หน้าแรก Vendors Aruba Networks บทสรุป! บริษัท IT Enterprise ในเมืองไทยปี 2019 ใครเด่นใครยี๊ มาดูกัน!

บทสรุป! บริษัท IT Enterprise ในเมืองไทยปี 2019 ใครเด่นใครยี๊ มาดูกัน!

แบ่งปัน

ปี 2020 ที่ใกล้เข้ามาถึงนี้ ทีมงาน Enterprise ITPro เชื่อว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในโลกของเทคโนโลยีอย่างรุนแรง และส่งผลต่อการใช้งานของยูสเซอร์ ตลอดจนการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ของเวนเดอร์ เพื่อจะมาตอบโจทย์ความต้องการของยูสเซอร์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด เราเริ่มได้ยินข่าวของเทคโนโลยีและนวัตกรรมอันหลากหลายที่เป็นของทั้งกลางเก่ากลางใหม่ ไปจนถึงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยี HCI, Internet of Things (IoT) ที่กำลังกลายเป็นเมเจอร์หลัก เทคโนโลยี AI ที่องค์กรเปิดรับอย่างกว้างขวาง การใช้ระบบหุ่นยนต์ประเภททั้งแบบ RPA และ MI หรือแม้แต่กระทั่งเทคโนโลยีการประมวลผลแบบ Quantum กำลังมีบทบาทมากขึ้น

ในทัศนะของ Enterprise ITPro เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของปี 2020 ที่จะเกิดขึ้นและพอจะมองเห็นว่าเวนเดอร์รายใดที่น่าจะเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง ตลอดจนเวนเดอร์รายไหนอาจจะลุ่มๆ ดอนๆ โดยจากการวิเคราะห์และติดตามข่าวของเวนเดอร์เหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจาการสัมผัสจากประสบการณ์ตรงในปี 2019 ที่ผ่านมา จึงได้กลายมาเป็นประเด็น “บทวิเคราะห์เวนเดอร์ไอทีที่เป็นดาวรุ่งและดาวร่วง” ในช่วงปี 2019 ที่ผ่านมา โดยเราจะแบ่งแยกเป็นแคตากอรีที่น่าสนใจ (โดยจะวิเคราะห์ภาพที่เกิดขึ้นจากตลาดเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น)

– Infrastructre Platform

1. ไมโครซอฟท์ (Microsoft)
ในปี 2019 ไมโครซอฟท์ยังคงผลักดันนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง การปรับเปลี่ยนตัวเองจากผู้ให้บริการซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่นชั้นสูงแบบออนพรีมีสแบบดั้งเดิม ไปสู่การให้บริการแบบเช่าใช้กลายเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ให้กับพวกเขาและผู้ใช้งานเป็นอย่างมาก ตัว Office 365 สร้างปรากฏการณ์ใหม่มาก่อนหน้า ผันมาสู่โลกของ Microsoft 365 ที่เปิดโอกาสให้องค์กรได้สัมผัสสิ่งใหม่ๆ แบบลักษณะคลาวด์มากขึ้น ไปจนถึงขั้นของ Microsoft Azure ที่คนเปิดแขนรับอย่างเต็มขั้น ซึ้่ง Microsoft Azure คือนวัตกรรมแห่งโลกของคลาวด์อย่างแท้จริงๆ โลกของแอพพลิเคชั่นทางบิสสิเนสอย่าง Oracle , SAP , Serverless และ Microservice ทั้งหลาย น้อมรับ Azure มาอย่างต่อเนื่อง จึงไม่แปลกใจที่ปี 2020 จะเป็นอีกหนึ่ง Golden Year ของไมโครซอฟท์อย่างแน่นอน

