หน้าแรก Networking & Wireless IP Camera มจธ. สุดยอด! ผุดโครงการ KMUTT4Life Platform ใครๆ ก็เรียนได้

มจธ. สุดยอด! ผุดโครงการ KMUTT4Life Platform ใครๆ ก็เรียนได้

แบ่งปัน

มจธ. กำลังจะปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา หรือที่เรียกว่า “KMUTT Educational Reform” ด้วยโครงการ KMUTT4Life Platform ที่มีการปรับกระบวนการการเรียนการสอนใหม่ให้มีลักษณะแบบไมโคร-ครีเดนเชียล (Micro-credential) ที่เน้นการเรียนรู้ที่ให้นักศึกษาเกิดความสามารถจริงในการนำไปใช้งานมากกว่าการสามารถสอบผ่านข้อเขียนในแบบปัจจุบัน

โดยอาจารย์จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงด้วยการโค้ชชิ่งมากขึ้น และดึงพาร์ทเนอร์จากองค์กรภายนอกมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนด้วย รวมถึงมจธ. กำลังปรับหลักสูตรให้นักศึกษาเข้าไปปฏิบัติงานควบคู่กับการเรียนรู้ในสถานที่ทำงานจริงเพิ่มมากขึ้น คือโดยมีเป้าหมายสัดส่วนเวลาประมาณ 30-50% ของหลักสูตร

ทั้งนี้โครงการ KMUTT4Life Platform มีเป้าหมายในการทำให้ มจธ. มีระบบการเรียนการสอนที่สามารถพัฒนาคนทุกช่วงวัยได้ ด้วยระบบการสะสมครีเดนเชียลที่จะทำให้ผู้เรียนซึ่งต้องการเรียนเพื่อตอบโจทย์อาชีพที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ และสามารถได้รับปริญญาบัตรก็ได้หากต้องการ

เพื่อดำเนินการสนับสนุนโครงการ KMUTT4Life มจธ. สร้างและพัฒนาอาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการหรือ Learning Exchange (LX) เพื่อเป็นต้นแบบให้เกิดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างกายภาพโดยใช้ Digital Technology สนับสนุนการพัฒนานี้ เตรียมความพร้อมสู่โลกของ Smart Campus อย่างเต็มระบบในรูปแบบที่เรียกว่า Connected KMUTT

ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร/ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง มจธ. อธิบายว่า แนวคิดในการพัฒนาอาคาร LX จะเป็นส่วนที่มีความสำคัญมากในการสนับสนุน KMUTT4Life Platform เพราะอาคารถูกออกแบบให้มีสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการส่งเสริมการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ด้วยแนวคิดที่ออกไปจากกรอบการเรียนรู้ที่ต้องเกิดในห้องเรียนเท่านั้น ทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ในทุกที่ แม้กระทั่งการเรียนรู้จากกายภาพที่ใช้งานอยู่

นำสิ่งใหม่ผนวกสิ่งที่มีอยู่

ผศ.ดร.ประเสริฐ กล่าวว่า นอกจาก มจธ. จะพัฒนาอาคาร LX เพื่อเป็นต้นแบบของแหล่งเรียนรู้ใหม่ในรูปแบบใหม่แล้ว มจธ. ยังมีแผนขยายผลในการพัฒนาอาคารหรือสถานที่ของเดิมให้มีความพร้อมในการเป็นแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบอาคาร LX รวมทั้งทำการพัฒนาห้องเรียนเดิมให้มีความพร้อมในการจะทำการเรียนการสอนในรูปแบบ Hybrid Teaching & Learning โดยผู้เรียนและผู้สอนไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียนเดียวกัน

ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร/ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง มจธ.
เทคโนโลยีกำลัง “ดิสรัปชั่น” การศึกษา

ต่อคำถามที่ว่า เทคโนโลยีกำลังกลายเป็นตัวสร้างการ “ดิสรัปชั่น (Disruption)” ต่อวงการศึกษา ซึ่งผลร้ายหนักสุดก็คือสถาบันการศึกษาที่ถูกเทคโนโลยีมาเขย่า จะค่อยๆ เสื่อมลงหรือล้มหายไป จะเป็นอย่างไร? ซึ่ง ผศ.ดร.ประเสริฐ ชี้ให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าเทคโนโลยีจะมาดิสรัปชั่นการศึกษา ประการแรกเราได้เห็นคอนเทนต์จากหลายๆ ส่วน เช่น คานส์อะคาเดมี ยูทูบ ฯลฯ ซึ่งเป็นการเตรียมคอนเทนต์ภาคการศึกษาให้นักเรียนเข้าถึงได้ง่าย ประการที่สองยังมีพวกแชทบอทประเภท AI ที่ดึงเอาองค์ความรู้มารวมกันไว้ สามารถตอบคำถามหรือปัญหายากได้อย่างง่ายดาย ซึ่งแค่สองประการนี้ก็ทำให้อาจารย์กว่า 70% อาจจะตกงานได้เลย นี่ไม่นับรวมเทคโนโลยีอื่นๆ ที่จะเข้ามาด้วย ทำให้นักศึกษามองว่าไม่จำเป็นต้องเข้ามานั่งเรียนแบบเดิมก็ได้ ดังนั้นถ้าสถาบันการศึกษาไม่ทำอะไรเลยหรือไม่ปรับตัว ก็คงถูกเทคโนโลยีกลืนหายไปในที่สุด

