียบัตรมาตรฐานวิชาชีพของหัวเว่ย (Huawei Certification), โครงการหัวเว่ย ไอซีที อะแคเดมี่ (Huawei ICT Academy) และการแข่งขัน Huawei ICT Competition

ส่วนในประเทศไทยตอนนี้ นายไมเคิล กล่าวว่า มีสถาบันการศึกษาไทยร่วมโครงการดังกล่าวแล้วประมาณ 13 สถาบัน โดยตั้งเป้าจะวางแผนให้ถึง 20 สถาบันภายในปีนี้ สำหรับรายชื่อมหาวิทยาลัยที่ร่วมกับหัวเว่ย ดำเนินโครงการนี้ในประเทศไทย ได้แก่
1. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
2. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
3. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
4. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
5. วิทยาลัยเซาท์อีสท์บางกอก
6. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
7. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
8. มหาวิทยาลัยรังสิต
9. มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ
10. มหาวิทยาลัยศรีปทุม
11. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
12. มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
13. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

เขายังกล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับตลาดไอซีทีในประเทศไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากหัวเว่ยได้ประกาศการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำดังกล่าวแล้ว ยังมีการจัดการแข่งขัน Huawei ICT Competition ครั้งแรกในประเทศไทย จัดขึ้นเมื่อปี 2561 มีนักศึกษาจากทั่วประเทศเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 2,000 คน ทีมผู้ชนะระดับประเทศจำนวน 3 คน และได้รับโอกาสเป็นตัวแทนประเทศในเวทีการแข่งขันระดับโลกที่เซินเจิ้น ประเทศจีน อีกด้วย

พร้อมกันนี้เขายังบอกว่าโครงการที่หัวเว่ยตั้งขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างเช่นในเรื่อง ประกาศนียบัตรมาตรฐานวิชาชีพของหัวเว่ย และ โครงการหัวเว่ย ไอซีที อะแคเดมี่ จะทำให้นักศึกษามีพื้นฐานที่ดีมากยิ่งขึ้น และยังสามารถที่จะช่วยเป็นใบเบิกทางในการสร้างรายได้หรือเงินเดือนที่สูงขึ้นให้แก่ตัวเองในอนาคตอีกด้วย