2. นูทานิคซ์ (Nutanix)
ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมานูทานิคซ์ ได้ก้าวกระโดดแบบพรวดเดียวถึงธง การเติบโตอันรวดเร็วนี้เกิดจากการบ่มเพราะรากฐานที่แข็งแกร่ง หลายคนที่เคยมั่นใจ VMware ที่ครองตลาดด้วยสัดส่วนมากกว่า 70% ในอดีต เริ่มปลายตามามองนูทานิคซ์ ไม่ว่าจะด้วย HCI ที่โอเพ่นและบันเดิลมาอย่าง นูทานิคซ์ อโครโพรลิส หรือการเป็นพันธมิตรเซิร์ฟเวอร์ชั้นน้ำไม่ว่าจะเป็น HPE, Fujitsu, Lenovo ฯลฯ ทำให้เขาสตรองมาก ไม่นับรวมกับการสร้างเซอร์วิสคลาวด์ใหม่ๆ เช่น Nutanix Enterprise Cloud, หรือความร่วมมือกับ ServiceNow ในการรังสรรค์ระบบ IT Automation สำหรับการใช้ไพรเวทคลาวด์ พร้อมทั้งได้การันตีจาก Gartner ในความสามารถ นั่นจึงทำให้ 2019 คือ “ฟ้าเปิดให้นูทานิคซ์” แล้ว แน่นอนปี 2020 นูทานิคซ์ คงจะไม่ใช่ม้ารองเหมือนเดิมอีกต่อไป

3. วีเอ็มแวร์ (VMware)
ต้องยอมรับว่าวีเอ็มแวร์ ในปี 2019 ไม่ได้หวือหวาเหมือนในอดีตที่ผ่านมา จริงอยู่ที่พวกเขามีอะไรให้เราเห็นอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มแบบ Workspace ONE หรือการเข้าซื้อ คาร์บอนแบล็ค เพื่อเสริมแกร่งระบบความปลอดภัยไซเบอร์ ในทัศนะของ Enterprise ITPro ยังมองว่าไม่ใช่จุดที่จะมาเพิ่มทักษะของ HCI อย่างเต็มกึ๋น อีกทั้งการแยกงานบริหารอย่างชัดเจนของ Dell ทำให้วีเอ็มแวร์ ต้องรุกแลสู้เอง ประกอบกับการที่คู่แข่งตัวฉกาจอย่างนูทานิคซ์ แรงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องทำให้ปี 2019 นี้ วีเอ็มแวร์เหนื่อยกว่าเดิม บุญเก่าที่ถือครองลูกค้ามากมาย ถ้าไม่เร่งต่อยอด แต้มบุญก็มีโอกาสหมดได้ในปี 2020

– Network Infrastructure

1. หัวเว่ย (Huawei Enterprise Technologies)
คำพูดที่ว่า “ยิ่งตียิ่งดัง” มันยังคงมนต์ขลังอย่างเหลือเชื่อ สภาพการณ์ของ หัวเว่ย ในช่วงพ.ค. นั้นเหมือนมวยโดนต้อน ถูกชกหนักจนพี่เลี้ยงถอดใจ แต่นักมวยจีนอย่างหัวเว่ยไม่เคยหวั่น มรสุมข่าวที่จริงบ้างไม่จริงบ้าง (ส่วนใหญ่จะไม่จริง) ไม่ทำให้เขาหวั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรในไทย กลับรักหัวเว่ย ไม่ใช่เพราะเห็นใจ แต่เพราะประสิทธิภาพ ระบบ Network Infrastructure ของหัวเว่ยโคตรสุด มหาวิทยาลัยชั้นน้ำในเมืองไทย อิมพลีเมนท์ไปแบบเทใจให้ และมีนวัตกรรมเกิดอย่างมากมายเราได้รู้จัก Wi-Fi 6 ก็เพุราะหัวเว่ย, แพลตฟอร์มคลาวด์อัจฉริยะก็ที่นี่ อีกทั้งจากงาน Huawei Connect 2019 ที่ผ่านมาบอกได้เลย หัวเว่ย คือผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างการประมวลผลที่ถูกพัฒนาภายใต้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทั้งหมด ทำให้ปี 2020 ในมุมของ Enterprise ITPro พวกเขาคือ “ตัวจริง”

