หน้าแรก Security บทสรุปความปลอดภัยทางไซเบอร์ปี 2563 โดย เช็คพอยท์

บทสรุปความปลอดภัยทางไซเบอร์ปี 2563 โดย เช็คพอยท์

แบ่งปัน

เช็คพอยท์ ได้จัดการประชุม CPX ในประเทศไทย และพร้อมกันนี้ยังได้เปิดเผยรายงานสรุปความปลอดภัย พ.ศ. 2563 โดยอาศัยข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองเทรตคลาวด์ (ThreatCloud) ของเช็คพอยท์เอง

ซึ่งผู้บริหาร นายอีแวน ดูมาส ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับภัยคุกคามและแนวโน้มของการโจมตีจากเครือข่ายเฝ้าระวังทั่วโลก โดยมีสาระสำคัญดังนี้:

1. มัลแวร์ขุดบิตคอยน์ (Cryptominer) ยังคงยึดหัวหาดการโจมตีของมัลแวร์ – แม้ว่าการขุดบิตคอยน์ (Cryptomining) จะลดลงในช่วงปี 2562 ซึ่งเชื่อมโยงกับมูลค่าที่ลดลงของสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) และการปิดตัวลงของ คอยน์ไฮฟ์ (Coinhive) ในเดือนมีนาคม โดยพบว่า 38% ของบริษัททั่วโลกได้รับผลกระทบจากซอฟต์แวร์ขุดบิตคอยน์ในปี 2562 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 37% ของปี 2561 เนื่องจากการใช้ซอฟต์แวร์ขุดเงินดิจิทัลยังคงเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำและให้ผลตอบแทนสูงสำหรับอาชญากร

2. กองทัพบ็อตเน็ตมีขนาดใหญ่ขึ้น – 28% ขององค์กรทั่วโลกได้รับผลกระทบจากกิจกรรมบ็อตเน็ต ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 50% เมื่อเทียบกับปี 2561 โดย Emotet เป็นมัลแวร์ประเภทบ็อตที่มีการนำไปใช้กันมากที่สุดเนื่องจากความสามารถที่หลากหลายโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริการกระจายมัลแวร์และสแปม นอกจากนี้ บ็อตเน็ตยังมีอีกหลายวีรกรรม อาทิ กิจกรรมอีเมลหลอกลวงในรูปแบบ Sextortion (การแบล็คเมลล์ทางเพศออนไลน์) และการโจมตี DDoS ก็เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2562 ด้วยเช่นกัน

3. แรนซัมแวร์แบบมีเป้าหมายโจมตีหนักมาก – แม้ว่าจะมีองค์กรที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างต่ำ แต่ความรุนแรงของการโจมตีนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังที่เห็นได้จากการโจมตีที่สร้างความเสียหายต่อการบริหารงานเมืองของสหรัฐอเมริกาในปี 2562 โดยอาชญากรกำลังเลือกเป้าหมายในการใช้แรนซัมแวร์อย่างระมัดระวัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มรายได้จากการเรียกค่าไถ่ให้ได้สูงสุด

4. การโจมตีอุปกรณ์เคลื่อนที่ลดลง – 27% ขององค์กรทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการโจมตีทางไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์เคลื่อนที่ในปี 2562 ซึ่งลดลงจาก 33% ในปี 2561 โดยจะเห็นได้ว่าในขณะที่ภัยคุกคามของอุปกรณ์เคลื่อนที่กำลังเติบโตอย่างเต็มที่ องค์กรต่างๆ ก็ได้เพิ่มความตระหนักมากขึ้นต่อภัยคุกคามดังกล่าว และยังได้มีการปรับใช้ระบบป้องกันบนอุปกรณ์เคลื่อนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดอีกด้วย

นายอีแวน ดูมาส ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

5. ปีแห่งการโจมตีของ Magecart ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว – การโจมตีดังกล่าวเป็นการนำรหัสที่เป็นอันตรายเข้าไปใส่ไว้ในเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซเพื่อขโมยข้อมูลการชำระเงินของลูกค้าจากหลายร้อยเว็บไซต์ในปี 2562 ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่เครือโรงแรมขนาดใหญ่ ยักษ์ใหญ่ด้านการค้า ไปจนถึงธุรกิจขนาดกลางและย่อมในทุกแพลตฟอร์ม

6. การโจมตีระบบคลาวด์เพิ่มจำนวนขึ้น – มากกว่า 90% ขององค์กรต่างๆ ในปัจจุบันล้วนใช้บริการคลาวด์ แต่มีเพียง 67% ของทีมรักษาความปลอดภัยที่ให้ข้อมูลว่าพวกเขายังขาดความสามารถในการมองเห็นโครงสร้างพื้นฐาน ระบบรักษาความปลอดภัย และการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับระบบคลาวด์ ขนาดของการโจมตีและการรั่วไหลของข้อมูลในระบบคลาวด์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2562 การกำหนดรูปแบบทรัพยากรเพื่อการใช้งานบนระบบคลาวด์ที่ผิดพลาดยังคงเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ก่อให้เกิดการโจมตีระบบคลาวด์ และในตอนนี้เรายังเห็นการโจมตีที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งพุ่งเป้าไปที่ผู้ให้บริการคลาวด์โดยตรงด้วย