ในมุมของ มจธ. เรามองเห็นสถานการณ์เช่นนี้เหมือนกัน ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนวิธีใหม่ ด้วยการปรับกระบวนการเรียนการสอนให้เน้นการสร้างความสามารถในการทำได้จริงของผู้เรียนตามความต้องการของผู้เรียน ไม่ว่าจะต้องการปริญญาหรือไม่ โดยการใช้ประโยชน์จากการมีความร่วมมือกับภาคประกอบการ ประชาสังคม และชุมชน เข้ามาร่วมในกระบวนการเรียนการสอน และใช้สถานที่ทางกายภาพให้เกิดประโยชน์มากที่สุดในการเป็นแหล่งให้องค์ความรู้ ซึ่งมจธ. ได้วางเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนคราวนี้เพื่อเปิดรับคนในทุกช่วงวัยให้สามารถเข้ามาศึกษาได้ “ไม่ว่าจะเป็นเด็กประถม คนวัยทำงาน คนเกษียณ คนสูงวัย ถ้าอยากเรียน มจธ. ก็มาเรียนได้ถ้าเขาอยากเรียน” ผศ.ดร.ประเสริฐ กล่าว

ทำไมต้องการเรียนการสอนแบบ “ไมโคร ครีเดนเชียล”

หากเป็นการเรียนการสอนแบบเดิมๆ คงจะมีความยากลำบากในการดำเนินการปรับเปลี่ยนตามเป้าหมายนี้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สำหรับ มจธ. ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนใหม่เป็นลักษณะแบบโมดูลที่จะประเมินผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ในลักษณะที่ต้องตอบว่าผู้เรียนมีความสามารถในการทำอะไรได้บ้าง โดยแต่ละโมดูลการเรียนสามารถเรียนสามารถจบได้ภายใน 1 หรือ 2 สัปดาห์ ทำให้ผู้เรียนสามารถค่อยๆ เก็บสะสมโมดูลเหล่านี้รวมกันและสามารถจะทำให้พวกเขาจบการศึกษาได้ โดยเราเรียกการเรียนการสอนแบบนี้ว่า ไมโคร-ครีเดนเชียล (Micro-Credential) เป็นการเปิดให้ผู้เรียนสามารถเก็บรายละเอียดการเรียนเฉพาะแก่นที่สำคัญ ทยอยเรียนไปทีละไมโคร-ครีเดนเชียล ตามความต้องการในการนำไปใช้งาน หรือจนสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรได้หากต้องการ โดยไม่จำกัดเวลา

Smart Campus for Connected KMUTT การเรียนการสอนที่ชาญฉลาด
สิ่งที่ มจธ. กำลังพัฒนาทั้งในส่วนของการสร้างอาคาร Learning Exchange (LX) และการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนเป็นแบบไมโคร-ครีเดนเชียล ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องการการสนับสนุนที่สำคัญจากการสร้าง Smart Campus for Connected KMUTT ที่เป็นรูปแบบสถาบันการศึกษาที่ต้องมีความคล่องตัวในการบริหารงาน การทำงานและการให้บริการ แนวคิดนี้เป็นสิ่งที่ใหม่มากๆ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ อย่าง ทั้งระบบการลงทะเบียน ระบบการบริหารจัดการการเรียน และการให้บริการผู้เรียน เป็นต้น

ขณะนี้ มจธ. ได้วางรากฐานด้านโครงสร้างพื้นฐานไว้ระดับหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการลงทุน คือ เพื่อการใช้งาน, เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน, เพื่อสนับสนุนการทำวิจัย และสุดท้ายโครงการ Smart Campus for Connected KMUTT นี้จะเป็นตัวอย่างให้หน่วยงานอื่นได้เรียนรู้ การดำเนินการนี้ได้รับการสนับสนุนจากทาง Huawei ในด้านของเทคโนโลยีระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง, ระบบ IoT, ระบบ Wi-Fi และระบบเครือข่ายที่พร้อมสรรพ โดยในวันนี้ทาง มจธ. ได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีของ Huawei ดังกล่าวแล้วที่อาคาร Learning Exchange ที่กำลังจะพร้อมใช้งานในเร็ววันนี้ ผศ.ดร.ประเสริฐ กล่าวทิ้งท้าย