2. ซิสโก้ (Cisco)
แต้มบุญของซิสโก้ในปี 2019 ยังพอมีอยู่ ในปีนี้ซิสโก้ยังไม่มีอะไรใหม่ที่รู้สึก Wow เพียงแค่ได้ไปเก็บงานและลูกค้าเก่าๆ เดิม เช่น สถาบันการศึกษา (ไม่ขอเอ่ยนาม) หรืออื่นๆ การได้ลูกค้าเหล่านี้มาอยู่ในมือนั้น ก็ส่วนหนึ่งก็เป็นลูกค้าเดิมมาตลอด แต่หากว่ากันถึงตัวผลิตภัณฑ์ก็พบว่า ช่วงนี้มีข่าวเรื่องของช่องโหว่บ่อย และมีแพทช์เรื่อยๆ ทำให้ผู้ใช้งานอาจจะวิตกกันสักหน่อย อีกทั้งด้วยราคาของซิสโก้เองเมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นๆ ก็ยังดูแรงอยู่ ปี 2019 นี้เลยดูธรรมดาไปนิด แต่ปี 2020 ถ้ามีอะไร WOW กว่านี้คงจะได้สนุก

3. อรูบ้า (HPE Aruba)
2019 เป็นปีที่เหงาอีกปีของอรูบ้านที่ยังไม่เห็นความชัดเจนอะไรมากมาย ทีมงานขายมีการโยกย้ายไปอยู่ค่ายอื่น รวมถึงตัวผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ยังไม่รู้สึกล้ำเลิศมากนัก บุญเดิมอย่าง Wi-Fi กำลังจะเสื่อมมนต์ขลัง แม้ปลายปีจะมีสวิตช์ในตระกูล CX ออกมา แต่ก็น่ะ ออกมาตอนนี้ก็ต้องไปดูผลในปี 2020 บทสรุปของอรูบ้าในปีนี้เรียกว่าเหนื่อยหนัก

– Security Solutions

1. เทรนด์ไมโคร (Trend Micro)
“ดามเมจ” ของผู้นำด้านระบบคลาวด์ไซเบอร์ซีเคียวริตี้อย่างเทรนด์ไมโคร เรียกได้ว่าสะท้านสะเทือนวงการมาก ตั้งแต่ต้นปีที่เทรนด์ไมโครสรุปยอดตัวเลขมาว่าเติบโตกว่า 30% นับเป็นอะไรที่แกร่งสุดในบรรดาคู่แข่ง อีกทั้งตลอดปี 2019 ที่ผ่านมา เทรนด์ไมโคร สร้างความหวือหวาในวงการตลอด ไม่ว่าจะรางวัลจาก Forrester ทั้งกลางปีและปลายปี กับผลิตภัณฑ์ Enterprise Email Securiy (พ.ค. 2019) รางวัลกับผลิตภัณฑ์ CWS (ธ.ค. 2019) รวมถึงรายรับใน Q2 ที่เฉียด 400,000 ล้านเยนที่การันตีความเชื่อใจของลูกค้า ไม่นับรวมกับผลิตภัณฑ์ที่เปิดตัวอย่างมากมายเช่น Apex One ที่มาให้เห็นในช่วง Q3, และต่อด้วการได้เข้าซื้อกิจการของ Cloud Conformity ที่เสริมแกร่งให้กับเทรนด์ไมโครเป็นอย่างมาก จะบอกว่าปี 2019 คือเป็นปีที่สุดยอดของเทรนด์ไมโครเลยทีเดียว และปี 2020 ก็น่าจะหวือหวามากขึ้น

2. ฟอร์ติเน็ต (Fortinet)
ถ้าเทรนด์ไมโครคือมุมแดง ฟอร์ติเน็ตก็คือมุมน้ำเงิน ที่สูสีคู่คี่ไม่แพ้กันเลย ฟอร์ติเน็ตมี ซีเคียวริตี้แฟบริกที่มีต่อเนื่องมาในระยะกว่าขวบปีที่ผ่านมา รวมถึงเครื่องเคียงอย่างผลิตภัณฑ์ ฟอร์ตี้ต่างๆ ทำให้ฟอร์ติเน็ตเข้างานได้หลายตัว พวกเขามีโปรเจ็กต์งานดีๆ หลายอย่างและล่าสุดก็เพิ่งซื้อ CyberSponse น่าจะทำให้ปีนี้เป็นปีที่ฟอร์ติเน็ต ยังคงมีอนาคตสดใสและปี 2020 ก็น่าจะเก็บเกี่ยวอะไรได้หลายอย่าง หากไม่แป๊กประสบปัญหาบางอย่างเหมือนกับตัว FortiGuard ที่ผ่านมา ปีหน้าคงสนุก

