หน้าแรก Applications 4 เหตุผลที่ Kubernetes ฮอตสุดๆ ในหมู่นักเล่นคอนเทนเนอร์

4 เหตุผลที่ Kubernetes ฮอตสุดๆ ในหมู่นักเล่นคอนเทนเนอร์

แบ่งปัน

สำหรับผู้ที่ติดตามกระแสเทคโนโลยีเวอร์ช่วลแบบคอนเทนเนอร์มาตลอด คงแปลกใจพอสมควรที่ช่วงบูมแรกๆ ใครๆ ก็ถามหาแต่ Docker แล้วทำไมตอนนี้ทุกคนถึงวิ่งไปซบอก Kubernetes กันหมด ในแง่ของแพลตฟอร์มโอเพ่นซอร์สสำหรับจัดการแอพในคอนเทนเนอร์แบบอัตโนมัติ

โดยจากผลสำรวจของ 451 Research พบว่า องค์กรที่ใช้ระบบคอนเทนเนอร์กว่า 71% หันมาใช้ Kubernetes กันหมดแล้ว นอกจากนี้สำนักวิจัยชื่อดัง Forrester ยังกล่าวในรายงานการทำนายอนาคตระบบคลาวด์ในปีนี้ว่า Kubernetes จะชนะเลิศในตลาดระบบจัดการหรือ Orchestrate คอนเทนเนอร์ จนกลายเป็นมาตรฐานไปโดยปริยาย

ทั้งนี้ผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ของ Red Hat อย่าง Brian Gracely ที่ดูเรื่องแพลตฟอร์มจัดการคอนเทนเนอร์ของตัวเองชื่อ OpenShift โดยตรง ได้กล่าวถึง 4 ปัจจัยที่ผู้ทำงานด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีจำเป็นต้องทำความรู้จักกับ Kubernetes ไว้ดังนี้

1. เป็นมาตรฐานในการติดตั้งคอนเทนเนอร์แล้ว
Kubernetes กลายเป็นมาตรฐานโดยพฤตินัยในการติดตั้งคอนเทนเนอร์แล้ว หลังจากระบบคอนเทนเนอร์เกิดขึ้นมากว่า 4 ปี ก็ถึงจุดที่ใครๆ ก็นึกถึงแต่ Kubernetes ไม่ว่าจะเป็นผู้จำหน่ายทุกเจ้าหรือลูกค้าที่ใช้งาน ด้วยเทคโนโลยีที่มีความเสถียร์สูง ยืดหยุ่น ประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย ทำให้รู้สึกสบายใจในการลงทุนที่เกี่ยวข้อง

2. Kubernetes เป็นเทรนด์ใหม่ที่มาแรงมาก
นี่คือเทรนด์ใหม่สำหรับจัดการโครงสร้างพื้นฐานแบบเวอร์ช่วล ที่เหล่าแอดมินระบบเวอร์ช่วลปฏิเสธไม่ได้ว่า อีกหลายปีข้างหน้าในสายอาชีพของตัวเองนั้น ระบบคอนเทนเนอร์กลายเป็นนวัตกรรมที่เดินหน้าไวมากที่สุด ถ้าต้องการโอกาสทั้งด้านอาชีพและการพัฒนาความคล่องตัวหรือ Agile ทางธุรกิจ โดยเฉพาะการนำแนวทาง DevOps มาใช้

3. เหล่านักพัฒนาต่างอินเลิฟกับ Kubernetes
เหล่านักพัฒนาถือเป็นคนกลุ่มแรกที่นำระบบคอนเทนเนอร์มาใช้ เนื่องจากแก้ปัญหาชีวิตในเรื่องการพัฒนาแอพก่อนนำออกมาใช้ในสภาพแวดล้อมจริงได้อย่างง่ายดาย และไร้ปัญหาที่เคยเกิดจากการพัฒนาแอพบนระบบหนึ่งแล้วไม่สามารถทำงานเข้ากับระบบที่ใช้จริงได้แบบเมื่อก่อน

4. Kubernetes รันแอพบนคอนเทนเนอร์ได้แทบทุกแบบ
ทั้งแอพยุคเก่ายุคใหม่ก็สามารถทำงานร่วมกับ Kubernetes ได้ นั่นคือ Kubernetes ไม่เพียงช่วยในการพัฒนาแอพใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็นทางรอดในการเอาแอพเก่าที่มีความต้องการต่างออกไปมาทำงานร่วมกันได้ด้วย

ที่มา : Networkcomputing