หน้าแรก News & Event การทำงานโปรเจกต์การวิเคราะห์ Mobility data สู่ Tapping the Untapped

การทำงานโปรเจกต์การวิเคราะห์ Mobility data สู่ Tapping the Untapped

แบ่งปัน

“โครงการฯ นี้เกิดขึ้นมาจากความเชื่อในพลังของดาต้า ที่ผ่านมา เราเห็นยูสเคสจากใช้ประโยชน์จากดาต้าเชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลาย แต่จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถดึงผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ มาจับมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม และโครงการฯ นี้จึงเกิดขึ้นจากการนั่งคุยเพียง 1 ชั่วโมงระหว่างดีแทค อ.อั๋น (ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย) จากคณะสถาปัตย์ จุฬา และคุณโจ้ (ธิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ ซีอีโอของบุญมีแล็บ)” อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืนของดีแทค เล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการศึกษารูปแบบการเคลื่อนที่และการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านข้อมูลการเคลื่อนที่ (mobility data)

เธออธิบายต่อว่า เธอเชื่อว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมถือเป็น enabler ที่สำคัญ เพราะเป็นหนึ่งในไม่กี่อุตสาหกรรมที่มีฐานข้อมูลลูกค้าอยู่ในความดูแลขนาดมหาศาล จากเดิมที่มีการพูดคุยกันในการทำวิจัยในระดับจังหวัด แต่เมื่อขยายผลให้เห็นถึงศักยภาพของ mobility data ผู้เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฝ่าย จึงได้เห็นชอบในการวิจัยระดับประเทศ

Advertisement

ทว่ากว่าโปรเจกต์นี้จะเกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องง่ายและกินเวลาทั้งสิ้นเกือบ 2 ปี โดยขั้นตอนที่ใช้เวลายาวนานที่สุดคือ การพิจารณาความเสี่ยงจากการใช้ประโยชน์ของข้อมูลเพื่อการวิจัยจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่กินเวลาราว 1 ปีครึ่ง โดยประกอบด้วยขั้นตอนการสอบทานธุรกิจ (Business Partner Due Diligence) ลงนามเห็นชอบในสัญญารักษาความลับ (Non-disclosure agreement) หนังสือบันทึกข้อตกลงระหว่างองค์กร (MoU) และสัญญาการเก็บ ใช้และประมวลผลข้อมูล (Data Processing Agreement) นอกจากนี้ ยังต้องผ่านการประเมินผลกระทบด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจากคณะกรรมการภายใน (Dara Privacy Risks & Impact Assessment) อีกด้วย เนื่องจากจัดเป็นประเด็นอ่อนไหว เกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวของลูกค้า ทั้งนี้ ดีแทคจึงต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่าโครงการนี้เป็นชุดข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ใช้งานได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ภายใต้การกำกับและดูแลนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เข้มงวดของดีแทค

อย่างไรก็ตาม ด้วยความเชื่ออันแรงกล้าของทีมงาน ทุกฝ่ายได้ฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ว่า ข้อมูลจะเป็นแบบไม่เฉพาะเจาะจงและถูกทำให้ไม่สามารถระบุตัวตนได้ (Aggregate and anonymized data) ชุดข้อมูลที่ทำการวิจัยเป็นชุดข้อมูลที่ได้รับความยินยอมจากลูกค้าแล้วเท่านั้น ที่สำคัญ การวิเคราะห์ข้อมูลจะต้องดำเนินการในสถานที่แบบปิด ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ โดยดีแทคได้อำนวยความสะดวกด้านสถานที่ไว้ที่ชั้น 31 ที่ดีแทคเฮาส์

วรวิมล ศรีนุต ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารคุณค่าลูกค้าของดีแทค อีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่ทำหน้าที่สร้างความมั่นใจว่าข้อมูลที่ทำการวิเคราะห์นั้นอยู่ภายใต้นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลขั้นสูงสุด เล่าว่า ข้อมูลที่ถูกนำไปวิเคราะห์นี้ หรือที่เรียกว่า mobility data สามารถระบุช่วงเวลาการใช้งาน รูปแบบการใช้งาน รวมถึงตำแหน่งของการใช้งาน ซึ่งก่อนจะนำไปวิเคราะห์ ดีแทคได้ทำให้ข้อมูลไม่สามารถระบุตัวตน ผ่านเทคนิค Data anonymization (One-way Hashing with SHA-256) ทำให้ข้อมูลระหว่างเดือนมิถุนายน 2563 ถึงตุลาคม 2564 ที่มีขนาดนับ “หมื่นล้านชุด” ถูกจัดทำให้อยู่ในระดับ “ตำบล” เมื่อทำการนิรนามข้อมูลและสุ่มกลุ่มตัวอย่างให้อยู่ปริมาณที่สามารถดำเนินการวิเคราะห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว จึงนำข้อมูลส่งต่อนักวิจัยผ่านโครงข่ายส่วนตัว (Private network) เพื่อนำไปวิเคราะห์ต่อไป