3. แมคอาฟี่ (McAfee) และ ไซแมนเทค (Symantec)
2019 เป็นปีที่โหดร้ายของทั้งคู่เลยทีเดียว โดยเฉพาะไซแมนเทคที่ในประเทศไทยนอกจากจะเงียบเหงาไร้ความเคลื่อนไหวไ ทางเมืองนอกเองยังขายส่วนธุรกิจ Enterprise Security Business ไปซะงั้น ส่วนแมคอาฟี่ ก็ต้องบอกว่ามีทั้งขาขึ้นขาลง งงไปหมด แต่ข่าวไม่ค่อยดีของ McAfee นั้นมีมากกว่าข่าวดี ดังนั้นปี 2019 ดูพวกเขาจะเนือยๆ ไป แต่ถ้าในปี 2020 จับทางดีๆ เอาให้นิ่งๆ โดยเฉพาะนายใหญ่ขาร็อก เชื่อว่าความมั่นใจอาจจะกลับมา

– Storage Infrastruction

1. เดลล์ เทคโนโลยีส์ (Dell Technologies)
ถ้าคุณจำเป็นต้องเสริมทัพสตอเรจเข้าสู่ระบบของคุณ โซลูชั่นสตอเรจทั้งหลายเดลล์ คือคำตอบที่สุดลิ่มทิ่มประตู เดลล์พิถีพิถันในการแบ่งระดับของออลแฟลชสตอเรจอันทรงพลังออกมาให้ได้ใช้งานในทุกส่วน อาทิ VMAX All Flash, Power Max, SC Series สำหรับสตอเรจหลักและสตอเรจประเภทรองรับงาน Unstructure Data อย่างเช่น Isilon, Unity XT, ECS คือต้องบอกว่า Dell เป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีด้านสตอเรจที่หาตัวจับยากมากในแง่ของเทคโนโลยี ความสามารถของมันไม่ต้องพูดถึง “โคตรพระกาฬ” เลยทีเดียว ปี 2019 จะบอกว่าพวกเขาคือนัมเบอร์วันเลยแหล่ะ และยังคงต่อเนื่องกินไปอีกหลายปี

2. หัวเว่ย (Huawei)
หัวเว่ย ปีนี้ต้องยอมรับครับอย่างตัวสตอเรจในตระกูลโอเชี่ยนสตอร์ โดราโด้ (OceanStor Dorado) ไม่ธรรมดาขายดีกันในทุกเวอร์เวอร์ชัน ล่าสุดก็เพิ่งส่งรุ่น Huawei OceanStor Dorado เวอร์ชัน 6 ลงสนาม ความพิเศษของสตอเรจของหัวเว่ยคือการที่พวกเขามีความสามารถในแง่ของชิป AI ฝังมา รวมทั้งชิปคอนโทรเลอร์แยกส่วนมาอีกมากมาย ทำให้เจ้าสตอเรจออลแฟลชตัวนี้โดดเด่นมาก ปี 2019 เป็นปีที่ยอดเยี่ยมของเขา และปี 2020 เจ้าตัว Dorado เวอร์ชัน 6 จะพาความสำเร็จให้พวกเขาได้อีก

3. เอชพีอี (HPE)
เอชพีอี มีความต่อเนื่องในการพัฒนาระบบสตอเรจ และมีสตอเรจล้ำๆ อย่าง HPE Primera โดยมีตัว AI สนับสนุนโดยเฉพาะ และยังมี HPE InfoSight ที่สามารถช่วยตรวจสอบการใช้งาน Application ต่างๆ ภายในระบบ Storage ได้ อันนี้คือจุดแข็งของพวกเขาที่เผยโฉมในงานดังที่ลาสเวกัสไปเมื่อกลางปี เรียกได้ว่าเราได้เห็นพัฒนาการของสตอเรจของ HPE มาโดยตลอด และปี 2020 น่าจะเก็บเกี่ยวผลลัพธ์ที่ดีได้

