หน้าแรก News & Event AIS ชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 MHz รองรับการเติบโตของลูกค้าใหม่

AIS ชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 MHz รองรับการเติบโตของลูกค้าใหม่

แบ่งปัน

นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ในฐานะผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) เป็นตัวแทนชำระค่าคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz งวดที่ 3 จำนวน 1,881,488,000.00 บาท (หนึ่งพันแปดร้อยแปดสิบเอ็ดล้านสี่แสนแปดหมื่นแปดพันบาทถ้วน ) รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว โดยมี นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นผู้รับมอบเพื่อนำส่งเงินเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป

โดย นายวรุณเทพ กล่าวว่า “การชำระค่าคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ครั้งนี้ นับเป็นการชำระเงินงวดที่ 3 โดยหลังจากที่ AIS ได้ประมูลคลื่นความถี่มาเราก็เดินหน้าพัฒนาและยกระดับคุณภาพมาตรฐานการให้บริการผ่านการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของโครงข่าย 5G ให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ นำมาสู่การเชื่อมต่อประสบการณ์การใช้งาน ทั้งในมุมของผู้บริโภค และในมุมของภาคอุตสาหกรรม”

Advertisement

ถึงวันนี้ AIS ยังเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายที่ถือครองคลื่นความถี่มากที่สุด ครบทั้งย่านความถี่ต่ำ กลาง และสูง ครอบคลุมการใช้งานทุกรูปแบบ ซึ่งถ้ารวมเฉพาะคลื่นความถี่ที่จะนำมาให้บริการ 5G มีทั้งหมดอยู่ที่ 1330 MHz บนคลื่นความถี่ 700 MHz ที่มีอยู่ จำนวน 30 MHz (2×15 MHz), คลื่น 2600 MHz ที่มีอยู่จำนวน 100 MHz และคลื่น 26 GHz ที่มีอยู่จำนวน 1200 MHz ส่งผลให้เอไอเอสยังคงยืนหยัด ในฐานะผู้นำอันดับ 1 ที่มีคลื่นความถี่ในการให้บริการ 3G , 4G และ 5G มากที่สุดในอุตสาหกรรม รวม 1420 MHz (ไม่รวมคลื่นที่เกิดจากความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ)

ปัจจุบัน AIS 5G ให้บริการครอบคลุมสูงสุดทั่วประเทศแล้วกว่า 85% และครอบคลุมในพื้นที่กรุงเทพฯ ถึง 99% โดยเฉพาะคลื่น 700 MHz ซึ่งเป็นโครงข่าย 5G ที่มีแบนวิธกว้างที่สุดของอุตสาหกรรม ที่มีมาตรฐานระดับโลก ซึ่งที่ผ่านมา AIS ในฐานะผู้นำตลาด เราให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมเครือข่าย เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ๆ ให้กับอุตสาหกรรมอยู่เสมอ เพราะเราเชื่อว่าคุณสมบัติของ 5G จะมาพลิกโฉมการทำงานของทุกอุตสาหกรรม ที่ได้พิสูจน์แล้วว่าโครงข่ายอัจฉริยะ AIS 5G สามารถทำให้การรับ-ส่งข้อมูลได้เร็วขึ้น ความเสถียรมากขึ้น สามารถใช้ได้กับภาคธุรกิจ ที่ต้องการให้บริการงานที่ต้องการความแม่นยำสูง (Critical application) เช่น Mobile Cloud Gaming ที่ต้องการ Interactive แบบตอบสนองอย่างรวดเร็ว Real Time หรือแม้แต่ตัวอย่างสำหรับภาคอุตสาหกรรม เช่น การควบคุมเครื่องจักรในโรงงาน การควบคุมรถยนต์ไร้คนขับ หรือการผ่าตัดทางไกล เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของ AIS ที่ต้องการเป็นองค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะ หรือ Cognitive Tech-Co

นายวรุณเทพ ย้ำต่อในช่วงท้ายว่า “ด้วยการลงทุนอย่างต่อเนื่องมากที่สุดในอุตสาหกรรม และการที่มีคลื่นความถี่ครบทุกย่านที่มีความสมบูรณ์แบบต่อการใช้งาน คือสิ่งที่ตอกย้ำว่า วันนี้เรามีความพร้อมที่จะรองรับโอกาสและการเติบโตในแง่ของผู้ใช้งานจากลูกค้าใหม่ที่เชื่อมั่นในบริการของเอไอเอสที่กำลังเพิ่มมากขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่กำลังเดินทางเข้ามาก็จะได้สัมผัสกับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดจาก AIS เช่นเดียวกัน”