– Data Center Infrastructure

1. เดลล์ เทคโนโลยีส์ (Dell Technologies)
ถ้าพูดถึงเรื่องราวของเซิร์ฟเวอร์และดาต้าเซ็นเตอร์ตลอดจนเรื่อง HCI ต้องตะโกนดังๆ เลยว่า ไม่มีใครแน่ยิ่งไปกว่า พี่เดลล์ อีกแล้ว! ต้องยอมรับว่าเดลล์ได้ก้าวข้ามในทุกอณูและตอบโจทย์ความต้องการการใช้งาน DC และ HCI ของลูกค้าได้ด้วยผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นอัจฉริยะทั้งหลาย ถ้าโลกของ HCI และ CI ก็จะมีให้เลือก VxBlock, PowerOne, VxRail, VxFlex รวมไปถึงเซิร์ฟเวอร์ในตระกูล PowerEdge ทั้งหลายอีกมากมาย ต้องยอมรับครับว่า เดลล์ทำสิ่งที่น่าตื่นเต้นให้กับวงการไฮเปอร์คอนเวิร์ชและดาต้าเซ็นเตอร์อย่างน่าทึ่งมาก ปี 2019 คือปีที่ยอดเยี่ยมของพวกเขา และแน่นอนว่าปี 2020 เดลล์จะยังคงมีอะไรสนุกๆ อีกแน่นอน

2. ไอบีเอ็ม (IBM)
ไอบีเอ็ม ยังคงมีมนต์เสน่ห์ในตัวเองอย่างไม่เสื่อมคลาย บิ๊กบลูผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ ในแต่ละปีพวกเขามีโฟกัสและทำทางได้ดีมาโดยตลอด การมีผู้บริหารหญิง (ในไทย) คนใหม่ของพวกเขาทำให้เราเห็นอะไรที่เกิดขึ้นมากมายในแวดวงของดาต้าเซ็นเตอร์ อย่างตัวกรณีของ Power9 System ที่เป็นสุดยอดซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ระดับโลก ซึ่งออกแบบมาเพื่อรองรับโลกของคลาวด์ และการใช้งานอัลกอริทึมแบบ AI และ Deep Learning รวมถึงการที่เขาได้ Red Hat เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตน ทำให้พวกเขาแข็งแกร่งอย่างที่สุดในปี 2019 ที่ผ่านมา และแน่นอนปี 2020 พวกเขาไต่ระดับการประมวลผลไปยังโลกของควอนตัมแล้ว นั่นคือประเด็นที่ทำให้พวกเราต้องร้อง Wow กันเลยทีเดียว

3. ฟูจิตสึ (Fujitsu)
2019 เป็นอีกปีที่เหงามากของฟูจิตสึ บิ๊กจากญี่ปุ่นรายนี้ แทบจะไม่มีอะไรให้เห็นอย่างโดดเด่นเป็นรูปเป็นธรรมเลย กลายเป็นว่าแทนที่จะโดดเด่นด้วยเรื่องของดาต้าเซ็นเตอร์ที่ทำให้คนจดจำได้ แต่ภาพที่ผู้คนในประเทศไทยยังคงจำได้ตลอดก็คือ เครื่องสแกนเนอร์แบบฟรีดกระดาษ ไม่ก็โน้ตบุ๊ก (ที่สาปสูญไปจากความทรงจำ) หรือเลวร้ายหน่อยก็แอร์ บทสรุปปี 2019 นี้ของฟูจิตสึกับตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ในเมืองไทย “ยังไม่ใช่ปีของพวกเขา” ปีหน้าขืนยังทำตัวแบบนี้ ก็เอวังล่ะจ๊ะ!

บทสรุป

มุมมองการวิเคราะห์บริษัทไอทีเอ็นเทอร์ไพรสที่เกิดขึ้น เราคงได้ทราบกันไปแล้ว มีดาวเด่นอยู่หลายดวงในปี 2019 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น Dell Technologies Huawei Nutanix Trend Micro IBM นอกนั้นก็มีพวกกลางๆ ไม่หวือหวา เช่น Cisco VMware HPE และก็น่าเป็นห่วงก็เช่น Fujitsu McAfee Symantec ซึ่งรายหลังเหล่านี้ หากในปี 2020 ไม่ทำอะไรให้ดีขึ้นกว่าเดิม ชื่อของพวกเขาอาจไม่ผุดเลยก็ได้ – สำหรับผู้อ่านท่านใดมีมุมมองที่เห็นต่าง สามารถทิ้งคอมเมนท์กันไว้ได้เลยน่ะ ทีมงาน Enterprise ITPro เปิดรับทุกความเห็นเสมอ

เรียบเรียงโดย : Enterprise ITPro